ข่าวเล็กๆ สั้นๆ ที่ถูกรายงานผ่านออกมาทาง Social Media และได้รับการพูดถึงกันพอสมควรในแวดวงคนใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา นั่นคือ ข่าวที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎหมายใหม่ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมไอทีและอินเทอร์เน็ต รวดเดียว 10 ฉบับ

กฎหมายทั้ง 10 ฉบับดังกล่าว ได้แก่ 1) ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ 2) ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 3) ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ 4) ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล 5) ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล 6) ร่างพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 7) ร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม 8) ร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ 9) ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ 10) ร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม เพื่อกำหนดให้มีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

เหตุผลสำคัญที่รัฐบาลโดยกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการลื่อสาร หรือไอซีที อ้างว่าต้องเร่งผลักดันกฎหมายทั้ง 10 ฉบับดังกล่าว คือ การผลักดัน เรื่อง “เศรษฐกิจดิจิทัล” หรือ “Digital Economy” เพื่อพัฒนาการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ ให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่กำลังก้าวไปสู่ “สังคมยุคดิจิตอล”

แต่ก็อดตั้งคำถามไม่ได้ว่า การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลที่ว่านั้น ไปเกี่ยวข้องกับการแก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ หรือแม้กระทั่งการยกร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ได้อย่างไร

...

ยิ่งเมื่อรวมการแก้ไขพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เข้าไปอีก ยิ่งสงสัยมากขึ้นไปอีกว่า การเสนอแก้ไขและยกร่างใหม่กฎหมายทั้ง 10 ฉบับนี้ มีเจตนาอย่างไรกันแน่

จริงอยู่ว่า กฎหมายเดิมที่มีอยู่แล้ว และมีความพยายามจะแก้ไขในครั้งนี้ ได้แก่ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 นั้นมีข้อบกพร่องและมีปัญหาในทางปฏิบัติหลายประการ

โดยเฉพาะพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 นั้น มีปัญหาเรื่องบทบัญญัติที่ระบุฐานความผิดบางมาตราที่เป็นโทษฐานเดียวกันกับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา เช่น ความผิดฐานหมิ่นประมาท ที่โทษตามกฎหมายอาญาจำคุกไม่เกิน 2 ปี แต่ตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีโทษสูงสุดถึง 5 ปี

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาในเรื่องกระบวนการบังคับใช้ที่ยังขาดความชัดเจน เจ้าพนักงานตามกฎหมายขาดความรู้ความเชี่ยวชาญในการบังคับใช้กฎหมาย ทำให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติมากมาย จนทำให้บางครั้ง ผู้บริสุทธิ์อาจถูกกลั่นแกล้งจนต้องติดคุกติดตะรางโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์

ขณะเดียวกัน พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 ก็เป็นกฎหมายอีกฉบับหนึ่งที่มีปัญหาในทางปฏิบัติ จนถูกวิพากษ์วิจารณ์จากทุกฝ่าย โดยไม่ว่าจะจับต้องลงไปตรงไหน ก็พบปัญหาทั้งสิ้น
เริ่มตั้งแต่กระบวนการสรรหาและได้มาซึ่งตัวกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่ถูกระบุว่ามีปัญหาเรื่องการบล็อกโหวตในช่องทางของการเลือกกันเองขององค์กรต่างๆ รวมมาถึงกระบวนการสรรหาของวุฒิสภา ที่มีลักษณะต่างตอบแทนจนได้ กรรมการ กสทช.บางส่วนที่ไม่มีความรู้ความสามารถในด้านที่สมัครอย่างแท้จริง

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องการจัดประมูลคลื่นความถี่แบบ 3G ที่ถูกวิจารณ์ว่า ราคาถูกเกินไปและไม่เป็นไปตามหลักการแข่งขันที่เป็นธรรม รวมทั้งปัญหาเรื่องการบริหารจัดการและการออกประกาศต่างๆ ที่ไม่ชัดเจน กลับไปกลับมา จนผู้ประกอบกิจการเกิดความสับสน โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์

ทั้งนี้ ยังไม่รวมเรื่องการบริหารจัดการสำนักงานที่มีการใช้จ่ายงบประมาณที่ค่อนข้างฟุ่มเฟือย เช่น การจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่างประเทศของกรรมการ กสทช.บางคน

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่ากฎหมายทั้ง 2 ฉบับข้างต้นจะมีปัญหาในการบังคับใช้และการปฏิบัติมากเพียงใดก็ตาม ก็ไม่ได้หมายความว่า รัฐบาล หรือกระทรวงไอซีที จะใช้อำนาจตามอำเภอใจในการแก้ไขกฎหมายและออกกฎหมายใหม่ โดยไม่ผ่านการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ที่จะได้รับผลกระทบทั้งในส่วนผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงและสาธารณชนในวงกว้าง

ยิ่งหากจะมีการแก้ไขในสาระสำคัญของกฎหมาย เช่น อำนาจในการจัดสรรคลื่นความถี่ ทั้งในกิจการกระจายเสียงฯ และกิจการโทรคมนาคม ด้วยแล้ว ยิ่งมีความจำเป็นที่จะต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างกว้างขวาง ซึ่งยังไม่รวมถึงกฎหมายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่จะมีผลกระทบกับประชาชนทุกคน

โดยเฉพาะในห้วงเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะไม่ปกติ การออกกฎหมายสามารถกระทำได้ด้วยการเพียงผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่สมาชิกส่วนใหญ่เป็นทหารและข้าราชการประจำที่ขาดความรู้ความเชี่ยวชาญ และมีงานประจำอื่นที่จะต้องทำนอกจากงานด้านนิติบัญญัติ ย่อมจะต้องใช้ความละเอียดรอบคอบมากกว่าในยุคที่มีทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาอย่างยิ่ง

ตัวนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี อาจมีเจตนาดีที่ต้องการจะผลักดันเศรษฐกิจของประเทศให้มีความทัดเทียมประเทศต่างๆ ในโลก เรื่องใหญ่ๆ อย่างนี้ คณะผู้บริหารประเทศต้องมีความรอบคอบและฟังความเห็นให้รอบด้านก่อนที่จะตัดสินใจในเรื่องสำคัญๆ และมีผลกระทบต่อประชาชนทั้งประเทศเช่นนี้

...

ไม่ใช่คอยแต่ฟังความเห็นของข้าราชการประจำ ที่ไม่เข้าใจความเปลี่ยนแปลงของโลกเทคโนโลยีเพียงไม่กี่คน...

ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี
Twitter: @chavarong
chavarong@thairath.co.th