
อาลัย'ถวัลย์ ดัชนี' ศิลปินแห่งชาติ
จิตรกรคนดัง ‘บ้านดำ’รํ่าไห้ ตับวายพราก
“ชีวิตสั้น ศิลปะยืนยาว” สิ้นบรมครูปรมาจารย์ด้านศิลปะไทยร่วมสมัย “ถวัลย์ ดัชนี” ศิลปินแห่งชาติ ทิ้งไว้เพียงผลงานศิลปะที่มาจากหัวใจ จิตวิญญาณและลมหายใจ ที่เป็นมรดกอันคุณค่าทางงานศิลปะ ให้อยู่กับคนไทยตลอดกาล เหล่าศิลปินร่วมวงการสุดอาลัย ยกย่องเป็นนักสร้างศิลปินคนรุ่นใหม่ให้แก่แผ่นดินไทย
ข่าวแนะนำ
นับเป็นความสูญเสียยิ่งใหญ่ต่อวงการศิลปะของไทย เมื่อนายถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ปี 2544 ได้เสียชีวิตลงอย่างสงบด้วยโรคตับวาย เมื่อเวลา 02.15 น. วันที่ 3 ก.ย. ที่โรงพยาบาลรามคำแหง โดยหลังจากที่นายถวัลย์ได้สิ้นลมในเวลา 03.00 น. นายดอยธิเบศร์ ดัชนี บุตรชายคนเดียวของนายถวัลย์ ดัชนี ได้โพสต์ภาพมือข้างขวาใส่สายน้ำเกลือ โดยมีมืออีกข้างหนึ่งกุมประสานกันไว้ พร้อมเขียนข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “พ่อไม่ต้องกังวล เพราะพ่อจะไม่ไปไหนพ่อจากไปแต่เพียงร่างกาย แต่ผลงานศิลปะที่มาจากหัวใจ จิตวิญญาณและลมหายใจที่พ่อสร้างทิ้งไว้จะเป็นอมตะตลอดกาล พ่อคือผู้สร้างและลูกคือผู้รักษา หลับให้สบายนะพ่อ เลือดของพ่อยังไหลเวียนในกายลูกเสมอและเราจะพบกัน...รักพ่อสุดหัวใจ กราบเท้าพ่อเป็นครั้งสุดท้าย”
นายชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า นายถวัลย์ได้ถึงแก่กรรมด้วยโรคตับวาย สิริรวมอายุ 74 ปี 11 เดือน โดยก่อนหน้าที่จะเสียชีวิตนายถวัลย์มีโรคประจำตัวคือ เบาหวาน และความดัน ได้เข้ารับการรักษาโรคต่อมลูกหมากโต ซึ่งมีความเสี่ยงเป็นมะเร็ง ที่โรงพยาบาลรามคำแหง ต่อมาเมื่อต้นปี 2557 ตรวจพบว่าเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมากระยะสุดท้าย จึงเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลอย่างจริงจัง ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2557 พบว่าเชื้อมะเร็งลุกลามไปที่ตับ ปอด และมีอาการตับวายในที่สุด จากนั้นอาการทรุดหนักจนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ในฐานะที่ได้สัมผัสตัวตนของนายถวัลย์ เห็นได้ถึงความเป็นผู้มีจิตใจที่ดีงาม อุทิศทั้งร่างกายและจิตใจ สร้างศิลปินคนรุ่นใหม่ให้มีความรู้ และความรักในงานศิลปะ ขณะเดียวกัน ได้ผลักดันงานศิลปะของประเทศไทยให้ก้าวหน้าและก้าวไกลในเวทีนานาชาติ เพื่อให้ศิลปินไทยได้มีพื้นที่สร้างสรรค์ผลงานออกไปสู่สาย ตาชาวต่างชาติ
นายชายกล่าวด้วยว่า หนึ่งในความฝันของนายถวัลย์คือการได้มีโอกาสไปแสดงผลงานศิลปะ ในเทศกาลศิลปะนานาชาติ เวนิสเบียนเนเล่ และได้สำรวจสถานที่จัดงานมาเมื่อปี 2556 แต่เมื่อท่านจากไปก่อน ก็ถือเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง สำหรับกำหนดการศพจะมีการเคลื่อนศพออกจากโรงพยาบาลรามคำแหง ไปตั้งบำเพ็ญกุศลยังศาลา 1 วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร ในเช้าวันที่ 4 ก.ย. และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราช กุมารี จะเสด็จฯเป็นองค์ประธานพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ เวลา 15.00 น. สวดพระอภิธรรมศพ วันที่ 4-10 ก.ย. พิธีพระราชทานเพลิงศพวันที่ 11 ก.ย.เวลา 17.00 น.
ด้านนายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม กล่าวว่า ขอแสดงความเสียใจต่อการจากไปของศิลปินแห่งชาติ ผู้มีคุณูปการต่อวงการศิลปะไทย อาจารย์ถวัลย์ ได้สร้างสรรค์มรดกอันทรงคุณค่าทางงานศิลปะที่มีความงดงามด้านสถาปัตยกรรมไทย ไว้ที่บ้านดำ นางแล จ.เชียงราย เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษา และสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างงานศิลปะ ที่สำคัญผลงานของท่านมีความเป็นเอกลักษณ์ ที่มีความเป็นสุดยอดทางด้านศิลปะ ซึ่งหาผู้เปรียบเทียบได้ยากมาก ดังนั้นกระทรวงวัฒนธรรมจะร่วมอนุรักษ์ และสืบสานผลงานของท่านไว้ เพื่อเผยแพร่ให้สาธารณชนได้เรียนรู้ต่อไป
ขณะที่นายกมล ทัศนาญชลี ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ กล่าวว่า ได้ทำงานร่วมทุกข์ร่วมสุขกับนายถวัลย์มาอย่างยาวนาน ได้สัมผัสชีวิต เผชิญกับสิ่งที่ดีๆมาด้วยกันทำให้เห็นว่า เราจะหาศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ที่มีจิตสาธารณะเช่นเดียวกับนายถวัลย์ได้ยาก ท่านเป็นซุปเปอร์สตาร์ เป็นแบบอย่างของศิลปินที่ประสบความสำเร็จแล้วยังรู้จักที่จะแบ่งปันความรู้ ความคิด ความใส่ใจสู่ผู้อื่น ที่สำคัญ เป็นคนรักบ้านเกิด รักแผ่นดิน สร้างสรรค์แต่สิ่งที่ดีงาม ยอมเสียเวลาอันมีค่า เดินสายให้ความรู้แก่เด็กและเยาวชนทั่วประเทศโดยไม่เคยพร่ำบ่น ทั้งยังกลับกลายเป็นความภูมิใจที่ได้มีโอกาสสร้างศิลปินคนรุ่นใหม่ให้แก่แผ่นดินไทย
ส่วนบรรยากาศที่พิพิธภัณฑ์บ้านดำ หรือบ้านดำ เลขที่ 414 หมู่ 13 ต.นางแล อ.เมือง จ.เชียงราย ที่เป็นบ้านพักกินนอนที่ทำงานของนายถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติ ใช้วาดภาพและเก็บงานด้านศิลปะทั้งด้านภาพเขียน ด้านประติมากรรม ศิลปะแบบล้านนา ไม้แกะสลักที่มีลวดลายงดงาม สิ่งของสะสม เช่นเขาควาย เขากวาง กระดูกสัตว์ เช่น งูหลาม กระดูกช้างเป็นต้น ยังคงเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมตามปกติ แต่บรรยากาศเป็นไปอย่างเงียบเหงา ส่วนเจ้าหน้าที่ชายหญิงที่ดูแลบ้านและพิพิธภัณฑ์อยู่ก็มีสีหน้าเศร้าสร้อยกับการเสียชีวิตของศิลปินแห่งชาติ
นายสว่าง เรือนคำ อายุ 63 ปี คนขับรถ ที่ทำงานมาตั้งแต่เริ่มต้นการสร้างบ้านเมื่อปี 2527 กล่าวว่า อยู่กับนายถวัลย์มากว่า 30 ปี ถ้าอยู่เชียงรายอาจารย์จะวาดภาพอยู่ในบ้านหลังเล็ก ผลงานชิ้นสุดท้ายของ อ.ถวัลย์ มีการนำภาพไปแสดงที่สยามพารากอน เมื่อ 3-4 เดือนที่ผ่านมา และยังวาดค้างอยู่อีก 1 รูปตั้งไว้ในบ้านไม้ยกพื้นสูงทาสีดำ ข้างศาลาใหญ่ ภายในมีภาพวาดสีน้ำมันขนาดใหญ่ประมาณ 3-4 เมตร ที่ใช้เวลาวาดมากว่า 4-5 เดือนยังค้างอยู่ไม่เสร็จ ส่วนนายณรงค์ฤทธิ์ พันสุภะ อายุ 28 ปี มาอยู่ที่บ้านดำ 12 ปี กล่าวว่า การเสียชีวิตของอาจารย์ถวัลย์ครั้งนี้ทำให้พนักงานลูกน้อง 15 คนในบ้านต่างเศร้าสลดเสียใจ ส่วนอนาคตข้างหน้าทุกคน ก็คิดว่าลูกชายและครอบครัวของอาจารย์ถวัลย์จะสืบสานดำเนินการต่อไปได้ และทุกคนก็จะยังอยู่ช่วยพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ให้อยู่ต่อไป
สำหรับประวัตินายถวัลย์ ดัชนี เกิดเมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ.2482 ที่ จ.เชียงราย สมรสกับนางมากาเร็ต ฟันเดอร์ฮุ้ค มีบุตรด้วยกัน 1 คน คือ นายดอยธิเบศร์ ดัชนี ด้านการศึกษา สำเร็จปริญญาตรีบัณฑิต (เกียรตินิยม) จากคณะจิตรกรรม ประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ภายใต้การสอนของ ศ.ศิลป์ พีระศรี สำเร็จปริญญาโท ด้านจิตรกรรมฝาผนัง อนุสาวรีย์และผังเมือง ปริญญาเอก ด้านอภิปรัชญา และสุนทรียศาสตร์ราชวิทยาลัยศิลปะแห่งชาติ
อัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์ ผลงานของนายถวัลย์ ดัชนี ผู้ที่มีพุทธิปัญญาสามารถนำแนวปรัชญาพุทธศิลป์มาสร้างงานศิลปะไทยร่วมสมัย ที่ทรงพลัง ลุ่มลึกและแกร่งกร้าว มีเนื้อหาสาระ และท่วงทีที่มีชีวิตวิญญาณของความเป็นไทย ผสมผสานระหว่างแนวปรัชญาตะวันออกและตะวันตก เป็นผู้มีบทบาทยิ่งในการเผยแพร่ผลงานศิลปะไทยโดยมีผลงานแสดงเดี่ยวและกลุ่มมากมายหลายครั้งทั้งในประเทศและต่างประเทศแถบเอเชีย ยุโรปและอเมริกา จนสื่อมวลชนต่างประเทศสนใจชีวิต และงานของ ดร.ถวัลย์ ดัชนี จัดทำเป็นเอกสารสิ่งพิมพ์ สื่อภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์เผยแพร่ไปทั่วโลกมากมาย ท่านเป็นจิตรกรคนแรกที่ได้รับรางวัลวัฒนธรรมแห่งเอเชียเมืองฟุคุโอกะ ครั้งที่ 12 ประจำปี พ.ศ. 2544
นอกจากนี้ ยังได้ก่อตั้งมูลนิธิถวัลย์ ดัชนี เพื่อสนับสนุนการศึกษาโดยศิลปะเฉพาะด้านทัศนศิลป์ รวมทั้งได้ใช้เวลานานกว่า 25 ปี สร้างพิพิธภัณฑ์ศิลปะพื้นบ้านในเนื้อที่กว่า 100 ไร่ ที่บ้านดำ ต.นางแล จ.เชียงราย ด้วยคุณูปการต่อวงการศิลปะของชาติ จึง ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติจากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พุทธศักราช 2544 ถวัลย์ ดัชนี โดยได้อุทิศตนถ่ายทอดความรู้ประสบการณ์การสร้างสรรค์งานศิลปะแก่นักเรียน นักศึกษา ศิลปินรุ่นใหม่ นับเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการบ่มเพาะศิลปินรุ่นใหม่ให้สร้างสรรค์ผลงาน ศิลปะให้ทรงคุณค่าเป็นมรดกของแผ่นดินสืบไป
นายอภินันท์ โปษยานนท์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า กระทรวงได้นำผลงานภาพชุดลายเส้น ภาพเหมือนจริงใบหน้าของอาจารย์ถวัลย์ตอนยังหนุ่มเมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว วาดโดยอาจารย์ถวัลย์ เป็นงานสะสมของชาวเยอรมันที่อยู่ในไทยมานานกว่า 50 ปี มาจัดแสดงเป็นครั้งแรกให้ประชาชนได้รับชม ในงาน นิทรรศการ “มนต์เสน่ห์ไทย : มรดก+พลังสร้างสรรค์”
ณ บริเวณชั้น 8 หอศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพมหานคร จนถึงวันที่ 16 พ.ย. อาจารย์ถือเป็นศิลปินที่มีฝีมือเป็นเลิศเรื่องนำเอาเนื้อหาความหมาย ความเชื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพราหมณ์ ฮินดู วิญญาณนิยม นำมาเขียนเป็นภาพลักษณะของลายเส้น ในอิริยาบถต่างๆ ได้รับแรงบันดาลใจจากไตรภูมิกถา ซึ่งมีบันทึกเนื้อหาเกี่ยวกับความเชื่อ สวรรค์ โลกมนุษย์ นรก มาถ่ายทอดผ่านความรู้ความสามารถของอาจารย์ที่ได้ไปศึกษามาจากต่างประเทศด้วย