สวัสดีค่ะคุณผู้อ่านไทยรัฐออนไลน์ที่รัก เป็นอย่างไรกันบ้างคะ กับเทศกาลปีใหม่ไทย วันสงกรานต์ที่ผ่านมา คุณครูลิลลี่เชื่อว่าคนไทยทุกคนคงมีความสุขกันขนานใหญ่เลยแน่ ๆ เพราะว่าวันหยุดสงกรานต์ปีนี้ มีวันหยุดยาวติดต่อกันถึง 5 วันเลยทีเดียว นี่ถ้าใครถือโอกาสลาต่ออีก 2 วันก็เรียกว่าหยุดฉลองความสุขปีใหม่ไทยกันได้ถึง 9 วันเลยทีเดียว
พูดถึงวันสงกรานต์ วันที่ 13 เมษายน ที่ผ่านมาก็นึกขึ้นได้ว่านอกจากจะเป็นวันสงกรานต์แล้ว อีกความสำคัญหนึ่งก็คือเราถือว่า 13 เมษายน เป็นวันผู้สูงอายุด้วยนะคะ เนื่องจากประเพณีไทยของเราแต่โบราณนอกจากการทำบุญในวันขึ้นปีใหม่แบบไทย ๆ กันแล้ว เรายังนึกถึงผู้หลักผู้ใหญ่แสดงความกตัญญูกตเวทิตา ด้วยการรดน้ำดำหัว พูดถึงคำว่า รดน้ำดำหัว เคยสงสัยกันไหมคะว่าหมายถึงอะไร รดน้ำพอเข้าใจได้ แต่ดำหัวมาจากอะไร วันนี้คุณครูลิลลี่มีคำตอบค่ะ คำว่า ดำหัว ในความหมายทั่วไปของชาวล้านนาไทยนั้นหมายถึงการ “สระผม” แต่ในพิธีกรรมโดยเฉพาะในเทศกาลสงกรานต์ของทุกๆ ปี เราจะหมายถึง การชำระสะสางสิ่งอันเป็นอัปมงคลในชีวิตให้หมดไปด้วยการใช้น้ำส้มป่อยเป็นเครื่องชำระ โดยใช้น้ำขมิ้นส้มป่อยแช่ลงในน้ำสะอาดนำไปมอบให้ผู้ใหญ่แตะ ๆ แล้วลูบศีรษะ แต่ถ้าดำหัวตนเองก็ใช้ก้านใบมะยมจุ่มลงแล้วสะเด็ดน้ำใส่ตัว บางท่านบอกว่าใช้น้ำส้มป่อยอาบเพื่อขจัดพลังชั่วร้ายครอบงำ หากดำหัวผู้น้อยกว่าก็ใช้น้ำส้มป่อยลูบศีรษะลูกหลานได้เช่นกัน จึงใช้คำว่า “ดำหัว” มาต่อท้ายคำว่า“รดน้ำ” ซึ่งมีความหมายคล้ายกัน กลายเป็นคำซ้อนขึ้นมาว่า “รดน้ำดำหัว” นั่นเองค่ะ ร่ายยาวถึงรดน้ำดำหัวเสียนาน กลับมาที่เรื่องราวของผู้สูงอายุกันต่อนะคะ พูดถึงผู้สูงอายุขึ้นมา คุณครูลิลลี่นึกขึ้นมาได้ค่ะ วันก่อนได้รับเชิญให้ไปงานเลี้ยงเกษียณอายุราชการของอาจารย์ท่านหนึ่งค่ะ แต่ในข้อความที่ส่งมาเชิญใช้คำว่า “เกษียร” แบบนี้ คุณ ๆ คิดว่าผิดหรือถูกคะ ในฐานะคุณครูภาษาไทยถึงกับรับไม่ได้ต้องรีบแจ้งให้แก้ไขทันทีค่ะ ว่าแล้ววันนี้เรามาให้ความรู้เรื่องนี้กันดีไหมคะ เพราะว่าจริง ๆ แล้ว คำที่ออกเสียงว่า กะ-เสียน ไม่ได้มีแค่ เกษียณ หรือ เกษียร นะคะ ยังมี เกษียน อีกด้วย แต่ละคำมีความหมายต่างกันอย่างไร มาดูไปพร้อม ๆ กันค่ะ
...
คุณผู้อ่านไทยรัฐออนไลน์ที่รักคะ คำว่า เกษียณ เกษียน และเกษียร นั้นถึงแม้จะมีการออกเสียงที่มีเหมือนกันแต่ความหมายของคำทั้ง 3 คำนั้น แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง คุณครูลิลลี่จะแยกความหมายให้เห็นชัด ๆ ดังนี้นะคะ
เกษียณ คำนี้เป็นคำกริยา หมายถึง สิ้นไป ใช้เกี่ยวกับการกำหนดอายุ เช่น เกษียณอายุราชการ ถ้าเป็นภาษาสันสกฤต คือ กษีณ ส่วนถ้าเป็นภาษาบาลี คือ ขีณ ค่ะ ส่วนถ้าเราใช้คำรวมกันว่า เกษียณอายุ จะหมายความว่า ครบกำหนดอายุรับราชการ หรือสิ้นกำหนดเวลารับราชการหรือการทำงาน พูดสั้น ๆ ว่า เกษียณ ก็มีนะคะ
ส่วน เกษียน ที่สะกดด้วย น หนู คำนี้จะมีความหมายได้ทั้งเป็นคำนาม คำกริยา และ คำวิเศษณ์เลยนะคะ มาดูกันทีละความหมายค่ะ ถ้าเป็นคำนาม เกษียน หมายถึง ข้อความที่เขียนแทรกไว้ เช่น ในใบลาน หรือข้อความที่เขียนไว้บนหัวกระดาษคำสั่งหรือหนังสือราชการ เรียกว่า หัวเกษียน ส่วนถ้าเป็นคำกริยา คำว่า เกษียน หมายถึง เขียน และ สุดท้าย เกษียน ที่เป็นคำวิเศษณ์ อันนี้จะหมายความว่า เล็กน้อย นั่นเองค่ะ
มาถึง เกษียร สุดท้ายที่สะกดด้วย ร เรือ คำนี้เป็นคำนามค่ะ หมายถึง น้ำนม ที่เรา ๆ อาจจะเคยได้ยินบ้างก็คงเป็นคำว่า เกษียรสมุทร ที่แปลว่า ทะเลน้ำนม ที่ประทับของพระนารายณ์ นั่นเอง พูดถึง เกษียรสมุทร ถ้าให้ใครนึกภาพไม่ออกให้ลองนึกถึงประติมากรรมที่สนามบินสุวรรณภูมินะคะ นั่นแหละค่ะ ประติมากรรมที่มีชื่อว่า “เทวตำนานการกวนเกษียรสมุทร” แล้ววันหลังจะเอาความรู้เรื่องนี้มาตีแผ่กันต่อค่ะ สำหรับไทยรัฐออนไลน์ครั้งนี้ ... สวัสดีค่ะ