ยังคงวนเวียนอยู่กับแนวคิดที่จะเสนอตัวจัดมหกรรมกีฬาใหญ่ๆ เช่น เอเชียนเกมส์ และโอลิมปิกเกมส์ อย่างต่อเนื่อง สำหรับประเทศไทยของเรา
ซึ่งแน่นอนว่าในภาพใหญ่ๆเป็นเรื่องที่ดี ไม่มีใครกล้าปฏิเสธแต่สิ่งที่ทำให้ยังไม่สามารถสนับสนุนได้อย่างเต็มตัวกับแนวคิดดังกล่าว ประเด็นใหญ่ที่สุดคือ ลักษณะของการทำงานของฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
ข่าวแนะนำ
อย่างกรณีที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดย กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร เจ้ากระทรวง มอบให้ อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวง เป็นประธานศึกษาความเป็นไปได้ในการเสนอตัวจัดกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19 ปี พ.ศ.2565 (ค.ศ.2022) ก็ถือว่าทำได้ดี ในระดับหนึ่ง
เช่นเดียวกับแนวทางการศึกษาของปลัดฯอารีพงศ์ ที่ต้องดูถึงความคุ้มค่าในการลงทุน ต้องหาสถานที่ในการสร้างสนามแข่งขันและหมู่บ้านนักกีฬาให้ได้ก่อน จึงจะตอบได้ว่าไทยพร้อมหรือไม่ ในการเสนอตัวครั้งนี้ก็ถือเป็นเรื่องที่ชอบด้วยเหตุและผล เป็นสิ่งที่ถูกต้อง
แต่ที่ยังติดขัดคงเป็นเรื่องของการที่ไม่มีการเตรียมตัวล่วงหน้าที่ดีกว่านี้
ทุกอย่างดูรีบเร่ง แถมยังขอขยายเวลาให้คำตอบกับทางสภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย (โอซีเอ) เจ้าของเกม จากกำหนดเดิมออกไปอีก 1 เดือนด้วยซ้ำ ก็สะท้อนได้ว่าเราไม่พร้อมอย่างชัดเจน
ที่สำคัญ รัฐมนตรีกอบกาญจน์ยังมีการรับลูก เห็นด้วยกับแนวทางการทำประชาพิจารณ์ สอบถามความคิดเห็นจากประชาชนในเมืองที่จะใช้จัดอีกด้วย ตรงนี้ต้องใช้เวลาอีกเท่าไหร่
เมืองที่จะใช้ในการเสนอตัวก็ยังไม่เคาะออกมา
และหากได้เมืองแล้ว วิธีการ ขั้นตอนในการทำประชาพิจารณ์ต้องใช้เวลาอีกมากน้อยแค่ไหน
หรือหากจะตอบรับไปก่อน แล้วค่อยมาทำประชาพิจารณ์ก็ดูจะไม่ค่อยเหมาะสมมากนัก จะเป็นเหมือนคิดกันเอง คิดแทนประชาชน แล้วถ้าส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยจะทำอย่างไร
ทั้งหมดนี้ต้องคิดให้รอบคอบ เพราะการตอบ-รับหรือไม่ตอบรับของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
ตัวอย่างก่อนหน้านี้ แม้จะไม่ใช่เอเชียนเกมส์ แต่เป็นโอลิมปิกเกมส์ ภาพรวมๆก็ค่อนข้างคล้ายกัน เพราะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ประเทศนั้นๆต้องมีในการเสนอตัว
จากกรณีเมืองบอสตันของสหรัฐฯ ประกาศเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า ขอถอนตัวออกจากการลุ้นเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกเกมส์ ฤดูร้อน ปี ค.ศ.2024 เนื่องจากขาดการสนับสนุนจากชาวเมือง
ชาวเมืองเห็นว่ามหกรรมกีฬาครั้งนี้คือ การเดิมพันอนาคตเศรษฐกิจของเมืองบอสตัน และประชาชนส่วนใหญ่ไม่มั่นใจว่าจะสนับสนุนด้านการเงินได้อย่างเต็มที่หรือไม่
ทั้งนี้ หากเมืองบอสตันได้รับเลือก งบประมาณที่ต้องใช้อาจสูงถึง 8,600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
ทางการต้องเรียกเก็บภาษีจากประชาชนเพิ่ม เนื่องจากต้องสร้างสนามกีฬาเพิ่มเติมอีกหลายแห่ง เป็นเหตุผลที่ทำให้เกิดกระแสต่อต้านในท้ายที่สุด
เรื่องนี้จึงจำเป็นที่จะต้องดำเนินการอย่างระมัดระวัง
คิดจะทำประชาพิจารณ์แล้วต้องทำอย่างจริงจัง อาจเสียเวลาหรือทำไม่ทันก็ไม่เป็นไร นำข้อมูลไปใช้ในครั้งหน้าก็ได้ แต่สำคัญที่สุดคือต้องทำ
จะให้คนเพียงกลุ่มเดียวคิดแทนว่าอย่างนั้นอย่างนี้ดีอยู่ตลอด ไม่สามารถทำได้เสมอไป
ความเห็นของประชาชนต้องใหญ่กว่า...
ฟ้าคำราม