โลกร้อน ภัยแล้ง น้ำน้อย อย่าว่าแต่นำไปใช้เพื่อการเกษตร น้ำสำหรับดื่มกิน ทำน้ำประปา อาจจะไม่พอ...ทำนาใช้น้ำมาก ดูจะตกเป็นจำเลยของสังคมไปโดยปริยาย

แม้ปัจจุบันจะมีเทคนิคการทำนาประหยัดน้ำ แบบที่เรียกว่า “เปียกสลับแห้ง แกล้งข้าว” เป็นทางเลือกให้เกษตรกรใช้น้ำอย่างประหยัดก็ตาม แต่ก็ลดการใช้น้ำได้ไม่เกิน 30% หรือลดการใช้น้ำทำนาจากไร่ละ 1,200-1,500 ลบ.ม. เหลือ 840-1,050 ลบ.ม.

แต่วันนี้ การทำนาเปียกสลับแห้งต้องบอกว่า ยังใช้น้ำมากเกินไป เพราะมีการทำนาน้ำน้อย น้อยจริงๆ ใช้น้ำแค่เพียงไร่ละ 500 ลบ.ม. พอๆกับพืชใช้น้ำน้อยอย่างข้าวโพดหวาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วลิสง

ที่สำคัญให้ผลผลิต 6,000 กก./ไร่ ในขณะนาเปียกสลับแห้ง ได้อย่างมากแค่ 1,200 กก.

การทำนาแบบนี้มีชื่อเรียก SRI (system of rice intensification) แปลตรงตัวคือ การทำนาแบบประณีต

หลายคนอาจเข้าใจว่านี่เป็นเทคนิคใหม่ จริงๆแล้วเป็นเรื่องเก่า บ้านเราได้ยินกันมาไม่น้อยกว่า 20 ปี แต่คนไทยยุคนั้นไม่สนใจไยดี เพราะน้ำท่ามันยังอุดมสมบูรณ์ ผิดกับวันนี้

ผศ.ดร.จิตติ มงคลชัยอรัญญา คณบดีวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต เล่าถึงที่มาที่ไปของการทำนาใช้น้ำน้อยจริงๆ เป็นเทคนิคมาจากภูมิปัญญาชาวนามาดากัสการ์ ที่คิดค้นขึ้นมาเมื่อ 60 ปีที่แล้ว จากนั้นได้ถูกนำมาเผยแพร่ใน 40 ประเทศทั่วโลก โดยนักวิชาการชาวอเมริกัน

ในเอเชียมีหลายประเทศที่ใช้วิธีการทำนาแบบนี้ ศรีลังกา ลาว กัมพูชา ส่วนบ้านเรารับรู้เรื่องนี้มาเหมือนกัน แต่ไม่ยอมใช้ จนถูกลืมเลือนไป และเมื่อนำมาพูดอีกครั้ง เลยนึกว่าเป็นเรื่องใหม่

หลักสำคัญของการทำนาแบบนี้ไม่มีอะไรมาก เพียงแค่ต้องเริ่มต้นทำความเข้าใจใหม่ว่าข้าวไม่ใช่พืชชอบน้ำท่วมขัง จริงๆแล้วข้าวเป็นพืชตระกูลหญ้าที่สามารถทนน้ำท่วมขังได้มากกว่าหญ้าพันธุ์อื่นๆเท่านั้นเอง

...

ส่วนจะปลูกกันยังไง ให้น้ำกันแบบไหน ถึงใช้น้ำน้อยนิด แต่ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นมหาศาล...ติดตามตอนต่อไป.

สะ–เล–เต