
พบซาก MH370 ชิ้นแรก? แค่จุดเริ่มก้าวต่อไปของการค้นหาอันยาวนาน
(ภาพ: AFP)
การพบชิ้นส่วนซากเครื่องบินไม่ทราบที่มาเมื่อวันที่ 29 ก.ค. ที่ผ่านมา จุดประกายความหวังในการไขปริศนาการหายไปอย่างไร้ร่องรอยของเครื่องบินโดยสารเที่ยวบิน เอ็มเอช 370 ของสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ส พร้อมผู้โดยสารและลูกเรือ 239 คน เมื่อ 8 มี.ค. 2014 ซึ่งการค้นหาในน่านน้ำทางตะวันออกของมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งเจ้าหน้าที่สืบสวนเชื่อว่าเป็นจุดตกของเครื่องบินลำนี้ ตลอด 16 เดือนที่ผ่านมาเรียกได้ว่าคว้าน้ำเหลว ไม่พบเบาะแสใดๆ เลยแม้แต่อย่างเดียว
ข่าวแนะนำ

การพบชิ้นส่วน
ผู้พบชิ้นส่วนเครื่องบินที่ว่าคือ ชาวบ้านบนเกาะ เรอูนิยง ดินแดนโพ้นทะเลของฝรั่งเศส ในน่านน้ำทางตะวันตกของมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งห่างจากจุดค้นหาหลายพันไมล์ และจากการตรวจสอบเบื้องต้นทำให้เชื่อว่ามันคือชิ้นส่วน แฟล็ปเพอรอน ซึ่งอยู่บริเวณปีก ทำหน้าที่เพิ่มแรงยกให้กับปีกในกรณีที่ความเร็วลดลง ก่อนที่ผู้เชี่ยวชาญของโบอิ้งจะยืนยันว่า มันเป็น แฟล็ปเพอรอน ของเครื่องบินโดยสารโบอิ้ง 777 รุ่นเดียวกับที่ใช้ให้บริการเที่ยวบิน เอ็มเอช 370
ซากปีกเครื่องบินชิ้นนี้ถูกส่งไปให้ผู้เชี่ยวชาญนานาชาติในเมืองตูลูส ของฝรั่งเศส ซึ่งเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมการบินของยุโรป ทำการตรวจสอบ เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา และในวันพุธ (5 ส.ค.) นายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค แห่งประเทศมาเลเซียก็มีแถลงการณ์ยืนยันว่า แฟล็ปเพอรอน ชิ้นนี้มาจากเที่ยวบิน เอ็มเอช 370

ความกังขาเมื่อข้อมูลขัดแย้ง
นายกฯ ราซัคระบุว่า เจ้าหน้าที่ตรวจสอบนานาชาติได้ข้อสรุปแล้ว ว่าชิ้นส่วน แฟล็ปเพอรอน ที่พบบนเกาะเรอูนิยงนี้มีรูปร่างตรงกับ ชิ้นส่วนเดียวกันของเครื่องบินโบอิ้ง 777 ซึ่งเป็นรุ่นเดียวกันกับเครื่องบินที่ใช้ในเที่ยวบิน เอ็มเอส 370 ที่หายไปเมื่อปีก่อน นอกจากนี้ ยังมีตราซ่อมบำรุงของ เอ็มเอเอส (Malaysian Airline Systems: MAS) ซึ่งเป็นชื่อเก่าของมาเลเซียแอร์ไลน์ ขณะที่การทาสีและหมายเลขชิ้นส่วนก็ยังตรงกับข้อมูลทางเทคนิคที่ทางการมาเลเซียได้รับจากมาเลเซียแอร์ไลน์สด้วย
แต่ท่ามกลางความหวังที่เพิ่มพูน ผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆ กลับไม่ได้มั่นใจเท่ากับนายราซัค โดยนาย เซอร์เชอ มาโควิยาค รองอัยการกรุงปารีส ของฝรั่งเศส ออกมากล่าวอย่างไม่ฟันธงว่า แม้ผู้เชี่ยวชาญจะพบความเหมือนกันทางเทคนิคระหว่างชิ้นส่วน แฟล็ปเพอรอน ที่พบบนเกาะเรอูนิยงกับ แฟล็ปเพอรอน ของเครื่องบินโบอิ้งที่ให้บริการเที่ยวบิน เอ็มเอช 370 แต่ยังยืนยันไม่ได้จนกว่าจะมีการตรวจสอบเพิ่มเติม และบรรดาผู้เชี่ยวชาญในตูลูสก็กำลังพยายามอย่างหนักเพื่อให้ได้ข้อมูลที่สมบูรณ์และน่าเชื่อถืออย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่เขาก็ระบุไม่ได้เช่นกันว่าเมื่อใด
ขณะที่แหล่งข่าวคนหนึ่งซึ่งมีความใกล้ชิดกับทีมตรวจสอบ เปิดเผยต่อสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นว่า ผู้เชี่ยวชาญของสหรัฐฯ และฝรั่งเศสที่ตรวจสอบ แฟล็ปเพอรอนชิ้นนี้ยังไม่พบสิ่งใดที่เชื่อมโยงมันเข้ากับเที่ยวบินเอ็มเอช 370 อย่างชัดเจน และแม้ว่าในท้ายที่สุดชิ้นส่วนนี้อาจมาจากเที่ยวบินที่หายไปจริง แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่พบข้อมูลใดที่ทำให้สามารถยืนยันได้อย่าง 100%
ความขัดแย้งกันของข้อมูลเช่นนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความซับซ้อนของการสืบสวนโดยหลายชาติ แม้หลายฝ่ายจะเชื่อว่าความเป็นไปได้ที่ชิ้นส่วนนี้จะมาจาก เอ็มเอช 370 มีมากกว่า เพราะเมื่อดูจากข้อมูลสถิติการบินของเครือข่ายความปลอดภัยอากาศยาน (Aviation Safety Network) จะพบว่า เคยมีเครื่องบินโบอิ้ง 777 ตก 5 ครั้ง แต่เพียงลำเดียวที่ตกในซีกโลกใต้ ก็คือลำที่ใช้ในเที่ยวบินเอ็มเอช 370 นี้เอง

เบาะแสจากแฟล็ปเพอรอน
ในกรณีที่ชิ้นส่วนที่พบบนเกาะเรอูนิยงมาจากเที่ยวบินเอ็มเอช 370 จริง มันจะกลายเป็นหลักฐานที่ยืนยันว่าเครื่องบินลำนี้ตกลงในมหาสมุทรอินเดียจริงๆ และอาจบอกได้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับเครื่องบินก่อนที่มันจะพบกับจุดจบในทะเล
ภาพซาก แฟล็ปเพอรอน แสดงให้เห็นความเสียหายเล็กน้อยบริเวณส่วนหน้า และรอยฉีกบริเวณส่วนหลัง ซึ่งนายไมค์ เอ็กซ์เนอร์ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทสื่อสารไร้สายผ่านดาวเทียม 'American Mobile Satellite Corp.' (AMSC) นักสังเกตการณ์อิสระระบุว่า ความเสียหายนั้นจะกลายเป็นข้อบ่งชี้อย่างดีว่าชิ้นส่วนนี้หลุดออกมาในขณะที่เครื่องบินยังอยู่กลางอากาศ การมีความเสียหายน้อยในบริเวณส่วนหน้าทำให้ดูเหมือนว่า เครื่องบินบินด้วยความเร็วสูง, ชัน และวนเป็นวงกลม ทำให้ แฟล็ปเพอรอน สั่นระรัวจนกระทั่งหลุดออกจากตัวเครื่อง
ด้านนาย ทอม บอลลองทีน จากนิตยสารการบินในเอเชีย-แปซิฟิก 'โอเรียนต์ อาเวียชัน' กล่าวว่า ชิ้นส่วนนี้อาจมีสิ่งที่บอกได้ว่าเอ็มเอช 370 พบกับหายนะบางอย่าง เช่นหากมีรอยไหม้ก็อาจสันนิษฐานได้ว่าเกิดระเบิด เป็นต้น
ขณะที่นาง แมรี ชิอาโว นักกฎหมายด้านอากาศยานและอดีตหัวหน้าเจ้าหน้าที่สืบสวนของกระทรวงคมนาคมสหรัฐฯ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่สืบสวนควรหาข้อบ่งชี้ว่าเกิดอาชญากรรมขึ้นบนเครื่องบินลำนี้หรือไม่ แต่เจ้าหน้าที่ก็อาจไม่สามารถบอกได้ว่าเหตุใดเครื่องบินลำนี้จึงตก เพราะข้อมูลส่วนนี้อุปกรณ์บันทึกข้อมูลการบินหรือกล่องดำ มีความจำเป็นยิ่งยวด

อนาคตของการค้นหาในทะเล
ปัญหาใหญ่ที่สุดของปฏิบัติการค้นหาในขณะนี้คือ พวกเขาไม่รู้จุดตกที่แน่นอนของเอ็มเอช 370 ทำให้พื้นที่ค้นหาทั้งบนผิวทะเลและใต้น้ำ บริเวณน่านน้ำทางตะวันตกของเมืองเพิร์ธ ประเทศออสเตรเลีย แต่ก็ยังไม่พบซากเครื่องบินหรือกล่องดำ ทำให้พื้นที่ค้นหาล่าสุดต้องขยายออกไปจนมีขนาดถึง 120,000 ตร.กม. โดยขยับไปทางตะวันตกมากขึ้น
อุปสรรคอีกอย่างคือ การไหลของกระแสน้ำในมหาสมุทรอินเดีย โดยนาย เดวิด กัลโล จากสถาบันสมุทรศาสตร์ 'วูดส์ โฮล' กล่าวว่า คลื่นทะเลแห่งนี้มีความกระจัดกระจายสูงมาก โดยหากนำสิ่งของ 3 อย่างที่มีขนาดและรูปร่างต่างกัน ปล่อยลงในทะเลแห่งนี้ ณ จุดเดียวกันในเวลาเดียวกัน เมื่อเวลาผ่านไปของทั้ง 3 อย่างก็จะกระจัดกระจายไปคนละทาง จากอิทธิพลของคลื่นหรือลม หรือทั้ง 2 อย่างรวมกัน
แต่ นายวอร์เรน ทรัสส์ รองนายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ซึ่งเป็นประเทศผู้นำการค้นหาเอ็มเอช 370 ในมหาสมุทรอินเดีย ยืนยันเมื่อสุดสัปดาห์ก่อนว่า การค้นพบซากเครื่องบินบนเกาะเรอูนิยงนั้น สอดคล้องกับแบบจำลองการไหลเวียนของคลื่นซึ่งจัดทำโดยมหาวิทยาลัย เวสเทิร์น ออสเตรเลีย ที่ทีมค้นหาใช้ พวกเขายังคงเชื่อมั่นว่า พวกเขากำลังค้นหาถูกที่แล้ว และเจ้าหน้าที่จะค้นหาจุดตกของเอ็มเอช 370 ในพื้นที่แห่งนี้ต่อไป

แค่ก้าวแรกเท่านั้น
ถึงกระนั้น นายทรัสส์ยอมรับว่า ซากปีกเครื่องบินที่พบไม่มีส่วนช่วยในการระบุตำแหน่งที่แน่ชัดว่าเครื่องบินลำนี้อยู่ที่ใด หมายความว่าการหาสาเหตุที่ทำให้เอ็มเอช 370 ตกยังคงต้องใช้เวลาอีกยาวนาน
ขณะที่แม้มาเลเซียแอร์ไลน์ส จะระบุว่า การยืนยันเรื่องซากเครื่องบินของนายกฯ ราซัค เป็นการผ่าทางตันครั้งใหญ่ แต่นายชอว์น พรุชนิกคี ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางอากาศของมหาวิทยาลัยรัฐโอไฮโอ กล่าวว่า นี่เป็นเพียงก้าวแรกของการไขปริศนาชิ้นใหญ่ หรือจิ๊กซอว์ที่ถูกต้องชิ้นแรกจาก 1,000 ชิ้นเท่านั้น