
AEC Go On 06/02/59
หลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้นำพาท่านผู้อ่านแวะเวียนเยี่ยมเยือนประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่ม CLMV ที่มีอาณาเขตและชายแดนติดกับประเทศไทยคือ กัมพูชา สปป.ลาว สหภาพเมียนมา หรือเรียกย่อๆ ว่ากลุ่ม CLM ทั้งภาพรวมของระบบเศรษฐกิจ ขนาดตลาด จำนวนประชากร ทิศทางการเติบโตทางเศรษฐกิจ การค้าระหว่างประเทศทั้งการนำเข้าและการส่งออกระหว่างไทยกับ CLM ตลอดจนสิ่งที่ควรทำหรือไม่ควรทำ (do and don’t) ใน CLM
ก่อนที่จะเคลื่อนคอลัมน์นี้ไปสู่ประเทศสุดท้ายในกลุ่ม CLMV คือ เวียดนามหรือ V ที่มีความโดดเด่นบนเวทีโลกมากขึ้นเป็นลำดับ แม้ว่า เวียดนามจัดเป็นคู่แข่งที่สำคัญของไทยในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเข้าไปลงทุนสร้างฐานการผลิตเพื่อสินค้าป้อนตลาด AEC และตลาดโลก แต่อีกมุมหนึ่งเวียดนามก็เป็นคู่ค้าที่สำคัญที่นำเข้าสินค้าไทยมากขึ้นเรื่อยๆ และเป็นพันธมิตรทางธุรกิจที่ไทยต้องเข้าไปเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดที่เราต้องเรียนรู้ แต่ผมอยากจะสรุปมุมมองของผมที่มีต่อ CLM ก่อนที่จะพูดถึงเวียดนามและประเทศอื่นๆ อีก 5 ประเทศที่เหลือใน AEC
ข่าวแนะนำ
แม้ว่าเราอาจจะพูดถึง CLM ได้เพียงบางเรื่องโดยยังไม่ได้ลงรายละเอียดในแต่ละเรื่องมากนัก และยังมีอีกหลายๆ เรื่องของ CLM ที่ยังไม่ได้พูดถึง (ซึ่งผมสัญญาว่าจะกลับมาลงรายละเอียดของแต่ละประเทศอีกครั้งหนึ่ง เมื่อเราได้เห็นภาพรวมของแต่ละประเทศใน AEC แล้ว) แต่ผมหวังว่าท่านผู้อ่านคงเห็นภาพรวมว่า CLM ที่มีตะเข็บติดชายแดนไทยมีความน่าสนใจและมีความสำคัญมีความหมายต่อธุรกิจไทยและประเทศไทยมากน้อยแค่ไหน เพราะ CLM เป็นกลุ่มประเทศที่เป็นทั้งฐานการตลาดเพื่อการส่งออกที่มีประชากรรวมกันเกือบ 100 ล้านคน
อีกทั้งเป็นฐานของวัตถุดิบด้านทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งสินค้าเกษตร สินค้าประมง ตลอดจนสินแร่และพลังงานโดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติรวมทั้งทรัพยากรแรงงาน และยังเป็นฐานการผลิตที่สำคัญที่ธุรกิจไทยสามารถเข้าไปผลิตเพื่อส่งออกต่อไปยังประเทศต่างๆ โดยได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีศุลกากรหรือ GSP ด้วย.
ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ผอ.ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ