
เอชพีวี ไวรัสวายร้าย อันตรายใกล้ตัว
ภาพจำลองไวรัสเอชพีวี.
สัปดาห์นี้คอลัมน์ไทยรัฐซันเดย์สเปเชียลโดยทีมงานนิตยสารต่วย’ตูนมีเรื่องโรคภัยมาเตือนเพื่อนนักอ่านกันครับ ทุกวันนี้โรคภัยไข้เจ็บดูเหมือนจะมากมายขึ้นทุกที แม้ว่าความรู้ทางการแพทย์และเทคโนโลยีในการรักษาจะพัฒนาไปแค่ไหนก็ตาม แต่การที่เรามีความรู้ความเข้าใจถึงสาเหตุและที่มาของการเกิดโรค เพื่อป้องกันไว้ก่อนจะสาย ย่อมดีกว่ารอให้ป่วยไข้แล้วไปรักษา ซึ่งก็แน่นอนว่าต้องทุกข์กายทุกข์ใจ เสียทั้งค่าใช้จ่ายและเสียเวลาอีกด้วยครับ
เชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV-Human Papilloma Virus) ที่จะพูดถึงในคราวนี้ สุภาพสตรีหลายท่านคงคุ้นชื่อกันดีว่าเป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก แต่ความจริงแล้วเจ้าไวรัสวายร้ายเอชพีวีนี้ยังเป็นสาเหตุของโรคร้ายอีกมากมายเลยครับ ทั้ง มะเร็งองคชาต มะเร็งทวารหนัก และหูดหงอนไก่ แถมยังติดได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชายอีกด้วย ผมมีข้อมูลจาก สมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ สมาคมมะเร็งนรีเวชไทย ซึ่งได้จัดงานแถลงข่าว “เอชพีวี...ไวรัสร้าย อันตรายมากกว่าที่คิด” ไปเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับเชื้อไวรัสเอชพีวี และแนวทางป้องกันให้กับประชาชน
ข่าวแนะนำ

โดย นพ.วิสิทธิ์ สุภัครพงษ์กุล นายกสมาคมมะเร็งนรีเวชไทย ได้ให้ความรู้ว่า “เชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV) หรือ Human Papilloma Virus เป็นไวรัสที่ติดต่อกันได้ง่าย ส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อที่อวัยวะสืบพันธุ์จากการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งจากสถิติในประเทศแคนาดา พบทุก 1 ใน 4 ของประชากรเพศหญิงและชายที่อายุต่ำกว่า 25 ปี มีการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี ทำให้เกิดโรคทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย ซึ่งเชื้อไวรัสเอชพีวีนี้มีมากกว่า 100 สายพันธุ์ แต่มีอยู่ 15 สายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูงให้เกิดมะเร็งต่างๆของอวัยวะสืบพันธุ์ทั้งเพศหญิงและเพศชาย โดยเฉพาะสายพันธุ์ที่ 16 และ 18 ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของโรคมะเร็งปากมดลูกกว่าร้อยละ 70 และอีก 25 สายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงให้เกิดโรคอื่นๆ ได้แก่ สายพันธุ์ที่ 6 และ 11 ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคหูดหงอนไก่ถึงร้อยละ 90

โดยปกติการติดเชื้อเอชพีวีมักไม่แสดงอาการใดๆ และโอกาสที่ร่างกายจะขจัดเชื้อออกไปเองได้ก็มีสูง แต่หากได้รับเชื้ออย่างต่อเนื่องหรือมีการติดเชื้อเป็นระยะเวลานานๆ จะก่อให้เกิดการติดเชื้อเอชพีวีอย่างคงทน และกลายเป็นโรคมะเร็งปากมดลูก โรคมะเร็งองคชาต มะเร็งทวารหนัก มะเร็งช่องปากและคอ และโรคหูดหงอนไก่ได้ โดยจากสถิติของประเทศสหรัฐอเมริกาทุก 1 นาที จะพบผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูก 1 ราย ในขณะที่ในประเทศไทย โรคมะเร็งปากมดลูกพบบ่อยเป็นอันดับ 2 และมีหญิงไทยเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกเฉลี่ยถึงวันละ 14 คน”
โรคหูดหงอนไก่ก็เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่น่ากลัวอีกโรคหนึ่งซึ่งคนทั่วไปไม่ค่อยรู้กันว่ามีสาเหตุมาจากไวรัสเอชพีวีเจ้าเก่า เรื่องนี้ผมมีข้อมูลจาก รศ.นพ.วิชัย เติมรุ่งเรืองเลิศ หัวหน้าสาขาวิชามะเร็งนรีเวชวิทยา ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ท่านได้อธิบายไว้ว่า

“นอกจากเชื้อไวรัสเอชพีวีจะเป็นสาเหตุหลักของโรคมะเร็งปากมดลูกแล้ว ยังเป็นสาเหตุหลักของโรคหูดหงอนไก่ด้วย ซึ่งเกิดได้ทั้งในเพศชายและเพศหญิง ปัจจุบันพบผู้ป่วยโรคหูดหงอนไก่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยผู้ป่วยอาจไม่มีอาการผิดปกติใดๆเลยนานนับปี จนเมื่อมีก้อนโตมากไปอุดกั้นช่องคลอด ทวารหนัก หรือท่อปัสสาวะ จนเกิดอาการคันและปวด บางรายอาจมีเลือดออก ตกขาวผิดปกติ และแสบร้อนที่อวัยวะเพศ แม้ว่าโรคหูดหงอนไก่จะไม่ได้รุนแรงถึงขั้นทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต แต่อาจจะส่งผลต่อการดำเนินชีวิตและชีวิตคู่ได้ เพราะพบว่าร้อยละ 30-70 เกิดซ้ำหลังหยุดการรักษาไป 6 เดือน และหากเกิดหูดหงอนไก่ขณะตั้งครรภ์ อาจขัดขวางการคลอดหรือทำให้ทารกเป็นหูดหงอนไก่ที่คอหอย หลอดลม หรือเส้นเสียง และมีผลต่อการหายใจของทารกจนอาจเสียชีวิตได้ ดังนั้น การป้องกันก่อนการเกิดโรคน่าจะดีกว่า”

การป้องกันการติดเชื้อเอชพีวีนั้นทำได้หลายทางครับ วิธีที่ดีที่สุดก็คือ ไม่มีเพศสัมพันธ์กับใครเลยตลอดชีวิต แต่วิธีนี้คงจะทำได้ยากถึงยากมากๆ และแม้จะไม่ได้มีเพศสัมพันธ์โดยตรงแต่การสัมผัสอย่างรุนแรงที่อวัยวะเพศภายนอกด้วยวัตถุหรืออวัยวะที่มีเชื้อไวรัสเอชพีวีก็ทำให้เกิดโรคนี้ได้เช่นกัน สำหรับการใช้ถุงยางอนามัยนั้น “ไม่” สามารถป้องกันการติดเชื้อเอชพีวีได้มากเท่าไรนัก เพราะเชื้อชนิดนี้มีการกระจายอยู่ทั่วไปตั้งแต่รอบทวารหนัก ฝีเย็บ หัวหน่าว ฯลฯ ซึ่งเป็นบริเวณที่ถุงยางครอบคลุมไม่ถึง วิธีป้องกันการติดไวรัสเอชพีวีที่ดีอีกวิธีหนึ่งก็คือ การรับวัคซีนป้องกัน ซึ่งปัจจุบันมีวัคซีนอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด ซึ่งท่าน ศ.เกียรติคุณ นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา นายกสมาคมกุมารแพทย์ และประธานราชวิทยาลัยกุมารแห่งประเทศไทย ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับวัคซีนป้องกันไวรัสเอชพีวีไว้ดังนี้

“จริงๆแล้ววัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสเอชพีวีก็เหมือนวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้ออื่นๆ ฉีดได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ แต่คนไทยยังเข้าใจผิดว่าการเป็นเด็กไม่จำเป็นต้องฉีด เพราะไม่ได้มีเพศสัมพันธ์หรือแม้แต่ในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ก็เขินอายที่จะไปฉีด แต่ในความเป็นจริงแล้ว การฉีดวัคซีนในเด็กจะสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีกว่าการฉีดในผู้ใหญ่ถึง 2 เท่า และยังเป็นการเตรียมความพร้อมให้มีภูมิคุ้มกันเมื่อเติบโตสู่วัยเจริญพันธุ์ โดยในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย สวิตเซอร์แลนด์ ฯลฯ ได้อนุญาตให้วัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสเอชพีวีเป็นวัคซีนพื้นฐาน และสามารถฉีดในเด็กตั้งแต่อายุ 9 ปีขึ้นไป ส่งผลให้อุบัติการณ์ของโรคมะเร็งปากมดลูกปัจจุบันในประเทศเหล่านั้นลดลง อย่างเช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา อุบัติการณ์เชื้อเอชพีวีสายพันธุ์รุนแรงที่ก่อโรคมะเร็งลดลงถึงร้อยละ 56 และในออสเตรเลียยังพบว่า หลังจากมีการให้วัคซีนเอชพีวี ตั้งแต่ปี ค.ศ.2007 การตรวจพบรอยโรคก่อนการเกิดมะเร็งปากมดลูกนั้นลดลง เป็นต้น
สำหรับวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสเอชพีวีมี 2 ชนิด ได้แก่ วัคซีนเอชพีวี ชนิด 2 สายพันธุ์จะครอบคลุมสายพันธุ์ที่ 16 และ 18 ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งช่องคลอดในเพศหญิง และวัคซีนเอชพีวี ชนิด 4 สายพันธุ์ จะครอบคลุมสายพันธุ์ที่ 6, 11, 16 และ 18 ซึ่งมีข้อบ่งชี้ที่ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด มะเร็งทวารหนัก และหูดหงอนไก่ ทั้งในเพศหญิงและเพศชาย โดยวัคซีนเอชพีวีทั้งสองชนิดฉีดทั้งหมด 3 เข็ม ซึ่งเข็มที่ 2 จะให้ห่างจากเข็มแรก 1-2 เดือน และเข็มที่ 3 ห่างจากเข็มแรก 6 เดือน โดยแนะนำให้ฉีดในช่วงอายุ 9-26 ปี ในผู้หญิงและผู้ชาย

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีการอนุมัติให้ฉีดวัคซีนเอชพีวีเพียง 2 เข็มก็เพียงพอ ในเด็กอายุ 9-13 ปี ซึ่งนับเป็นโอกาสดีที่จะทำให้เด็กเข้าถึงวัคซีนมากขึ้น สำหรับผู้ที่มีอายุเกิน 26 ปี ก็ยังสามารถฉีดวัคซีนเอชพีวีได้ แต่ต้องพิจารณาถึงเงื่อนไขอื่นๆด้วย เช่น ยังไม่เคยได้รับเชื้อไวรัสเอชพีวีมาก่อน อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เคยได้รับเชื้อไวรัสเอชพีวีมาก่อน คนในกลุ่มนี้ยังสามารถรับประโยชน์จากวัคซีนได้ แต่วัคซีนอาจมีประสิทธิภาพลดลงหากเคยติดเชื้อเอชพีวีมาก่อนหน้านี้ สำหรับผู้ชาย การฉีดวัคซีนเอชพีวี นอกจากการป้องกันการติดเชื้อเอชพีวีโดยตรง ป้องกันโรคหูดในอวัยวะเพศ และมะเร็งทวารหนักแล้ว ยังช่วยป้องกันทางอ้อมในการลดการแพร่เชื้อไปสู่ผู้หญิงด้วย”

ล่าสุดมีงานวิจัยเกี่ยวกับวัคซีนเอชพีวี โดยความร่วมมือจากกว่า 11 ประเทศ โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งในสถานที่การศึกษา รศ.พญ.ฤดีวิไล สามโกเศศ ประธานอนุกรรมการราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยและสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และกุมารแพทย์หน่วยโรคติดเชื้อเด็ก ภาควิชากุมารเวช-ศาสตร์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎ หนึ่งในคณะวิจัยได้เปิดเผยว่า “จากการศึกษาติดตามผลการใช้วัคซีนเอชพีวีชนิด 4 สายพันธุ์ในระยะยาว พบว่าวัคซีนสามารถกระตุ้นแอนติบอดี้ได้อย่างสม่ำเสมอ ทั้งในเพศชายและเพศหญิง และยังคงตรวจพบภูมิคุ้มกันในเลือดได้แม้ว่าเวลาจะผ่านไปแล้วถึง 8 ปีตลอดระยะเวลา 8 ปี ที่ติดตามผลยังพบว่าวัคซีนมีความปลอดภัยในเด็ก และการศึกษานี้พบว่า เด็กที่ได้รับวัคซีนตั้งแต่อายุเฉลี่ย 12.5 ปี จะได้รับการป้องกันการติดเชื้อได้ดีมาก แต่หากฉีดวัคซีนช้าไปเพียง 2.5 ปี ความเสี่ยงติดเชื้อไวรัสเอชพีวีแบบคงทนจะเพิ่มขึ้นถึง 6 เท่า”

เอชพีวี เป็นเชื้อไวรัสที่แพร่ติดต่อกันได้ง่าย จึงนับว่าพวกเราในยุคนี้โชคดีที่วิทยาการทางการแพทย์ก้าวหน้ามาก รวมทั้งสถาบันและหน่วยงานทางการแพทย์หลายๆแห่งก็มีบทบาทช่วยป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสเอชพีวี ทั้งการเผยแพร่ความรู้ ให้ความเข้าใจที่ถูกต้องกับประชาชน เพื่อช่วยลดอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งร้ายแรง พวกเราเองก็ควรหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพให้แข็งแรง รู้จักระวังป้องกันตนจากการติดเชื้อไวรัสเอชพีวีรวมถึงเชื้อโรคประเภทอื่นๆด้วย ต้องพยายามไม่เอาตัวเองเข้าไปเสี่ยงกับการติดโรค เพื่อสุขพลานามัยที่ดีของพวกเราทุกคนครับ.
โดย : ประลองพล เพี้ยงบางยาง
ทีมงาน นิตยสาร ต่วย'ตูน