อีกไม่นานคงจะได้เห็นหน้าค่าตาของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จำนวน 250 คน ว่าจะมีใครเป็นใครกันบ้างหลังจากปิด รับสมัครไปเรียบร้อยแล้วแม้แรกๆจะมีผู้สมัครไม่มากนักแต่สุดท้ายก็โล่งใจได้เนื่องจากมีผู้สมัครราว 7,000 กว่าคน
พูดง่ายๆว่าแม้จะมาช้าก็ดีกว่าไม่มา
ข่าวแนะนำ
ในจำนวนนี้จะมีการคัดให้เหลือคณะละ 50 คนจาก 11 คณะ โดยคณะกรรมการสรรหาที่ตั้งรอเอาไว้แล้วล่าสุดก็มีการตั้งประธานคณะกรรมการสรรหาซึ่งเป็นไปตามที่มีการคาดกันมาก่อนหน้านี้
นอกจากนั้นในแต่ละจังหวัดก็ได้เลือกกันมาแล้วจังหวัดละ 5 คนเพื่อเสนอให้ คสช.เลือกจังหวัดละ 1 คน เป็น 77 คน บวกกับคณะละ 50 คน ที่ คสช.จะชี้ขาดเหลือ 173 คน รวมเป็น 250 คน
สปช. 250 คนจะทำหน้าที่ออกแบบประเทศใน 11 ด้าน รวมออกมาแล้วก็เป็นการปฏิรูปประเทศตามที่ประชาชนต้องการเห็นเพื่อเดินหน้าประเทศไทยต่อไป
นี่คือหัวใจสำคัญที่ทุกคนปรารถนา
จำนวนผู้สมัคร 7,000 คนนี้มาจากมากมายหลายสาขาถือว่า
กว้างขวาง ในทุกแขนงที่เลือกว่าจะเข้าสู่คณะไหน ขั้นตอนต่อไปก็คือการ คัดเลือกจากคณะกรรมการสรรหาก่อนที่จะให้ คสช.ชี้ขาดสุดท้ายเป็นอันจบ
ดังนั้น การกลั่นกรองบุคคลที่มีตัวเลือกมากมายอย่างนี้จึงเป็นโอกาสที่ดีที่จะต้องเลือกบุคคลให้เหมาะสมกับภารกิจสำคัญ
ก็อย่าให้เป็นไปอย่างที่พูดๆกันเป็นข้อสังเกตทำนองว่าจะบล็อกเลือกคนนั้นคนนี้เอาไว้ล่วงหน้าแล้ว ตรงนี้แหละเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง
แม้กระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.ซึ่งจะต้องรับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรงได้ออกมาตอกย้ำว่าไม่มีเด็ดขาด แต่จะเลือกบุคคลที่มีความรู้ความสามารถในแต่ละด้าน มีคุณภาพและเหมาะสมกับงานด้านนั้นๆ
เป็นการการันตีเพื่อให้เกิดความสบายใจจากทุกฝ่าย
หน้าที่ของคณะกรรมการสรรหาจึงเป็นห่วงโซ่สำคัญที่จะต้องทำให้เกิดความโปร่งใสตรวจสอบได้ก่อนที่จะส่งชื่อให้ คสช.ชี้ขาดในขั้นตอนสุดท้าย
รายชื่อที่ออกมาจะบ่งบอกว่าการทำหน้าที่ของคณะกรรมการสรรหานั้นเป็นไปเพื่อการปฏิรูปประเทศอย่างแท้จริงหรือไม่
ที่สำคัญคือจะต้องตอบคำถามให้ได้ว่าทำไมต้องเป็นคนนั้นคนนี้
อย่างไรก็ดี เมื่อมีผู้สมัครจำนวนมากอย่างนี้แต่ต้องคัดให้เหลือเพียงแค่ 250 คนเท่านั้น จำนวนที่เหลืออีก 6,000 กว่าคนจะทำอย่างไร
จะโยนทิ้งใส่ถังขยะไปเฉยๆอย่างนั้นหรือ
จึงเป็นเรื่องที่นายกฯและหัวหน้า คสช.จะต้องหาคำตอบล่วงหน้าเอาไว้ก่อนว่าจะทำอย่างไรกับบุคคลจำนวนนี้ เพราะการที่ไม่ได้รับการคัดเลือกนั้นหาใช่ว่าพวกเขาไม่ต้องการที่จะร่วมการปฏิรูปหรือสอบตกวิชาปฏิรูป
ความร่วมมือร่วมใจในการปฏิรูปประเทศนั้นเป็นเรื่องสำคัญและเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนที่จะต้องให้ความสำคัญด้วยการแสดง ออกทางความคิดเห็นหรือให้ข้อเสนอแนะ
เพราะเชื่อว่าแม้แต่พรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองที่ไม่ส่งตัวแทนเข้าร่วมขออยู่ข้างนอกแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่สนใจหรือไม่ต้องการการปฏิรูป แต่คงจะมีข้อเสนอแนะหรือสาระของแนวทางการปฏิรูปที่พร้อมจะเสนอให้ สปช.นำไปศึกษาเพื่อพิจารณา
คสช.จึงต้องประสานระหว่างในสภาและนอกสภาให้กลมกลืนกัน
เพื่อจะได้เนื้อหาสาระที่รอบคอบและรอบด้านเป็นข้อมูลชุดใหญ่แล้วร่วมกันพิจารณาว่าควรจะใช้แบบไหน อย่างไร ที่เหมาะสมกับการปฏิรูปที่ทุกฝ่ายต้องการ
เพื่อความครบเครื่องไร้ปัญหาทุกฝ่ายยอมรับได้.
“สายล่อฟ้า”