
ขู่ทหารพันเอก ชุดปราบ‘รุกที่’
หลังเข้าลุยปากช่อง เจ้าตัวแฉเป็นตำรวจ ให้‘ตั้งการ์ดสูงเอาไว้’
คณะทำงานด้านกฎหมาย กองทัพภาคที่ 2 “พ.อ.สมหมาย บุษบา” หน.ชุดตรวจสอบขบวนการบุกรุกที่ดินศูนย์สงครามพิเศษ ลพบุรี แฉถูกนายตำรวจสัญญาบัตรในกลุ่มผู้สูญเสียประโยชน์ข่มขู่ “ตั้งการ์ดสูงๆเอาไว้ มีคนติดตาม” แต่ไม่หวั่นถ้าเป็นอะไรถือว่าหมดกรรม เดินหน้าลุยหาหลักฐานร่วมประชุมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตรวจสอบพื้นที่หาข้อมูลผู้บุกรุกพื้นที่ทหาร เผยเตรียมให้เจ้าของพื้นที่ทำเรื่องถึงนิคมลำตะคอง-หนองสาหร่าย ยกเลิก นค.1 หรือ นค.3 เพื่อเพิกถอนโฉนด ขณะที่จเรตำรวจแห่งชาติ เตรียมประสานขอข้อมูลหาตัวคนข่มขู่ ด้านปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประชุมวางแผนจัดที่ดินให้เกษตรกรยากจนไร้ที่ทำกิน เตรียมอพยพคนออกจากพื้นที่ป่า โดยเฉพาะพื้นที่ต้นน้ำไปอยู่ในพื้นที่ที่จัดเตรียมไว้ โดยให้สิทธิชุมชนทำกิน
ข่าวแนะนำ
จากกรณี พ.อ.สมหมาย บุษบา เสนาธิการกองยุทธการ กองทัพภาคที่ 2 คณะทำงานด้านกฎหมาย กองทัพภาคที่ 2 ตรวจสอบการบุกรุกที่ดินบริเวณชะง่อนผาเขาหนองเชื่อม ต.ขนงพระ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา พื้นที่ของศูนย์สงครามพิเศษ ลพบุรี พบมีการบุกรุกที่ดินประมาณ 330 ไร่ และมีการปลูกสร้างคฤหาสน์หรูรวม 8 หลัง ส่วนผู้บุกรุกมีกว่า 10 คน เป็นนายตำรวจ 6 นาย ที่ทั้งระดับผู้บัญชาการ และรองผู้บัญชาการ พนักงานอัยการ คน อาจารย์มหาวิทยาลัยและญาตินักการเมือง ยังไม่สามารถยึดคืนพื้นที่กลับมาได้แต่ชุดทำงานกลับถูกนายตำรวจฝ่ายผู้สูญเสียผลประโยชน์ข่มขู่ต้องปรับแผนดูแลให้ความปลอดภัยชุดทำงาน
เหตุการณ์ขบวนการรุกที่ข่มขู่ทหารชุดตรวจสอบการบุกรุกพื้นที่ศูนย์ส่งครามพิเศษลพบุรีรายนี้ เปิดเผยขึ้นเมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 2 ก.ย. ที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 2 ค่ายสุรนารี กองทัพภาคที่ 2 อ.เมืองนครราชสีมา พ.อ.สมหมาย บุษบา คณะทำงานด้านกฎหมายกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย กองทัพภาคที่ 2 ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวโทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์กว่า 10 คน ว่าคณะทำงานของตน ทำงานนานเดือนเศษ ตรวจสอบการบุกรุกพื้นที่ป่าในภาคอีสานราว 14 จุด ส่วนใหญ่ไม่มีการกระทบกระทั่งเกิดขึ้น แต่ในการตรวจสอบการบุกรุกป่าที่ อ.ปากช่อง กลับมีการข่มขู่คุกคามเกิดขึ้นกับคณะทำงาน เนื่องจากมีทั้งข้าราชการระดับสูงของสำนักงานหนึ่งที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงที่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้และมีอำนาจหน้าที่โดยตรงทั้งอาจารย์และพนักงานอัยการ
พ.อ.สมหมายกล่าวต่อว่า ขณะนี้มีคนผู้ไม่หวังดีได้ส่ง ว.0 หรือคำสั่งลับๆ ผ่านเจ้าหน้าที่ในสายงานของกลุ่มที่สูญเสียบอกให้เราตั้งการ์ดสูงๆเอาไว้ มีคนติดตาม ความหมายของคำว่าตั้งการ์ดสูงของผู้ที่ส่งข้อความก็คือ เป็น ว.0 และ ว.4 ในการรับคำสั่ง เตรียมปฏิบัติของทีมที่มีปัญหาที่สูญเสีย เพราะคนดีคงไม่ทำอะไรตน หากข้องใจอะไรทำไมไม่มาถามตนที่สำนักงานภายในกองทัพภาคที่ 2 ยินดีที่จะตอบทุกคำถาม และขอยืนยันจะทำหน้าที่ตรงนี้ในฐานะข้าราชการของรัฐด้วยอำนาจและหน้าที่ที่ผู้บังคับบัญชามอบหมาย ถ้าตนเป็นอะไรไปถือว่าหมดกรรม ได้รายงานผู้บังคับบัญชาตามระดับตั้งแต่กองทัพภาคที่ 2 ถึงกองทัพบก ว่าการทำงานทุกจุดทุกตำแหน่งไม่มีปัญหา แต่มีแค่จุดนี้ที่บอกว่าให้ตนตั้งการ์ดสูง จากการตรวจสอบข้อมูลทราบว่าเป็นนายตำรวจระดับสัญญาบัตร ซึ่งผู้บังคับบัญชาได้มอบหมายให้หน่วยรบพิเศษ และกำลังในแต่ละพื้นที่ให้ดูแลตนและคณะ เข้มงวดมากขึ้นในการลงพื้นที่ทำงาน
เสนาธิการกองยุทธการ กองทัพภาคที่ 2 กล่าวอีกว่า ตนทำงานให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย เมื่อมีผู้ร้อง ก็ไปตรวจสอบไปดูจุดให้ผู้ถูกร้องเอาเอกสารมาแสดงโดยใช้หลักรัฐศาสตร์ ทำในฐานะเป็นข้าราชการของรัฐไม่ได้มีส่วนได้เสียกับรายใดเลย เรื่องที่เกิดขึ้นไม่ทำให้เหนื่อยและท้อแท้ กลับยิ่งมีพลังทำงานเพื่อจะได้พิสูจน์กันนอกพื้นที่นี้แล้ว เป้าหมายต่อไปที่ จ.อุบลราชธานี จำนวน 1,600 ไร่ มีการออกโฉนดที่ดินงอกเกิดสันดอนในแม่น้ำมูล ที่ป่าภูเรือ จ.เลย เนื้อที่หลายพันไร่ถึงหมื่นไร่สร้างรีสอร์ตผสมสวนยาง ส่วนที่ อ.เชียงคาน จ.เลย จบแล้ว ที่ จ.อุดรธานี ป่าน้ำโสม-นายูง อ.บ้านผือ เป็นสวนยาง ตัดต้นยางไปแล้วกว่า 1 พันไร่ ส่วนใหญ่ผู้บุกรุกเท่าที่รู้ไม่ใช่ผู้ยากไร้ แต่เป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. และเป็นผู้มีอิทธิพลทั้งนั้น
พล.ต.ต.พงษ์เดช พรหมมิจิตร ผบก.ภ.จ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า กรณีทหารถูกขู่โดยบอกให้ตั้งการ์ดสูงๆ ว่า ไม่ทราบว่าหมายความอย่างไร ส่วนเรื่องการบุกรุกที่ดินพื้นที่ อ.ปากช่อง มีทหารไปตรวจสอบ ตำรวจพนักงานสอบสวนฝ่ายปกครองได้ให้ความร่วมมืออย่างดี เรื่องที่เกิดขึ้นคิดว่าไม่มีใครที่จะกล้าไปยุ่งกับทหาร น่าจะเป็นเรื่องฝ่ายเดียว โดยเฉพาะทราบว่า ยังไม่มีการแจ้งความร้องทุกข์ตำรวจคงทำอะไรมากไปกว่านี้ไม่ได้ เรื่องนี้ตนคิดว่าคงต้องไปถามทาง พ.อ.สมหมายจะชัดเจนขึ้น
ด้าน พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน จเรตำรวจแห่งชาติ ในฐานะ ผอ.ศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกล่าวว่า เบื้องต้นจะมีการประสาน พ.อ.สมหมาย บุษบา หัวหน้าฝ่ายกฎหมายกองทัพภาคที่ 2 เกี่ยวกับข้อมูลที่มีการระบุว่ามีนายตำรวจส่งข้อความลักษณะข่มขู่ชุดตรวจสอบการบุกรุกพื้นที่ป่าของทหารเพื่อตรวจสอบหาต้นตอของข้อความที่มีการข่มขู่โดยเร่งด่วน เพราะการป้องกันปราบปรามการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้สัตว์ป่าทรัพยากรธรรมชาติถือเป็นนโยบายสำคัญของชาติ ทุกคนต้องมีหน้าที่อนุรักษ์ไว้ให้ลูกหลาน หากมีตำรวจหรือข้าราชการคนใดเข้ามาเกี่ยวข้อง มีพยานหลักฐานจะดำเนินการทางวินัยและทางอาญา
ต่อมาเวลา 10.00 น. ที่หอประชุมเมืองปากช่อง พ.อ.สมหมาย บุษบา และ พ.ท.สิรวิชญ์ แข็งขัน ผู้บังคับการหน่วยรบพิเศษ ศูนย์สงครามพิเศษ เข้าร่วมประชุมประจำเดือนของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อ.ปากช่อง มีนายวิบูลย์ รัตนาภรณ์วงศ์ นายอำเภอปากช่อง หัวหน้าส่วนราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รวมกว่า 600คน ร่วมประชุมด้วย โดย พ.อ.สมหมายกล่าวในที่ประชุมกรณีการบุกรุกพื้นที่ศูนย์สงครามพิเศษ ว่าผู้บุกรุกมีทั้งนายพลตำรวจ อาจารย์ และอัยการ อยากถามอัยการที่เป็นผู้รู้กฎหมายรู้จักภูเขามั้ย เอาที่ป่าที่ทหารมาออกเอกสารสิทธิน่าสงสัย แหล่งที่มาของ นค.1 หรือ นค.3 ซึ่งเอาพื้นที่ทหารมาเป็นของนิคมลำตะคอง-หนองสาหร่าย มันไม่ถูกต้อง เจ้าหน้าที่รังวัดก็มาจากส่วนกลางไม่ใช่จากสำนักงานที่ดิน จ.นครราชสีมา สาขาปากช่อง ขอฝากกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตรวจสอบว่าที่ดินแต่ละแปลง บ้านแต่ละหลังเป็นของใครรายงานให้นายอำเภอปากช่องเพื่อรายงานต่อกองทัพภาคที่2
หลังการประชุม พ.อ.สมหมายเปิดเผยว่าขั้นตอนต่อไปในการดำเนินการกับผู้บุกรุกที่ทหาร330 ไร่ ว่า ศูนย์สงครามพิเศษ เจ้าของพื้นที่ต้องรายงานผู้บังคับบัญชาเพื่อแจ้งไปยังนิคมลำตะคอง-หนองสาหร่าย กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ว่าเป็นที่ดินของทหาร จากนั้นนิคมฯต้องเพิกถอน นค.1 และ นค.3 ในส่วนของกรมที่ดินก็เพิกถอนสิทธิต่อไป ส่วนสิ่งปลูกสร้างตนจะเสนอผู้บังคับบัญชาให้ ปปง.เข้ามาตรวจยึด พร้อมขอเปลี่ยนรายละเอียดเอาอาคารมาใช้งานให้เกิดประโยชน์ และยังไปตรวจพบเขต ต.คลองม่วง ที่มีการบุกรุกที่ของทหารอีกกว่า 200 ไร่ ก็จะดำเนินการต่อไปอีก
ทางด้านนายมลศักดิ์ จงรักษ์ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า การดำเนินการในกรณีการบุกรุกที่ทหารที่ ต.ขนงพระ อ.ปากช่อง ผวจ.นครราชสีมา ตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ หรือ กปร. กรณีดังกล่าวมีการออก นค.3 หรือหนังสือให้ใช้ประโยชน์ในเขตนิคม แล้วมาออกโฉนด 330 ไร่ ฝ่ายความมั่นคงได้รวบรวมเอกสารเสนอให้ทางนิคมสร้างตนเองลำตะคองตรวจสอบแล้วเพิกถอน นค.3 จากนั้นอธิบดีกรมที่ดินจะออกคำสั่งแจ้งให้สำนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมาก่อนแล้วให้เจ้าพนักงานที่ดินสาขา อ.ปากช่อง มีนายก อบต. เจ้าหน้าที่ที่ดิน นายอำเภอ และนิคมฯในรูปคณะกรรมการดำเนินการเพื่อยกเลิกโฉนด และจะต้องมีการสืบเสาะพฤติกรรมเจ้าหน้าทีี่ที่เกี่ยวข้องว่ามีการกระทำโดยทุจริตหรือประมาทเลินเล่อหรือไม่ ส่วนการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง 8 หลัง คงเป็นเรื่องของเจ้าของพื้นที่
ขณะเดียวกันนางมิ่งขวัญ วิชยารังสฤษฏ์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า กระทรวงทรัพยากรฯ ได้ร่วมประชุมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการคลัง และกระทรวงมหาดไทย หาแนวทางจัดหาที่ดินทำกินให้ประชาชนที่ยากจนไร้ที่ดินทำกินในลักษณะที่ไม่ให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยกำหนดให้ทุกหน่วยงานที่มีพื้นที่ของรัฐในการควบคุมดูแลให้ยุติการบุกรุกถือครองของราษฎร ให้สำรวจจัดทำข้อมูลราษฎรที่ทำกินในพื้นที่ จัดแยกกลุ่มราษฎรที่ทำกินว่ากลุ่มใดสามารถอยู่ทำกินได้ กลุ่มใดไม่สามารถอยู่ทำกินได้ พร้อมทั้งตรวจสอบหาพื้นที่รองรับราษฎรที่จำเป็นต้องเคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่ที่ทำกินอยู่ รวมทั้งวางแนวทางในการจัดระบบการถือครองในพื้นที่ดังกล่าว แต่จะไม่ให้สิทธิ์เป็นรายบุคคล แต่จะให้ในลักษณะสิทธิทำกินชุมชน ส่วนในรายละเอียดต้องหารือกันอีกครั้ง
นายธีรยุทธ์ สมตน ผอ.สำนักจัดการที่ดินป่าไม้ กรมป่าไม้ กล่าวว่า กรมป่าไม้รวบรวมข้อมูลโดยใช้มติ ครม. วันที่ 30 มิ.ย.41 เป็นเกณฑ์พบว่ามีคนอยู่พื้นที่ป่าในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้ประมาณ 6 แสนราย คิดเป็นเนื้อที่ 6.4 ล้านไร่ ซึ่งการอยู่มาก่อนประกาศเขตป่าจะมาพูดคุยกันในทางนโยบายว่าจะดำเนินการอย่างไรให้มีความเหมาะสม อาจจะให้สิทธิเป็นรายชุมชนหรือพื้นที่ โดยชุมชนที่จะได้สิทธิทำกินจะต้องเป็นชุมชนในลุ่มน้ำชั้น 3, 4 และ5 เท่านั้น ส่วนพื้นที่ต้นน้ำ ชั้น 1 และ 2 จะไม่มีการให้สิทธิทำกิน เพราะต้องอนุรักษ์เป็นแหล่งต้นน้ำ อาจจะมีการย้ายชุมชนเหล่านั้นออกมาโดยจ่ายค่าชดเชย หรือจัดสรรหาที่ดินใหม่
ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า แนวทางการจัดการที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกรในลักษณะไม่ให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้น จะไม่นำพื้นที่ป่าอนุรักษ์ไปปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กรณีอยู่อาศัยทำกินมาก่อนวันประกาศเขตสงวนหวงห้ามและเป็นพื้นที่ไม่ล่อแหลมคุกคามต่อระบบนิเวศน์ ให้อยู่อาศัยทำกินที่เดิมมีการจัดขอบเขตให้ชัดเจน แต่หากเป็นพื้นที่ล่อแหลมคุกคามต่อระบบนิเวศน์ ให้ช่วยเหลือตามความเหมาะสม ส่วนกรณีที่อยู่อาศัยทำกินหลังวันประกาศเขตป่าให้เคลื่อนย้ายออกไปพื้นที่รองรับอื่น หากเคลื่อนย้ายไม่ได้ทันทีให้ควบคุมพื้นที่และจัดระเบียบให้เพียงพอกับการดำรงชีพ
จากการสำรวจการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ป่าในความรับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรฯ มีพื้นที่ป่าตามกฎหมายทั้งหมด 135 ล้านไร่ ถูกนำไปใช้ประโยชน์เป็นพื้นที่เกษตรกรรมกว่า 23.5 ล้านไร่ มีประชาชนมาขึ้นทะเบียนเพื่อให้สำรวจตามมติ ครม. วันที่ 30 มิ.ย.41 โดยกรมอุทยานฯ ได้ตรวจสอบพิสูจน์การครอบครองที่ดินของราษฎรในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ตามกฎหมายแล้ว พบว่ามีประชาชนอาศัยอยู่ในพื้นที่ป่า 150,622 ราย จำนวน 211,923 แปลง เนื้อที่ 1,434,842 ไร่ โดยอยู่ก่อนประกาศเขตป่า 67,037 ราย เนื้อที่ 89,911 แปลง พื้นที่ 499,980 ไร่ อยู่หลังประกาศเขตป่า 87,560 ราย เนื้อที่ 127,050 แปลง เนื้อที่ 984,844 ไร่