
กรณีชาวสวนจังหวัดปราจีนโวย เรื่องการขุดเจาะวางท่อก๊าซของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ตามที่ “สกู๊ปข่าวหน้า 1” เผยแพร่ในฉบับวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2558 นั้น
ต่อมานายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. ได้เข้าชี้แจงว่ารับทราบถึงปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการวางท่อก๊าซตามโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติเส้นที่ 4 (ระยอง-แก่งคอย) ซึ่งอยู่ในแผนแม่บทระบบท่อก๊าซธรรมชาติ ฉบับที่ 3 พ.ศ.2544-2554 แนวท่อส่งก๊าซช่วงหนึ่งผ่านพื้นที่ตำบลดงขี้เหล็กและตำบลเนินหอม อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งทาง ปตท.พร้อมดูแลด้วยความเป็นธรรม
พร้อมอธิบายว่า การขอใช้ที่ดินเพื่อดำเนินการก่อสร้างการวางท่อ เป็นไปในลักษณะรอนสิทธิ์ คือ เจ้าของที่ดินยังคงมีความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินดังเดิม โดย ปตท.ได้พิจารณาจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินและทรัพย์สินให้แก่เจ้าของที่ดินตาม “ข้อกำหนด” ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)
ประกอบด้วยค่าทดแทนที่ดิน ค่าทดแทนต้นไม้ และผลกระทบจากการก่อสร้าง โดยประเมินจากค่าความเสียหายหลังจากการก่อสร้างแล้วเสร็จในแต่ละพื้นที่ พร้อมยืนยันว่า ปตท.ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบพื้นที่และความเสียหายเพื่อพิจารณาค่าชดเชยให้แก่ผู้ร้องเรียน ซึ่งบางรายมีการเจรจาตกลงและจ่ายค่าชดเชยเรียบร้อยแล้ว และบางรายอยู่ระหว่างการเจรจาร่วมกับชุมชน
พร้อมกันนั้น นายประเสริฐ สลิลอำไพ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สื่อสารองค์กรและกิจการเพื่อสังคม ได้มีจดหมายชี้แจงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า ปตท.เสียใจต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการวางท่อฯ เส้นที่ 4 ระยอง แก่งคอย ระยะทาง 300 กม. การประกาศเขตระบบของโครงการฯ มีแนวเขตกว้าง 20 เมตร ขนานไปกับเขตระบบส่งไฟฟ้าแรงสูงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ตามความเห็นชอบของ กกพ. เรื่องราคาทดแทนค่าที่ดินนั้น กกพ.แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณา โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ค่าทดแทนพืชผล เป็นไปตามหลักวิชาการเกษตรและการสำรวจได้จริง
ส่วนผลกระทบจากการก่อสร้าง จะประเมินจากความเสียหายหลังจากการก่อสร้างแล้วเสร็จแต่ละพื้นที่
ด้านความเดือดร้อนของชุมชนในระหว่างโครงการ ที่ผ่านมา ปตท.ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบพื้นที่และความเสียหายเพื่อพิจารณาค่าใช้จ่ายค่าชดเชยให้แก่ผู้ร้องเรียน ซึ่งบางกรณีมีการเจรจาตกลงและจ่ายค่าชดเชยเรียบร้อยแล้ว และบางรายอยู่ระหว่างการเจรจา พร้อมทำความเข้าใจเรื่องขอบเขตพื้นที่ก่อสร้างของ ปตท.และบริษัทอื่นๆ
ประการสุดท้าย ชี้แจงเรื่องโคลน “เบนโทไนต์” ที่ใช้ในการขุดเจาะ แล้วทะลักเข้าสวนสมุนไพรของมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรว่า ปตท.ได้ติดตามแก้ปัญหาการรั่วไหลของแร่ธรรมชาติชนิดนี้ โดยได้มีการติดต่อประสานงานในพื้นที่ตลอดมา คุณสมบัติของเบนโทไนต์นั้น “เป็นสารธรรมชาติ มิได้เป็นอันตรายต่อพืช แต่จำเป็นต้องมีการจัดเก็บและปรับสภาพพื้นที่ตามมาตรฐาน ซึ่ง ปตท.มิได้นิ่งนอนใจ และได้ขอโอกาสเข้าพื้นที่เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาแล้ว”
เบนโทไนต์ หรือโคลนเทียมที่ใช้ในการขุดเจาะนี้ ใช้เฉพาะในการ “ขุดเจาะลอด” กับเครื่องมือขุดลอดผ่านใต้ดิน บางช่วงตอนมีโคลนทะลักขึ้นมา อย่างกรณีพื้นที่ของมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร
ซึ่งมีสวนสมุนไพรตั้งอยู่ที่ 163 หมู่ 17 ตำบลเนินหอม อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี
พื้นที่นี้มีประมาณ 93 ไร่ ปลูกพืชสมุนไพรไว้ราว 1,095 ชนิด ปัญหาที่ได้รับคือ เมื่อวันที่ 24 มกราคมที่ผ่านมา มีโคลนเทียมจากการขุดเจาะวางท่อส่งก๊าซผุดขึ้นจากพื้นดิน เอ่อท่วมบริเวณสวนสมุนไพรสูงประมาณ 5 นิ้ว ในพื้นที่ประมาณ 2 ไร่ สร้างความเสียหายต่อแปลงเพาะปลูกสมุนไพรหายากกว่า 80 ชนิด
เภสัชกรหญิง ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร ผอ.มูลนิธิฯ บอกว่า สมุนไพรนั้นบางชนิดหายากมาก และทั้งหมดนั้นล้วนเป็นภูมิปัญญาของแผ่นดิน
และ ปตท.ยังแจ้งว่า ได้จับมือกับมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร สำรวจแนววางท่อส่งก๊าซฯ ในพื้นที่มูลนิธิฯใหม่ นายสมฤกษ์ บัวใหญ่ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี ได้แจ้งผลการหารือว่าคณะทำงานฯ มีมติร่วมกันให้ปรับแนววางท่อส่งก๊าซฯใหม่ โดยให้วางท่อตามแนวตะเข็บในพื้นที่ของมูลนิธิฯ อภัยภูเบศร ด้วยวิธีการขุดเปิดตามข้อเสนอของคณะทำงานฯ เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ผ่านมา
เรื่องนี้นายอรรถพลบอกว่า การปรับแนวท่อส่งก๊าซฯ ในครั้งนี้ สามารถผสานเจตนารมณ์ในการใช้ประโยชน์เพื่อสังคมในพื้นที่ของมูลนิธิฯ และการสร้างโครงข่ายพลังงานเพื่อประเทศของ ปตท. ได้เป็นอย่างดี โดย ปตท. พร้อมเข้าสำรวจพื้นที่ของมูลนิธิฯ เพื่อประเมินสภาพพื้นที่ตามขั้นตอนมาตรฐานการดำเนินงาน และวางแผนการทำงานแบบขุดเปิดได้ทันที ซึ่งจะช่วยให้การก่อสร้างมีประสิทธิภาพและลดผลกระทบที่อาจเกิดในระหว่างการก่อสร้างได้เป็นอย่างดี
สำหรับการพิจารณาค่าชดเชยความเสียหายในพื้นที่ของมูลนิธิฯนั้น ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบและชดเชยความเสียหายทั้งในและนอกเขตระบบต่อไป
“ปตท.ขอขอบคุณมูลนิธิฯ อภัยภูเบศร ในการสนับสนุนความร่วมมือดังกล่าว และให้โอกาส ปตท. ได้เข้าสำรวจพื้นที่ โดย ปตท. จะดำเนินการก่อสร้างให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด เพื่อให้พื้นที่ของมูลนิธิฯ สามารถสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมสมดังความตั้งใจ และเป็นแหล่งเรียนรู้สมุนไพรที่สำคัญของชาติและภูมิภาค ปตท.พร้อมสนับสนุนการพัฒนาสมุนไพรและผลิตภัณฑ์ของอภัยภูเบศรซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่คนไทยภาคภูมิใจด้วยความจริงใจ” นายอรรถพลบอก
เมื่อดูแลโครงการดี แล้วเกิดกรณีร้องเรียนได้อย่างไร นายอรรถพลบอกว่า “ผมเข้าใจชาวบ้าน ระหว่างคุยอาจจะไม่มั่นใจ เมื่อมีประเด็นอะไรขึ้นมาก็อาจจะป้องกันไว้ก่อน เป็นเรื่องเข้าใจได้ แต่เรามีกระบวนการดูแลเขาอยู่”
เมื่อสอบถามไปยังนายประสิทธิ์ แก้วหนอง ผู้ร้องเรียน ได้รับคำตอบว่า “ทางเจ้าหน้าที่จ่ายค่าสายไฟและความเสียหายเล็กๆ ไปแล้ว แต่ค่าต้นไม้และการรุกล้ำที่ดินยังไม่ได้ ได้แต่ค่าของเล็กๆ น้อยๆ มา 10,000 กว่าบาทเท่านั้น”
ครั้นถามว่าจะทำอย่างไรต่อไป นายประสิทธิ์บอกว่า “ผมเข้าไปหาคณะกรรมการสิทธิ์แล้ว ผมจะร้องเรียนต่อไป แต่ก็ยังไม่มีอะไรคืบหน้า เขานัดประมาณ 1 อาทิตย์ว่าจะจัดเวทีพูดคุยกันทั้ง 3 ฝ่าย เราเองก็อยากให้ประชาชนมีส่วนในการกำหนดราคาพืชผลด้วย ไม่ใช่ให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กำหนดแต่ฝ่ายเดียว”
สำหรับมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เภสัชกรหญิง ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร บอกว่า เรื่องยังไม่จบ เพราะการทำอีไอเอน่าจะมีปัญหา การทำ EIA คือการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เรื่องถึงกรรมการสิทธิ์แล้ว กรรมการสิทธิ์จะเข้ามาดูแล
เรื่องนี้ได้รับคำยืนยันจาก นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ว่าจะเรียกผู้ดำเนินการเข้ามาพูดคุย ขณะนี้ให้ชะลอการดำเนินงานตามโครงการไว้ก่อน ส่วนการทำอีไอเอนั้น จะมีการตรวจสอบความถูกต้องใหม่อีกครั้ง
ผลการตรวจสอบ “อีไอเอ” จะออกมาอย่างไรก็ตาม ยามนี้ คณะกรรมการสิทธิ์คือที่พึ่งของชาวบ้าน.