นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน ประธาน สมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สรุปผล...ผลการตรวจสอบการดำเนินงานของ สปสช. ปมความบกพร่องในการบริหารจัดการเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยสังเขป ไว้ดังนี้...

ประเด็นที่ 1 การจัดสรรเงินค่าเหมาจ่ายรายหัว...ประเด็นย่อยที่ 1 การจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีผู้ให้บริการได้รับความเสียหายจากการให้บริการสาธารณสุขขัดต่อวัตถุประสงค์ตามกฎหมาย

คณะกรรมการฯพิจารณาเห็นว่ายังไม่มีความชัดเจนว่า คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะออกหลักเกณฑ์ดำเนินการเรื่องนี้ได้หรือไม่ จึงควรให้มีการแก้ไขกฎหมาย หรือออกกฎหมายฉบับอื่น เพื่อให้สามารถจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีผู้ให้บริการได้รับความเสียหายโดยไม่มีผลต่อการดำเนินการที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการดำเนินการควรให้ สปสช.ขออนุมัติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติใช้งบบริหารจัดการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวไปพลางก่อน

ประเด็นย่อยที่ 2 การนำเงินค่าบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายรายหัวไปใช้จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในกรณีอื่นที่ขัดต่อวัตถุประสงค์ตามกฎหมาย

“เงินเหมาจ่ายรายหัว”...เป็นค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข เมื่อ สปสช.จ่ายให้กับหน่วยบริการแล้ว หน่วยบริการย่อมใช้จ่ายเงินกองทุนนั้นในกิจกรรมใดๆเพื่อให้เกิดการบริการสาธารณสุขให้กับผู้มีสิทธิตามกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้...เป็นไปตามกฎ...ระเบียบภายในของส่วนราชการต้นสังกัดนั้นๆ ตามหนังสือสั่งการของกระทรวงการคลัง หนังสือเลขที่ 0406.3/ว65 ลงวันที่ 29 กรกฎาคม 2552

“การใช้จ่ายเงินข้างต้น แม้ สปสช.จะระบุประเภทรายจ่ายที่สนับสนุนให้ แต่การกำหนดนั้นมิได้มีผลทำให้สถานพยาบาลสามารถนำเงินไปใช้จ่ายตามที่ สปสช.ระบุได้ สถานพยาบาลยังคงต้องถือปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยเงินบำรุง/รายรับสถานพยาบาลที่ส่วนราชการต้นสังกัดกำหนด”

...

ดังนั้น...หน่วยบริการสามารถนำเงินไปใช้จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายประจำในกิจการของโรงพยาบาล เช่น ค่าจ้างลูกจ้างชั่วคราว ค่าตอบแทนการปฏิบัติการนอกเวลาราชการของเจ้าหน้าที่ ค่าตอบแทนภาระงาน ค่าสาธารณูปโภค ค่าจ้างเหมาบริการ ค่าพัฒนาบุคลากร ค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทางประชุม...อบรม ได้ตามระเบียบ

หลังจากได้รับการทักท้วง คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ออกระเบียบว่าด้วยการงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2558 วันที่ 22 ม.ค.58 ใช้บังคับตามที่ได้รับการแนะนำ

ประเด็นที่ 2 เงินค่าเสื่อม มี 2 ประเด็นย่อย...การมอบอำนาจการบริหารจัดการเงินค่าเสื่อมระดับหน่วยบริการไม่ครบถ้วน กับ การใช้จ่ายเงินค่าเสื่อมขัดต่อวัตถุประสงค์ตามกฎหมาย

ในประเด็นนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ และกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า การใช้งบค่าเสื่อม ของหน่วยบริการเป็นไปตามวัตถุประสงค์ ตามมาตรา 18 (4) ประกอบมาตรา 38 และมาตรา 46...ไม่เป็นการดำเนินการที่ขัดต่อ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ประเด็นที่ 3 บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค มี 2 ประเด็นย่อย คือ การจ่ายเงินให้กับหน่วยงานหรือองค์กรที่ไม่มีสิทธิได้รับเงินตามกฎหมาย คณะกรรมการฯพิจารณาว่า กฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีเจตนารมณ์ “...ให้ชนชาวไทยมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐานและผู้ยากไร้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลจากสถานบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายตามที่กฎหมายบัญญัติ และให้การบริการสาธารณสุขของรัฐต้องเป็นไปอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ โดยจะต้องส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเอกชนมีส่วนร่วมเท่าที่จะกระทำได้...”

การสนับสนุนเงินกองทุนให้แก่ หน่วยงาน องค์กรมูลนิธิ และบุคคล ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนที่มิได้เป็นหน่วยบริการและเครือข่ายหน่วยบริการนั้น เป็นการดำเนินงานตามมาตรา 38 และ ข้อบัญญัติในมาตรา 18 (4) และ (9) ประกอบมาตรา 40 และ 47
จึงไม่เป็นการดำเนินการที่ขัดต่อ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545

ประเด็นย่อยที่ 2 การใช้จ่ายเงินงบบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคของสำนักงานสาขาจังหวัด (สสจ.) ขัดต่อวัตถุประสงค์ตามกฎหมาย...

คณะกรรมการพิจารณาเห็นว่า การที่หน่วยบริการนำเงินไปใช้ในโครงการหรือกิจกรรมต่างๆหลายรายการตามระเบียบเงินบำรุงสามารถดำเนินการได้ และไม่เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่กองทุน หรือทำให้ประชาชนเสียโอกาสที่จะได้รับการบริการที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน

ประเด็นที่ 4 เงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาล คณะกรรมการฯเห็นว่าไม่ใช่ทุกรายที่ขอเยียวยาตามมาตรา 41 จะต้องถูกไล่เบี้ย

“การไล่เบี้ย...จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อผู้เสียหายไปฟ้องร้อง และศาลพิพากษาแล้วว่าเป็นผู้กระทำผิด นอกจากนี้ สำนักงานได้เสนอคณะกรรมการ ให้เห็นชอบและกำหนดมาตรการไล่เบี้ยตามที่ สตง.แนะนำแล้ว”

ประเด็นที่ 5 การจ่ายค่าตอบแทนที่เกี่ยวกับการล้างไตผ่านช่องท้องขัดต่อวัตถุประสงค์ตามกฎหมาย ข้อสรุปเห็นว่า...“จ่ายค่าตอบแทนได้ ไม่ผิด พ.ร.บ.” เนื่องจากถือเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขตามมาตรา 3 จึงอยู่ในกรอบวัตถุประสงค์ของกองทุนตามมาตรา 38

ประเด็นที่ 6 มีผลประโยชน์จากการจัดซื้อยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือทางการแพทย์

คณะกรรมการฯได้ข้อสรุปว่า...การจัดซื้อยาผ่านองค์การเภสัชเพื่อให้ได้ปริมาณมาก จัดซื้อเฉพาะยาที่ราคาสูง จัดซื้อยาก มีการใช้น้อย ซึ่งมีมูลค่าเพียง 5% ของงบประมาณการจัดซื้อทั้งประเทศ ซึ่งถ้ากระจายการซื้อจากเอกชนจะมีราคาสูง...มีปัญหาในการส่งยาที่สม่ำเสมอ... ไม่คุ้มค่าในการจัดส่ง ที่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการซึ่งประหยัดงบประมาณของประเทศไปได้กว่า 50-80%

สำหรับเงินที่องค์การเภสัชกรรมให้ สปสช. ไม่ใช่เงินส่วนลดค่ายา แต่เป็นเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐ ตามข้อบังคับขององค์การเภสัช ปีพ.ศ.2546 โดย สปสช.และโรงพยาบาลต้องเขียนโครงการนำเสนอคณะกรรมการพิจารณาตามหลักเกณฑ์เป็นรายๆไปตามที่กำหนด

...

เพื่อการส่งเสริมพัฒนาการบริหาร วิชาการ การพัฒนาบุคลากร และการศึกษาดูงานของหน่วยงานบริการ

บทสรุป 6 เงื่อนปมสอบการดำเนินการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นเช่นนี้ ผลออกมา สปสช.ไม่พบการทุจริต หรือขัดต่อ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่เป็นผลประโยชน์ที่ประเทศและประชาชนพึงจะได้รับ...ต้นเรื่องนี้มาจากการทักท้วงของ สตง.หรือสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งเป็นเรื่องดีที่มีการเข้ามาตรวจสอบตามกฎกติกา ไม่ใช่ปักธงกำหนดกติกาเฉพาะกรณีขึ้นมาตรวจสอบเอาเอง

ยุคคืนความสุขคนไทย...คืนความโปร่งใสปราศจากการทุจริตคอร์รัปชันให้กับประเทศไทย การตรวจสอบการใช้เงินภาครัฐ...ภาษีประชาชน ต้องพุ่งเป้าไปที่การใช้ “เงิน”...ไม่ให้มีช่องรั่วให้ทุจริตได้ ที่สำคัญต้องไม่มีข้อยกเว้นไม่ว่าหน่วยงานใด...แม้แต่ สตง.เองก็ต้องถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้น.