
เทียบบึมป่วนกรุง 8 จุด - ระเบิดราชประสงค์ เหมือนหรือต่าง?
กรุงเทพมหานคร เคยเผชิญกับเหตุระเบิดสร้างความปั่นป่วนมาแล้ว เมื่อปี พ.ศ.2550 โดยในครั้งนั้น เกิดเหตุระเบิดปั่นป่วนทั้งใน กทม. และปริมณฑล ทั้งๆ ที่ในวันนั้นคนไทยกำลังจะมีความสุขเพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่ ช่วงรอยต่อปี พ.ศ.2549 กับ ปี พ.ศ.2550 แท้ๆ โดยในครั้งนั้น มีผู้เสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บ 28 คน แต่ในท่ามกลางความมึนงง หลังเหตุการณ์เกิดขึ้นในเวลานั้น พร้อมๆ กับเสียงระเบิด เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาว่า เกิดจากความขัดแย้งทางการเมือง หรือเกิดจากฝีมือกลุ่มก่อความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้
แต่ในกาลต่อมา พ.ศ.2558 กรุงเทพฯ ต้องเผชิญหน้ากับเหตุลอบวางระเบิดร้ายแรงอีกครั้ง และในครั้งนี้ หลังควันจาง ก็เกิดคำถามตามมาอีกครั้งว่า ตกลงเกิดจาก 1. ความขัดแย้งทางการเมือง 2. กลุ่มก่อความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ หรือ 3. กลุ่มก่อการร้ายสากล สองเหตุการณ์นี้มีอะไรเป็นสิ่งบ่งชี้สำคัญ ว่าใครคือผู้อยู่เบื้องหลัง ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะพาทุกท่านย้อนเวลากลับไปอีกครั้ง...
ข่าวแนะนำ
เริ่มแรก เราคงต้องย้อนเวลาไปในปี พ.ศ.2550 ว่า ในเวลานั้นเกิดอะไรขึ้นในประเทศไทย โดยเหตุการณ์เริ่มต้นขึ้นเมื่อ...
ลำดับการก่อเหตุระเบิดป่วน 8 จุด กรุงเทพมหานคร และ จ.นนทบุรี และหลักฐานที่พบในที่เกิดเหตุ
วันที่ 31 ธ.ค. พ.ศ. 2549 เวลา 17.50 น. เกิดระเบิดจุดที่ 1 ที่บริเวณอาคารตู้ควบคุมสัญญาณจราจร สี่แยกสะพานควาย ถนนพหลโยธิน เขตพญาไท พื้นที่ สน.บางซื่อ มีผู้บาดเจ็บเล็กน้อย 1 คน วัตถุพยานที่พบ กระสอบปุ๋ยฉีกขาด 1 ใบ ชิ้นส่วนโลหะ เศษตะปู ลูกเหล็กทรงกลมขนาดเล็ก ซากถ่าน 9 โวลต์ฉีกขาด ชิ้นส่วนนาฬิกา ต่อวงจรด้วยนาฬิกาปลุก


จุดที่ 2 เวลา 18.10 น. เกิดระเบิด ที่ถังขยะพลาสติก บริเวณป้ายรถประจำทางอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ฝั่งภัตตาคารพงหลี เขตราชเทวี พื้นที่ สน.พญาไท มีผู้เสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บ 15 คน วัตถุพยานที่พบเป็นชิ้นส่วนนาฬิกาข้อมือส่วนโลหะ ถ่านกระดุมนาฬิกา ชิ้นส่วนไฟฉาย 9 โวลต์


จุดที่ 3 เวลา 18.15 น. เกิดระเบิดหน้าร้านขายซีดีและขายของชำ ตรงข้ามศาลเจ้าพ่อเสือ พื้นที่ สน.ท่าเรือ แรงระเบิดทำให้ถังขยะพลาสติกเสียหาย มีผู้บาดเจ็บ 7 คน เสียชีวิต 1 ราย วัตถุพยานที่พบ ชิ้นส่วนนาฬิกา ขั้วแบตเตอรี่ลูกเหล็กทรงกลมขนาดเล็ก ตะปูขนาดเล็ก ภาชนะโลหะที่ถูกนำมาหย่อนไว้ในถังพลาสติก


จุดที่ 4 เวลา 18.15 น. เกิดระเบิดบริเวณลานจอดรถห้างซีคอนสแควร์ ถนนศรีนครินทร์ แขวงหนองบอน เขตประเวศ พื้นที่ สน.ประเวศ วัตถุพยานที่พบ ลูกเหล็กทรงกลมมีขนาดใหญ่กว่าในที่พบในพื้นที่ สน.บางซื่อ ถ่าน 9 โวลต์ ซากกระป๋องมันฝรั่งทอดกรอบยี่ห้อหนึ่ง
จุดที่ 5 เวลา 18.15 น. วันที่ 31 ธ.ค. เกิดระเบิดบริเวณผนังคอนกรีต ด้านหลังป้อมควบคุมสัญญาณไฟจราจรสี่แยกแคราย ถนนติวานนท์ ต.บางกระสอ อ.เมือง จ.นนทบุรี วัตถุพยานที่พบเศษโลหะ และเศษตะปู


จุดที่ 6 เวลา 18.20 น. เกิดระเบิดที่แปลงต้นไม้ ใกล้กับตู้ควบคุมสัญญาณไฟจราจร ตรงข้ามซอยสุขุมวิท 62 ถนนสุขุมวิท 62 ถนนสุขุมวิท แขวงบางจาก เขตพระโขนง พื้นที่ สน.พระโขนง วัตถุพยานที่พบ ซากสายไฟ ซากกล่องเหล็ก


วันที่ 1 ม.ค. พ.ศ. 2550 จุดที่ 7 เวลา 00.05 น. เกิดระเบิดที่ เข่งขยะกำแพงท่าเรือ บริเวณท่าเทียบเรือฝั่งมุ่งหน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง ขนาดกว้างประมาณ 3.6 เมตร พื้นไม้หลังคาสังกะสี ถนนราชดำริ เขตปทุมวัน พื้นที่ สน.พญาไท มีผู้บาดเจ็บ 2 ราย วัตถุพยานที่พบ เศษชิ้นส่วนตะปู 0.5 นิ้ว เศษโลหะแบตเตอรี่ 9 โวลต์ ชิ้นส่วนเชื้อปะทุไฟฟ้า
จุดที่ 8 เวลา 00.05 น. เกิดระเบิดที่ตู้โทรศัพท์ระหว่างประเทศ บนทางเท้าอาคารเกษรพลาซ่า ถนนราชดำริ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน พื้นที่ สน.ลุมพินี แรงระเบิดทำให้ฝ้าเพดานของตู้โทรศัพท์พังเสียหาย มีผู้บาดเจ็บจำนวนหนึ่ง วัตถุพยานที่พบ เศษชิ้นส่วนโลหะ ตะปู 0.5 นิ้ว ชิ้นส่วนรองเท้าและถุงเท้า ชิ้นส่วนนาฬิกาคาสิโอ

โดยทั้ง 8 จุด เจ้าหน้าที่พบสิ่งที่เหมือนกันก็คือ เป็นระเบิดแรงดันสูง มีสารประกอบแอมโมเนียมไนเตรท หรือ (M4) ซึ่งถูกบรรจุอยู่ในกล่องเหล็กขนาด กว้าง-ยาว 3X5 นิ้ว หนา 1 นิ้ว พร้อมสะเก็ดระเบิดที่ทำด้วยตลับปืน ที่ใช้ในรถยนต์และเศษตะปูโดยใช้นาฬิกาดิจิตอลเป็นตัวจุดระเบิดไม่ใช่โทรศัพท์มือถือซึ่งกลุ่มก่อความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ใช้
วิเคราะห์ปัจจัยที่นำไปสู่การเกิดเหตุ
โดยในครั้งนั้น หลังควันเริ่มจางใหม่ๆ มีการตั้งข้อสังเกตในสองประเด็นหลัก คือ 1. น่าจะมีสาเหตุมาจากความขัดแย้งทางการเมือง และ 2. น่าจะเป็นฝีมือของกลุ่มก่อความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ แต่ในเวลาต่อมา เจ้าหน้าที่หน่วยงานข่าวกรองด้านความมั่นคงในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ระบุว่า จากการตรวจสอบสายข่าวที่เกาะติดเป้าหมายแนวร่วมขบวนการก่อความไม่สงบจังหวัดชายแดนใต้ในพื้นที่ต่างๆ ยังไม่พบการเคลื่อนไหวที่จะเป็นสัญญาณบอกเหตุว่า มีกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบเคลื่อนไหวออกนอกพื้นที่ เพื่อเตรียมก่อวินาศกรรมโดยเฉพาะในพื้นที่ กทม. ซึ่งขบวนการก่อความไม่สงบไม่มีเครือข่ายที่ไว้ใจได้มากพอ ในการจัดหาวัสดุอุปกรณ์ในการประกอบระเบิด การนำระเบิดไปวางในพื้นที่เป้าหมาย รวมถึงช่วยเหลือหลบหนี ซ่อนตัว และเดินทางออกนอกพื้นที่หลังก่อเหตุ ดังเช่นที่สามารถหลบหนีและซ่อนตัวอยู่ได้ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ดังนั้นกลุ่มก่อความไม่สงบชายแดนภาคใต้ จึงถือว่าไม่น่าจะมีศักยภาพเพียงพอในการก่อเหตุวินาศกรรมในพื้นที่เมืองหลวง
ซึ่งสอดคล้องกับการวิเคราะห์ของที่ประชุมชุดสืบสวนสอบสวน คลี่คลายคดีของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในเวลานั้น ซึ่งได้สันนิษฐานเบื้องต้นว่า น่าจะมีสาเหตุมาจากความขัดแย้งทางการเมืองหลังการรัฐประหาร ซึ่งเจ้าหน้าที่เชื่อว่า หากเป็นฝีมือของกลุ่มก่อความไม่สงบในภาคใต้ น่าจะทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่านี้ แต่การวางระเบิดครั้งนี้ เป็นแรงระเบิดแรงดันต่ำที่หวังสร้างกระแสความวุ่นวายให้เกิดขึ้นเท่านั้น
ตัดกลับมา ในปี พ.ศ.2558 เวลาประมาณ 18.55 น. เกิดเหตุระเบิดที่บริเวณแยกราชประสงค์ ถนนเพลินจิตฝั่งขาเข้า แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน แรงระเบิดทำให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก ….

วิเคราะห์ปัจจัยที่นำไปสู่การเกิดเหตุ
หลังเกิดเหตุการณ์ หน่วยงานด้านความมั่นคงของไทย ประสานเสียงเป็นเสียงเดียวกัน โดยให้น้ำหนักไปที่ สาเหตุน่าจะเกิดมาจากความขัดแย้งภายในมากที่สุด แต่ก็จะไม่ตัดประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่นกรณีที่มีสื่อต่างชาติ พยายามเชื่อมโยงว่า เหตุการณ์ในครั้งนี้ น่าจะเกิดจากฝีมือกลุ่มก่อการร้าย ที่เป็นผลมาจากกรณีพิพาทชาวอุยกูร์ แต่คราวนี้ ทั้ง พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. และ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ผบ.ทร. และ รมช.กลาโหม กล่าวยืนยัน ในเบื้องต้นว่า ไม่น่าจะมีความเกี่ยวข้องกับ กลุ่มก่อความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้
ด้าน พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีต รอง ผอ.ศูนย์ประสานงานข่าวกรองแห่งชาติ ให้ความเห็นกับ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ว่า วิเคราะห์จากเหตุปัจจัยต่างๆ แล้ว ส่วนตัวประเมินว่า น่าจะมีสาเหตุมาจากประเด็นความขัดแย้งภายในมากที่สุด เนื่องจากดูรูปแบบในการก่อเหตุแล้ว ไม่น่าจะเป็นฝีมือของกลุ่มก่อการร้ายสากล หรือ กลุ่มก่อการร้ายธรรมดา เพราะเหตุระเบิดครั้งนี้ มีรูปแบบและลักษณะคล้ายคลึงกับการลอบวางระเบิดป่วนกรุงเทพฯ หลายจุด เมื่อช่วงเทศกาลฉลองปีใหม่ พ.ศ.2549-2550 เพราะมีเป็นประสงค์ชัดเจนว่าต้องการให้มีผู้บาดเจ็บล้มตายในวงจำกัด รวมถึงเมื่อวิเคราะห์จากการเลือกเป้าหมายในการก่อเหตุแล้ว จะพบว่า คนร้ายต้องการมุ่งทำลายจุดที่แสดงสัญลักษณ์ที่บอกถึงความเป็นชาติมากกว่า
เพราะหากเป็นฝีมือของกลุ่มก่อการร้าย เป้าหมายในการวางระเบิด จะไม่ใช้บริเวณแยกราชประสงค์แน่นอน รวมถึงที่สำคัญความรุนแรงของระเบิดที่ใช้ จะต้องมีอานุภาพทำลายล้างสูง ซึ่งอาจจะทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นร้อยๆ คน และจุดที่แตกต่างจากการก่อการร้ายสากล อีกข้อ ก็คือ แผงวงจรระเบิดจะต้องถูกต่อด้วยวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะให้อานุภาพในการทำลายล้างสูงกว่านี้
ส่วนการติดตามหาตัวคนร้ายนั้น เบื้องต้นส่วนตัวคิดว่า หลักฐานต่างๆ ที่ปรากฏอยู่บนเสื้อผ้าของผู้เสียชีวิต จำนวนมาก น่าจะทำให้สามารถวิเคราะห์ได้ว่า ระเบิดเกิดขึ้นที่จุดใด เป็นระเบิดชนิดอะไร และที่สำคัญกล้องวงจรปิดที่มีอยู่ในที่เกิดเหตุนับพันตัว ที่อยู่ในบริเวณนั้น น่าจะช่วยอะไรได้มาก
ขณะเดียวกัน เมื่อวิเคราะห์ถึงเหตุระเบิดครั้งล่าสุดนี้ คิดว่าน่าจะมีเกิดขึ้นอีกในอนาคตได้หรือไม่นั้น พล.ท.นันทเดช กล่าวยอมรับ เกิดระเบิดแบบครั้งนี้ได้ วันหน้าก็เกิดขึ้นได้อีก แต่น่าจะพอมีอานุภาพไม่แตกต่างจากครั้งนี้มากนัก...

ขณะที่ นาวาอากาศตรีประสงค์ สุ่นศิริ ผู้คร่ำหวอดงานด้านการข่าวของเมืองไทย กล่าวกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ว่า ส่วนตัวยังเชื่อว่ามีสาเหตุมาจากปัจจัยภายในมากที่สุด โดยมีเป้าสำคัญคือบั่นทอนความน่าเชื่อถือของประชาชน ที่มีต่อผู้มีอำนาจในขณะนี้ ในเรื่องการดูแลความสงบเรียบร้อยในชาติ ส่วนจะเป็นฝีมือกลุ่มใดนั้น เห็นว่าควรพิจารณาใน 4 ประเด็นหลักนี้ คือ 1. ใครได้ประโยชน์ 2. ใครเสียประโยชน์ 3. เป็นวัตถุระเบิดประเภทใด 4. และทำไมต้องเกิดในช่วงนี้ (ติดตามบทวิเคราะห์ฉบับเต็ม ของ ซีไอเอเมืองไทย จากทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ได้ในวันพรุ่งนี้)
ส่วนเรื่องที่มีผู้พยายามโยงไปถึงเรื่องปัญหาชาวอุยกูร์ หรือ อาจจะเป็นฝีมือการก่อการร้ายสากล หรือไม่นั้น ส่วนตัวไม่เชื่อว่าจะเป็นไปได้ เพราะหากเป็นการก่อการร้ายสากล จะไม่ใช้วิธีการ หรือประเภทของระเบิดเช่นนี้ และที่สำคัญที่สุด กลุ่มก่อการร้ายเหล่านี้ที่มักจะมากบดานในประเทศไทย จะก่อเหตุให้ถูกเจ้าหน้าที่ไทย ออกไล่ล่าเพราะเหตุใด?
หลักฐานที่พบในเกิดเหตุ
พ.ต.อ.กำธร อุ่ยเจริญ ผู้กำกับการกลุ่มงานเก็บกู้และตรวจพิสูจน์วัตถุระเบิด กองบัญชาการตำรวจนครบาล เปิดเผยว่า ลักษณะของระเบิดเป็นแบบจุดชนวนด้วยการตั้งเวลา โดยเป็นไปได้ทั้งการใช้นาฬิกาหรือโทรศัพท์ แต่เบื้องต้นยังไม่สามารถยืนยันได้ เนื่องจากยังไม่พบหลักฐานที่บ่งชี้ในเรื่องนี้ เพราะการระเบิดเป็นไปอย่างสมบูรณ์ จึงไม่ทิ้งหลักฐานไว้มากนัก นอกจากนี้ พบลูกปลายลักษณะกลมคล้ายลูกปืนรถจักรยานมีความกว้าง 0.6 มม. เป็นส่วนประกอบระเบิด ด้านตัวระเบิดนั้น เบื้องต้น มีน้ำหนักประมาณ 3-5 ปอนด์ พร้อมกับตั้งข้อสังเกตเรื่องการต่อวงจรระเบิดว่า น่าจะฝีมือของพวกมืออาชีพ

เทียบมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจ
เหตุการณ์ระเบิดป่วนกรุง 8 จุด
โดยในครั้งนั้น นายธนวรรธน์ พลวิชัย ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย รายงานว่า เหตุดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 0.2-0.5 หรือ คิดเป็นมูลค่า 40,000-50,000 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้ เป็นผลมาจากรายได้จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลง 20,000 ล้านบาท โดยคาดการณ์ในเวลานั้นว่า จะมีตัวเลขนักท่องเที่ยวลดลงเหลือเพียง 3,450,000 คน จากที่คาดไว้ 4,086,465 คน ขณะที่ การบริโภคและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของภาคเอกชนจะลดลงประมาณ 20,000-30,000 ล้านบาท การใช้จ่ายจากการบริโภคของเอกชนจะมีการขยายตัวลดลงเหลือร้อยละ 3.2 จากที่คาดไว้ ร้อยละ 3.6 การลงทุนโดยภาคเอกชนจะปรับลดลงเหลือร้อยละ 2.5 จากที่คาดการณ์ไว้ ร้อยละ 2.7 นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส ที่ 1/2550 ในขณะนั้น ที่ลดเหลือ 3.5% จากที่คาดการณ์ไว้ 4.0%
เหตุการณ์ระเบิดราชประสงค์ครั้งล่าสุด
นายธนวรรธน์ กล่าวกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นล่าสุดนี้ น่าจะนำไปเทียบเคียงกับเหตุการณ์หลายๆ เหตุก่อนหน้านี้ได้ลำบาก ยกตัวอย่างเช่นกรณีเกิดม็อบในกรุงเทพฯ เพราะเหตุการณ์เหล่านี้ มักจะสามารถคลี่คลายและเกิดความชัดเจนภายในระยะเวลาไม่นานนัก แต่สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นล่าสุดนี้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่า อย่างไรเสียคงจะเกิดผลกระทบต่อประเทศไทยพอสมควร เพราะสื่อต่างประเทศกระจายข่าวออกไปในวงกว้างพอสมควร อีกทั้งคงต้องดูว่า ทางหน่วยงานฝ่ายความมั่นคงจะสามารถหาบทสรุปในเรื่องนี้ได้เร็วหรือช้ามากน้อยแค่ไหน แต่โดยส่วนตัว ยังมองว่า เรื่องนี้น่าจะส่งผลกระทบต่อประเทศในระยะเวลาเพียงสั้นๆ เท่านั้น
อย่างไรก็ดี การจะประเมินเรื่องนี้ได้ คงต้องรอระยะเวลาอีกสัก 1 เดือน จึงจะสามารถเห็นภาพได้ชัดเจน เพื่อดูยอดจองทัวร์ต่างๆ ว่า ลดลงหรือไม่อย่างไร แต่หากคิดคร่าวๆ ในเรื่องตัวเลขความเสียหายทางเศรษฐกิจในชั้นแรกนี้ เอาง่ายว่า พื้นที่การค้าขายย่านราชประสงค์นี้ มีตัวเลขการจับจ่ายใช้สอยประมาณ 50-100 ล้านบาทต่อวัน หากเหตุระเบิดยังไม่คลี่คลายในเร็ววัน จนทำให้ประชาชนเกิดภาวะซึมเรื่องการจับจ่ายใช้สอย ในระยะ 1 เดือนนี้ คาดว่าน่าจะมีตัวเลขความเสียหายภายใน 1 เดือนนี้ ประมาณ 2,000-5,000 ล้านบาท
"คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ในระยะสั้นๆ นี้ 1. การท่องเที่ยว 2. การลงทุน คงได้รับผลกระทบพอสมควร โดยเรื่องการท่องเที่ยวนั้น คงต้องยอมรับว่า นักท่องเที่ยวจีน ฮ่องกง คงจะหายไปพอสมควร ในขณะที่ ด้านการลงทุนนั้น นักลงทุนต่างชาติ อาจจะมีการประเมินได้ว่า เหตุการณ์ดังกล่าว เป็นเพราะการเมืองไทยยังไม่นิ่งใช่หรือไม่ ซึ่งก็อาจจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น ทำให้เกิดภาวะการชะลอตัวในการลงทุน แต่อย่างไรก็ดี ส่วนตัวเชื่อมั่นว่า ทั้งสองเรื่องนี้ ไม่น่าจะมีผลกระทบมากนักต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ในช่วงปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า" นายธนวรรธน์ กล่าวทิ้งท้าย.