สถาบันการศึกษาไทย จัดสัมมนาระดมสมอง นำมหาวิทยาลัยไทย สู่ "มหาวิทยาลัยแห่งการวิจัยและนวัตกรรม" หวังพัฒนาระบบการศึกษาไทยให้ดีขึ้น...
ในการสัมมนาวิชาการและประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง "การก้าวสู่มหาวิทยาลัยแห่งการวิจัยและนวัตกรรม" ของมหาวิทยาลัยรังสิต ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีฯ กล่าวว่า ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยรังสิตตระหนักถึงปัญหาด้านการศึกษามาตลอดเวลา มหาวิทยาลัยรังสิตจึงตั้งเป้าที่จะพัฒนาการศึกษาของไทย โดยมุ่งให้มหาวิทยาลัยรังสิตเป็นขุมพลังแห่งปัญญาของชาติ เพื่อปฏิรูปประเทศไทยสู่สังคมธรรมาธิปไตย ที่ไม่มีความเหลื่อมล้ำ การบริหารบ้านเมืองคำนึงถึงธรรมาภิบาล โดยการที่จะก้าวไปสู่จุดนั้นได้ ต้องใช้การบ่มเพาะทางการศึกษาเพื่อสร้างภูมิปัญญา ให้เกิดความเข้มแข็ง ความมั่นคงยั่งยืน และความเจริญก้าวหน้าให้กับสังคมและประเทศชาติ มหาวิทยาลัยรังสิตจึงมุ่งหมายให้ลูกศิษย์จากมหาวิทยาลัยรังสิต เป็นเลิศทั้งวิชาการ วิชางาน และวิชาเงิน การศึกษาในมหาวิทยาลัยรังสิตจึงมุ่งสร้างนักศึกษาให้เป็นผู้นำในระดับสากล

ด้านผู้ร่วมสัมมนา อย่าง ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน อดีตรัฐมนตรีทบวงมหาวิทยาลัยและอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวเกี่ยวกับการก้าวสู่มหาวิทยาลัยแห่งการวิจัยและนวัตกรรมว่า โดยทั่วไปนิยามของมหาวิทยาลัยวิจัยและนวัตกรรมคือ มหาวิทยาลัยที่เปิดสอนถึงระดับบัณฑิตศึกษาขั้นปริญญาเอก และเน้นภารกิจด้านการวิจัย ขณะที่ปัจจุบันมหาวิทยาลัยที่เน้นการสอนระดับบัณฑิตศึกษาขั้นปริญญาเอกและการวิจัยนั้น จะต้องสร้างความรู้ใหม่ และใช้ผลการวิจัยเพื่อการพัฒนาและการเสริมสร้างนวัตกรรม ซึ่งการที่จะก้าวสู่มหาวิทยาลัยแห่งการวิจัยและนวัตกรรมที่ดี จะต้องเปิดสอนให้ครอบคลุมทุกสาขาวิชาตั้งแต่ระดับปริญญาตรี และสถาบันอุดมศึกษาจะต้องเป็นแหล่งภูมิปัญญา ที่ไม่ใช่มีหน้าที่แค่การทำวิจัย แต่สามารถผลิตคนให้มีคุณภาพอย่างสมบูรณ์แบบทั้งอาจารย์และนักศึกษา
ขณะที่ รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า เป้าหมายของการพัฒนาเพื่อก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยและนวัตกรรมคือ สถาบันอุดมศึกษา ซึ่งเป็นฐานสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ ควรมุ่งเน้นการสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรม เพื่อเพิ่มคุณค่าและมูลค่า รวมถึงการผลิตกำลังคนคุณภาพ เพื่อรองรับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ทั้งนี้ องค์ความรู้จากผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ในสถาบันอุดมศึกษา มีส่วนสำคัญต่อการสร้างเสริมศักยภาพเชิงการแข่งขัน โดยเฉพาะการจดทะเบียนสิทธิบัตรทรัพย์สินทางปัญญา จะพัฒนาการคุ้มครองสิทธิ์ การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ และพัฒนาการบริหาร IP อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ และยังเป็นการพัฒนากระบวนการต่อยอดองค์ความรู้ผลงานวิจัยของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลสูงสุด

ส่วน รศ.ดร.คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ ประธานกรรมการคณะกรรมการการอุดมศึกษา กล่าวถึงนโยบายของ กกอ. ได้แก่ 1. การลงทุนพัฒนาประเทศผ่านสถาบันอุดมศึกษา 2. การปรับปรุงเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตร 3. การประกันคุณภาพการศึกษา และการส่งเสริมสถาบันอุดมศึกษาสู่ความเป็นเลิศ 4. ร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ.... ในปี 2542 มีการปฏิรูปการศึกษา มีการกระจายอำนาจการจัดการศึกษาไปยังสถาบันอุดมศึกษา 5. การติดตาม ตรวจสอบคุณภาพการจัดการศึกษา 6. การส่งเสริมเครือข่ายมหาวิทยาลัย 7. การพัฒนาระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา 8. การผลิตและพัฒนาครู
เช่นเดียวกับ ดร.สุภัทร จำปาทอง รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา กล่าวถึงภาพรวมการอุดมศึกษาไทยว่า บทบาทของสถาบันอุดมศึกษาต่ออนาคตของประเทศ จึงต้องคำนึงถึงสถานการณ์โลกและประเทศ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการเมือง เพราะประเทศไทยต้องดำเนินกิจกรรมที่ตอบสนองต่อสิ่งเร้าภายนอก ให้สามารถแข่งขันได้ในทุกสถานการณ์ สังคมจึงคาดหวังให้สถาบันอุดมศึกษา เป็นองค์กรผลิตกำลังคนที่มีความรู้ความสามารถ มีองค์ความรู้ เพื่อเป็นหัวรถจักรทางปัญญาที่จะนำพาประเทศออกจากวิกฤติ เพราะมหาวิทยาลัยเป็นขุมกำลังทางวิชาการที่ใหญ่ที่สุด ดังนั้น ภารกิจหลักของสถาบันอุดมศึกษา คือ ผลิตบัณฑิต วิจัย บริการวิชาการ ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม โดยการบูรณาการความรู้ สู่การพัฒนาประเทศโดยรวม เพื่อความอยู่ดีมีสุขของสังคม การพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน และมีคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี

สุดท้าย ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริหารวิชาการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสภาการศึกษาแห่งชาติ กล่าวทิ้งท้ายว่า มหาวิทยาลัยวิจัยและนวัตกรรม จะมีส่วนสำคัญให้เศรษฐกิจไทยหลุดออกจากกับดักรายได้ปานกลางภายในหนึ่งถึงสองทศวรรษหน้านี้ เพราะจากประสบการณ์ของหลายประเทศที่ประสบความสำเร็จ อย่าง เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน จีน สิงคโปร์ มาเลเซีย เป็นต้น ประเทศเหล่านี้ล้วนใช้งานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันนำมาสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนของประเทศ.