นับเป็นสัญญาณที่ดีในการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบกันอย่างจริงจังด้วยการดำเนินการจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบขึ้นเพื่อพิจารณาคดีด้านนี้โดยตรง
ทั้งนี้รัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. ....และเตรียมเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติในไม่ช้านี้
ข่าวแนะนำ
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติกำหนดให้การจัดตั้งศาลและความเชื่อมโยงกับพระธรรมนูญศาลยุติธรรมโดยยกฐานะแผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐในศาลอาญาเพื่อจัดตั้งขึ้นเป็นศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางและจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาคขึ้นโดยกำหนดให้เป็นศาลชั้นต้นตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม
มีการกำหนดให้ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบมีอำนาจออกไปนั่งพิจารณาที่ศาลชั้นต้นอื่นที่อยู่ในเขตท้องที่ของศาลนั้นได้โดยจะใช้เจ้าหน้าที่ธุรการของศาลนั้นเองหรือของศาลชั้นต้นที่ไปนั่งพิจารณาทำหน้าที่ช่วยเหลือในการพิจารณาพิพากษาคดีก็ได้
สภานิติบัญญัติควรจะเร่งรัดพิจารณาเรื่องนี้เป็นวาระเร่งด่วนเพื่อประโยชน์ของชาติ
นอกจาก ศาลอาญาคดีทุจริตฯ ที่กำลังดำเนินการจัดตั้งแล้วตอนนี้มีพระราชบัญญัติเกี่ยวกับศาลที่ผ่านสภาออกมาใช้บังคับแล้วคือ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ พ.ศ.2558 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2558 อันเป็นวันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
“คดีชำนัญพิเศษ” มี 5 ประเภท คือ 1.คดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ 2.คดีภาษีอากร 3. คดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน 4.คดีล้มละลาย 5.คดีเยาวชนและครอบครัว ซึ่งมี ศาลชำนัญพิเศษ ด้านนั้นๆอยู่แล้วตามกฎหมาย
ให้จัดตั้งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษขึ้นเป็นศาลชั้นอุทธรณ์ตามพระธรรมนูญ ศาลยุติธรรม มีอำนาจพิจารณาพิพากษาบรรดาคดีที่อุทธรณ์ คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชำนัญพิเศษ โดยจัดตั้งแผนกดังต่อไปนี้ขึ้นในศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ
1.แผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ
2.แผนกคดีภาษีอากร มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลภาษีอากร
3.แผนกคดีแรงงาน มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลแรงงาน
4.แผนกคดีล้มละลาย มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลล้มละลาย
5.แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลเยาวชนและครอบครัว
มีประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ 1 คน และรองประธานศาลอุทธรณ์ 5 คน ดูแลรับผิดชอบคดีชำนัญพิเศษแต่ละด้าน
จุดดีจุดเด่นของเรื่องนี้คือทำให้การพิจารณาคดีชำนัญพิเศษในชั้นอุทธรณ์เกิดความเป็นเอกภาพและส่งเสริมให้กระบวนการยุติธรรมมีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น.
“ซี.12”