เมื่อวานนี้ผมเขียนถึงงาน “เกษตรแฟร์ 2559” ด้วยความชื่นชมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในฐานะแหล่งผลิตบุคลากรด้านการเกษตรทุกแขนงให้แก่ประเทศชาติมาตลอดระยะเวลา 63 ปีของการสถาปนามหาวิทยาลัยแห่งนี้
พร้อมกับขอบคุณมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่ยังคงเน้นหนักงานวิจัยควบคู่ไปกับการเรียนการสอน จนมีผลงานวิจัยที่น่าสนใจ สามารถนำมาแสดงนิทรรศการหรือจัดประชุมสัมมนาในงานเกษตรแฟร์ได้ทุกๆปี
ข่าวแนะนำ
ความจริงผมเขียนโยงไปถึงงานวิจัยของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ด้วย โดยเฉพาะกรมวิชาการเกษตร กรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมการข้าว ฯลฯ เพราะนักวิจัยส่วนใหญ่ของกรมเหล่านี้ ก็ล้วนเป็นผลผลิตจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์นั่นเอง
เผอิญเนื้อที่เกินคอลัมน์ไปมาก ผมจึงต้องตัดทิ้งออกไป เพื่อให้บทความจบลงในคอลัมน์พอดิบพอดี โดยไม่ต้องไปอ่านต่อหน้าอื่นๆ
ขออนุญาตเขียนเพิ่มเติมอีกเล็กน้อยก็แล้วกันว่าผลงานวิจัยที่นำมาแสดงในงานเกษตรแฟร์ หลายๆชิ้นทั้งในปีนี้และในอดีตที่ผ่านมานั้น เป็นของหลายๆกรมในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีสายสัมพันธ์อันดียิ่งกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์นี่แหละครับ
ที่ผมจะเขียนต่อในวันนี้ก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยอีกเช่นกันครับ เพราะผมเชื่ออย่างชนิดปักใจหรือหากใช้ภาษาบ้านๆก็ต้องใช้คำว่า เชื่ออย่างหัวปักหัวปําทีเดียวว่า การวิจัยเป็นพลังที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาประเทศชาติ
ชาติที่อ่อนแอด้านงานวิจัยไม่มีวันจะก้าวขึ้นมาเป็นชาติชั้นนำกับเขาได้แน่นอน เพราะชาตินั้นจะพ่ายแพ้เขาไปหมดในทุกสนามรบด้านเศรษฐกิจ
ด้วยความเชื่อเช่นนี้ถ้ามีโอกาสผมจะเขียนเผยแพร่ความคิดนี้เสมอๆเพื่อจูงใจให้คนไทยทุกๆกลุ่มนับตั้งแต่รัฐบาล กระทรวง ทบวง กรม ฝ่ายข้าราชการประจำ บริษัท ห้างร้าน ทั้งใหญ่และเล็ก รวมตลอดถึงพวกเราชาวบ้านหันมาให้ความตระหนักและสนับสนุนความคิดนี้
ใครลงมือวิจัยอะไรได้ก็ให้ลงมือไปเลย พวกเราที่ไม่สามารถลงมือได้เพราะไม่มีความรู้ หรือไม่ใช่หน้าที่โดยตรง ก็ขอให้หันมาสนับสนุนคอยให้กำลังใจ คอยปรบมือ คอยเชียร์ ให้นักวิจัยทำงานสำเร็จ
โดยเฉพาะรัฐบาลจะต้องให้การสนับสนุนต้องเพิ่มงบประมาณการวิจัยให้มากขึ้น ต้องสร้างนักวิจัยให้มากขึ้น
ผมเคยอ้างตัวเลขเอาไว้แล้วว่า งบประมาณวิจัยของเรากระจิ๊บกระจ้อยเหลือเกิน เมื่อเทียบสัดส่วนกับจีดีพี แต่วันนี้นั่งเขียนโดยไม่มีคอมฯอยู่ข้างหน้า ขออนุญาตไม่บอกเป็นตัวเลขเพราะจำไม่ได้
เอาเป็นว่ากระจิ๊บกระจ้อยก็แล้วกันครับ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะประเทศที่เขามีความเจริญรุ่งเรืองทั้งหลาย
เราจะต้องเดินหน้าสนับสนุนงานวิจัยในทุกๆสาขา และในทุกๆเรื่องเท่าที่จะวิจัยได้กันต่อไปครับ
วิจัยอย่างเดียวไม่พอ จะต้องเอาผลงานออกมาสู่การผลิต หรือการพัฒนา หรือเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ใช้งานได้ในที่สุด
งานวิจัยกับการผลิตและการประดิษฐ์คิดค้น คือทดลองโน่นนี่ ลงมือสร้างโน่นนี่ให้ออกมาเป็นรูปเป็นร่างเอาไปใช้ได้ จึงเป็นของคู่กันและอยู่ในวิถีทางเดียวกัน
เนื้อที่ผมจะหมดอีกแล้ว ขออนุญาตจบด้วยข่าวประชาสัมพันธ์สักข่าวหนึ่ง เกี่ยวกับเรื่องการวิจัยการพัฒนา และการประดิษฐ์คิดค้นที่ผมปูพื้นมานั่นแหละ
ท่านผู้อ่านครับ ตั้งแต่วันนี้ (2 ก.พ.) ไปจนถึงวันเสาร์ที่ 6 ก.พ. จะมีงาน “วันนักประดิษฐ์ 2559” จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา
จะมีการนำสิ่งประดิษฐ์คิดค้นต่างๆทั้งของภาครัฐ ภาคเอกชน ของมหาวิทยาลัย ของสถาบันการศึกษาต่างๆมาแสดงให้ดูชมเต็มพื้นที่
รวมทั้งการจัดประชุมสัมมนาและเสวนาในเรื่องวิจัยและพัฒนา ตั้งแต่เช้ายันเย็น ตลอดการจัดงานทั้ง 5 วัน
ขอเรียนเชิญท่านที่สนใจ โดยเฉพาะน้องๆนักเรียน นักศึกษา ไปดูไปชม ไปฟังการเสวนาให้มากที่สุดที่จะมากได้ เพื่อร่วมซึมซับ
ความรักในงานวิจัย งานพัฒนา และงานประดิษฐ์คิดค้นกันตั้งแต่เยาว์วัย
เชื่อลุงเถอะหลานๆเอ๊ย...ว่าการวิจัยและประดิษฐ์คิดค้นเป็นพลังขับเคลื่อนประเทศที่สำคัญที่สุด.
“ซูม”