"อาชีพนักวาดการ์ตูน" ถือเป็นอาชีพที่ใครหลายคนใฝ่ฝันในวัยเด็ก หลายคนหยิบดินสอขีดเขียน หลายคนเลียนแบบลายเส้นของการ์ตูนดังๆ ผู้เขียนเองก็เคยใฝ่ฝันว่าอยากจะทำ อยากจะเป็น แต่คำตอบที่ได้ ก็เป็นเหมือนกับคนส่วนมากคือ "ล้มเหลว" เลิกทำงานด้านนี้ไป แต่สำหรับบางคนสามารถเดินตามฝันจนก้าวขึ้นสู่แนวหน้าของเมืองไทย และที่สำคัญทำให้ต้นฉบับอย่างประเทศญี่ปุ่นยอมรับได้! คนๆ นั้นย่อมไม่ธรรมดา ใช่แล้วเขาคือ "ตั้ม-วิศุทธิ์ พรนิมิตร" เจ้าของผลงาน ฮีชีอิท (hesheit) ผลงานการ์ตูนลายเส้นแสนจะธรรมดา แต่เรื่องราวที่เขาเล่ากลับเป็นที่สนใจของชาวอาทิตย์อุทัย

ปฐมบท "วิศุทธิ์ พรนิมิตร" นักลอกเลียนแบบที่ล้มเหลว
วิศุทธิ์ เล่าเรื่องราวชีวิตตัวเองให้ฟังว่า แรงบันดาลใจการวาดภาพของผม คือเรื่องราวปกติในชีวิต เจออะไรมาก็อยากจะพูด แต่วิธีพูดของเราอาจจะไม่เหมือนคนอื่น ยกตัวอย่างเช่น วันนี้เจอหมาขึ้นรถเมล์ มาเล่าให้แม่ฟัง มาเจอคนอื่นก็ต้องเล่าอีก ด้วยความขี้เกียจเล่าบ่อย ก็เลยมาวาดเป็นการ์ตูนวันนี้เจอหมาขึ้นรถเมล์ เพื่อจะได้ไม่ต้องเล่าหลายครั้ง โดยรู้สึกชอบการ์ตูนและวาดมันขึ้นตั้งแต่อายุ 6-7 ขวบ เริ่มต้นด้วยการลอกเลียนแบบจากการ์ตูนญี่ปุ่น ชอบเหลือเกิน พอชอบอะไรแล้วก็จะทำตาม พอลอกไปลอกมาสักอายุ อายุ 8 ขวบ ก็เริ่มมีวิวัฒนาการด้วยการเอาหน้าตัวละครอื่นๆ มาผสม จากนั้นก็เริ่มแต่งเรื่องเอง เพราะรู้สึกว่าเป็นคนลอกไม่ค่อยเหมือน ขณะที่เพื่อนอีกคนลอกเหมือนมากเอามาโชว์ โอโห้! มันวาดเหมือนมากสู้มันไม่ได้ (พูดพรางยิ้ม) งั้นคุณก็วาดไปแล้ว ก็เลยเริ่มที่ดัดแปลง สร้างคาแรกเตอร์ขึ้นมาเอง เริ่มเอาเรื่องราวไม่เคยอ่าน ไม่เคยมีมาลองเขียนดูสนุกๆ พอเริ่มโตขึ้น เปอร์เซ็นต์การเลียนแบบก็เริ่มน้อยลง เพราะหันมาสนใจเรื่องชีวิต ความรัก พอเป็นวัยรุ่น เข้า มหาวิทยาลัยก็จะมีปัญหา เริ่มมีความรู้สึกเข้ามาผสม ไม่ได้มีแต่เรื่องคลั่งไคล้อย่างเดียว เริ่มมีชีวิตจริง การ์ตูนจะได้รับอิทธิพลจากชีวิตจากมากขึ้น
...

วาดรูปไม่สวย ก็เป็นนักวาดการ์ตูนได้!
ศิลปินหนุ่มอารมณ์ดี เล่าต่อว่า การวาดรูปในความรู้สึกผมไม่จำเป็นต้องวาดสวย แต่ต้องอธิบายให้ได้ว่าวาดอะไรอยู่ เช่น ถ้าวาดแมว คนก็น่าจะดูออกว่ามันเป็นแมว หรือว่า วาดหมาขึ้นรถเมล์ ก็ต้องอธิบายให้ได้ว่าเป็นเรื่องราวของหมาขึ้นรถเมล์ ถ้าสื่อได้แค่บางคนก็เหมือนกับคนพูดไม่รู้เรื่อง
"การค้นหาตัวเองนั้น สไตล์ไม่ได้เกิดจากการคิดขึ้นมา แต่มันเกิดจากการเติบโตขึ้นมาว่าเราเป็นคนยังไง เด็กๆ อาจจะบ้าการ์ตูน แต่พอเริ่มโต พออ่านแล้วก็ไม่รู้สึกว่ามันสนุกไม่เห็นต้องไปทนอ่านมันเลย พอเดี๋ยวนี้กลายเป็นคนไม่อ่านการ์ตูนเลย เราก็เลยกลายเป็นคนที่มีส่วนผสมของการ์ตูนอยู่แค่ลึกๆ ที่สามารถอธิบายอะไรด้วยภาพได้ ฟังดูเหมือนไม่สนใจการ์ตูน แต่เป็นนักวาดการ์ตูนเพราะมันคือธรรมชาติของเรา มันคือตัวเรา คือ เด็กๆ เคยสนใจการ์ตูน ตอนนี้สนใจเรื่องชีวิต จึงกลายเป็นวิธีสื่อสารของผมที่ออกมาเป็นการ์ตูน ซึ่งวิธีสื่อสารของแต่ละคนจะแตกต่างกัน บางคนพูด บางคนแต่งเพลง แต่สำหรับผมผมเห็นการ์ตูนพูดมาเป็นรูป เราพูดเป็นการ์ตูน"


เฉลยวิธีคิด เขียน และ แนวทางการวาดการ์ตูน
สำหรับพล็อตเรื่องของผม เวลาผมวาดการ์ตูนผมจะทำแบบเล่าเรื่อง สมมติว่าวันนี้เราเจอนกบินขึ้นเรือ 5 ตัว แทนที่เราจะเล่าว่านกบินขึ้นเรือ 5 ตัวแล้วจบ แต่สำหรับผมไม่ใช่ เราเจออะไรเราก็จะคิด เอาตัวเราไปชนกับสถานการณ์ เหมือนตบมือ สมมติเรื่องที่เจอคือมือข้างหนึ่ง ตัวเราก็เป็นอีกข้างหนึ่ง แล้ว เราก็มีความเห็นกับสิ่งที่เราเจอ เช่นเห็นนกบินเข้าไปในเรือ เราคิดอะไร นั่นแหละคือเรื่องราวของผม นี่คือเสียงที่กระทบ เราก็บอกว่านี่แหละเสียงของเรา คือเรื่องราวมาพบกับความคิดของเรา เสียงที่ได้ยินเป็นแบบนี้
...

ไม่แคร์ใคร! ที่ทำเพราะอยากทำ!
ฟังแนวคิดแล้วต่างๆ เหมือนทำงานอย่างสนุกสนานไม่จริงจังแต่..."ความจริงจังเกิดจากคนอื่น เพราะเราก็เล่นๆ มาตลอด เล่นไปเล่นมาเขาก็จ้างเรา ที่มาอาจจะมาจากที่เราไปส่งสำนักพิมพ์ เขาก็จ่ายตังค์เรา เราบอกเขาว่าจะทำ ก็เริ่มกลายเป็นหน้าที่ ถ้าไม่ทำเขาก็โกรธเรา เราทำก็ดันมีคนอ่าน จากนั้นก็มีเสียงเรียกมาว่าจะเอาอีก จากนั้นก็มีคนอื่นมาสั่งเพิ่ม กระทั่งวันหนึ่งไปญี่ปุ่นก็ประสบความสำเร็จ"
หลังจากมีชื่อเสียง หลายคนอาจจะตั้งคำถามว่าเจตนารมย์การวาดการ์ตูนผิดเพี้ยนไปหรือไม่ ศิลปินหนุ่มอารมณ์ดี ตอบเสียงนุ่มๆ ว่า ส่วนตัวแล้วผมไม่แคร์ สมมติมีคนมาสั่งให้วาดให้ 5 หน้า แต่ผมบอกไม่ได้ วาดได้หน้าเดียว เราเองก็เป็นอย่างนี้ ถ้าหากวันหนึ่งไม่มีใครจ้างเรา ก็มาดูกันอีกที

...
วิเคราะห์การ์ตูนญี่ปุ่น ทำไมประสบความสำเร็จทั่วโลก!
นักวาดการ์ตูนชื่อดังของไทย ยังวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่ทำให้ญี่ปุ่นได้ตีตลาดไว้อย่างน่าสนใจว่า "ผมว่าทุกอย่างมันคือธรรมชาติ ญี่ปุ่นกว่าจะสร้างโดราเอมอนได้ไม่รู้เขาเจออะไรมาบ้าง ผมมองว่ามันเป็นธรรมชาติของเขา เราอยู่คนละบ้านก็เลยพูดคนละแบบ สำหรับเขาเจอเรื่องเลวร้าย เจอสงคราม บ้านเมืองเละเทะ ก็คงอยากจะพูดอะไรบ้าง อยากพูดอะไรที่สดใสเหลือเกิน พูดอะไรที่มีความหวัง ส่วนพี่ไทยก็สบายๆ ไม่มีความลำบาก ก็เลยสะท้อนออกมาเป็นการ์ตูนขายหัวเราะ ไทยไม่มีแรงกดดันอะไร

สบายๆ ไร้แรงกดดัน = ไร้จินตนาการ!?!
สบายมากทำให้ไร้จินตนาการหรือไม่..."ก็ไม่รู้จะจินตนาการทำไม ไม่ได้มีเรื่องทุกข์ร้อนอะไร ทุกข์ร้อนใจก็คุยกับเพื่อน อยากไปเที่ยวทะเลก็ไป แต่ญี่ปุ่นไม่มีทะเล เวลาพูดพูดแบบมึงกู อะไรก็พูดไม่ได้ เขาจะมีพูดแบบมีแบบแผน พูดตรงๆ เฮฮาไม่ได้ ความกดดันของเขากับของเราไม่เหมือนกัน สังคมเขาเครียดกว่าเรา มีภัยธรรมชาติ มีสงคราม คนเยอะ ระบบแข็งแรงจนหยุดไม่ได้ เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ก็หยุดไม่ได้ มองในมุมเขา เขาก็เหวออยู่ ตอนนี้ก็เริ่มมีวัฒนธรรมที่ช่วยทำอะไรช้าๆ บ้างเถอะ ก็มีคนแบบนี้เยอะ ขึ้นเรื่อยๆ ที่สำคัญ การ์ตูนแบบโดราเอมอน ก็ไม่ใช่นึกจะทำก็ทำได้"
...


ความเป็นไทย ไร้ธุรกิจเคลือบแฝง ทำให้โดนใจชาวญี่ปุ่น
"เขาบอกการ์ตูนผม มีความเป็นโบราณ เหมือนกับการ์ตูนยุคก่อนของเขา ไม่มีความเป็นธุรกิจ แต่ของเขาไม่ใช่ วาดการ์ตูนอลังการ มีผู้ช่วย ไม่มีผู้ช่วยทำไม่ได้ กลายเป็นยุคห้างสรรพสินค้าไปทั่วแล้ว เราเป็นแนวลูกทุ่ง เขียนได้ก็เขียน เขียนไม่ได้ก็ไม่เขียน ไม่จำเป็นต้องเขียนสวยอะไร พอดีงานเรามีมุมมองที่สบายๆ ไม่จำเป็นต้องชนะหรือได้ที่ 1 ซึ่งแตกต่างจากเขา เนื้อหาการ์ตูนเรา คือ แพ้ ไม่เป็นไร คนไทยมันแพ้ตลอด ปลงละ ขำๆ แล้วยอมรับมัน แต่สิ่งที่เรายอมรับมันกลายเป็นเรื่องที่เขาไม่มี"

นักคิดนักเขียนการ์ตูนที่นำเสนอผลงานแฝงไปด้วยปรัชญา เล่าต่อว่า เคยคิดที่จะทำการ์ตูนยาวๆ เหมือนกัน แต่รู้สึกว่าทำไม่ไหว มันยังไม่ถึงเวลา ไม่มีองค์ประกอบที่อยากทำ ยกตัวอย่าง เราอยากได้รถ 50 ล้าน ถ้าอยากได้มากๆ ก็ต้องไปทำงาน โหมเพื่อที่จะให้ได้มันมา แต่ผมเป็นคนที่ตั้งคำถามก่อนว่าจะทำทำไม มีเงิน 5 แสน ก็ซื้อมอเตอร์ไซค์
"ผมไม่ใช่คนสบายๆ แต่ไม่รู้ว่าจะลำบากทำไม ความลำบากส่วนใหญ่เราจะหามาให้ตัวเอง เราต้องยอมรับความจริง ถ้ายอมรับมันแล้วเราก็จะเห็นความสวยของมัน ที่รู้สึกแบบนี้ เพราะได้เห็นสังคมคนญี่ปุ่น ลักษณะเหมือนสัตว์ขู่กัน สิงโตบอกว่าฉันเจ๋ง ก็ต้องคำราม อีกตัวเป็นแมวก็กลัว แมวตัวที่ 1 บอกฉันจะต้องน่ากลัวบ้าง เลยไปฝึกวิชาเบ่งกล้าม จนคำรามจนสิงโตกลัว พอสิงโตกลัวก็ไปฝึกบ้างแปลงร่างเป็นมังกร มันก็อยู่แบบนี้ ขู่ไปขู่มา สิ่งที่เกิดขึ้นคือ "ความกลัว" แมวกลัวสิงโต สิงโตกลัวแมว เหมือนเรากลัวคนรวย รู้สึกว่าโห่..นี่มันรวย อิจฉา..กลัว คล้ายกัน เราต้องมีของแบบเขาบ้าง จะได้ดูน่าเกรงขาม พอทุกคนเห็นว่ามีเหมือนกัน ก็ไปซื้อเครื่องบิน แต่สำหรับผม ไม่ต้องสู้กันก็ได้ เหมือนแมวตัวที่ 2 มีสิงโตขู่ ก็เดินไปที่อื่น เราจะรู้สึกดีที่เห็นอะไรที่ไม่น่ากลัว เช่น เห็นยามใจดีรูปหัวหมา จะรู้สึกอีกแบบ ชื่นใจ แต่ถ้าเราเห็นเศรษฐีจูงหมาตัวละ 2 แสน ก็จะรู้สึกอีกแบบ เราก็เรียนรู้อันนี้และควรจะเป็นคนแบบที่เห็น อาจจะเป็นตรงนี้ทำให้ญี่ปุ่นชอบงานของผม"

"รู้จักคำว่าสุโค่ยมั้ย คำนี้ใช้ชมอะไรที่มันเจ๋งมากๆ เช่น บ้านใหญ่สุโค่ย รถเจ๋งๆ สุโค่ย แต่รู้สึกว่ามันเหวอ คำนี้ถ้าดูตัวภาษาจีน มีความหมายที่มีคำว่ากลัวอยู่ข้างใน น่าเกรงขาม ไม่มีความสุข แต่เขาก็คงอยู่ให้มีความสุขในแบบของเขาได้ล่ะ"
เคารพตัวเอง ทำได้ก็ทำ ทำไม่ได้ก็ไม่ต้องทำ!
นักวาดการ์ตูนไทยชื่อเสียงก้องโลก ได้ให้คำแนะนำนักวาดการ์ตูนรุ่นใหม่ ทิ้งท้ายว่า ขอแนะนำให้เคารพชีวิตตัวเองว่าเราเป็นคนอย่างไร เราเจออะไร สิ่งแวดล้อมเป็นอย่างไร เราคิดอะไรต่อมัน แล้วจะโม้หรือเล่ามันอย่างไรต่อมัน เรามีตังค์แค่ไหน เรามีฝีมือแค่ไหน มีเวลาแค่ไหน ครอบครัวเป็นอย่างไร เรามีตังก์แค่ไหนนี่คือเรื่องสำคัญ เช่น มัวแต่วาดการ์ตูน ไม่มีงานทำ ไม่ได้ตังค์ เพราะนี่คือชีวิตเรา มันคือชีวิตเรา ถ้ามีตังค์อยากทำอะไร ก็ทำ แค่เคารพ เอนจอยกับมัน ไม่ต้องว่า "ฉันทำแบบอีกคนไม่ได้.. เพราะฉะนั้นฉันจึงใช้ไม่ได้ ฉันไม่มีรถปอร์เช่ ฉะนั้นฉันจึงเป็นคนห่วยๆ (ฮ่าๆ) ใครบอก!..ก็บอกเอง ใครมันจะว่าเรามีแต่ว่าตัวเราเอง เรื่องแบบนี้คิดว่าน่าจะใช้ได้อีกนาน ส่วนตัวมองว่าตอนนี้ที่ญี่ปุ่นก็เริ่มขาลง ช่วงปี 80 ถือว่าระดับโลก อย่าว่าแต่ไทยเลย ฝรั่งก็ยังทำไม่ได้ มันเป็นจังหวะของเขาจริงๆ คนวาดคนเดิมก็ทำไม่ได้ เชื่อเราปะ!...มันออกมาตามธรรมชาติ เราแค่เคารพมัน แค่นั้น คนเขียนโดราเอมอน เขียนเรื่องอื่นไม่เห็นสนุกเลย เราจึงเชื่อว่าเขาต้องไปเจออะไรมา ต้องเจออะไรแบบขำๆ หนุกๆ ชัวร์!...