
เลือกให้ดี
วันนี้ (2 ก.ย.) เป็นวันสุดท้ายของการเปิดรับการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) “เสือซุ่ม” ที่แอบซุ่มรอดูเชิง แห่ไปยื่นใบสมัครกันคึกคักยิ่งกว่าทุกวัน
“แม่ลูกจันทร์” เชื่อว่าจำนวนผู้เข้าร่วมกระบวนการ “ลากตั้ง” เป็นสมาชิกสภาปฏิรูปฯ ทั้งในส่วนกลางและในส่วนจังหวัด จะมียอดทะลุเป้าเกินห้าพันคน
ข่าวแนะนำ
ทำลายสถิติการลากตั้งทุกครั้งที่ผ่านมา
ถามว่า เหตุใดจึงมีผู้เสนอชื่อรับการสรรหาเป็น สปช.มากเป็นประวัติการณ์??
ตอบว่า เพราะ คสช.ต้องการให้มีผู้เข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปฯจำนวนมากๆ ยิ่งมากเท่าไหร่ก็ยิ่งดี
คสช.จึงทำกติกา “เปิดกว้าง” ให้คนไทยทุกสาขาอาชีพสามารถเข้ารับการสรรหาอย่างสะดวกโยธิน
นอกจากนี้ คสช.ยังส่งซิกให้หน่วยราชการต่างๆ ส่งชื่อตัวแทนลงสมัคร สปช.กันอย่างพร้อมเพรียง
แถมขยายวันยื่นใบสมัครยาวเป็นพิเศษถึง 3 สัปดาห์
ช่วงสัปดาห์แรกมีผู้ยื่นใบสมัครเพียงวันละ 20-30 คน
เข้าสู่สัปดาห์ที่ 2 มียอดผู้สมัครเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 100 คน
แต่พอถึงสัปดาห์ที่ 3 ยอดผู้สมัครพุ่งพรวดวันละกว่า 200 คน
“แม่ลูกจันทร์” ขอให้จับตากลุ่ม “คนดัง ขาใหญ่ บิ๊กเนม” ที่เพิ่งโผล่ไปยื่นใบสมัครช่วงโค้งสุดท้ายให้ดีๆ
เพราะคนกลุ่มนี้ถ้าไม่มั่นใจว่าจะได้รับการลากตั้งเป็น สปช.พระคุณท่านจะไม่เปิดตัวสมัครให้เสียรังวัดฟรีๆ
ปัญหาที่ต้องพิจารณาคือ การที่มีผู้เสนอชื่อเข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปมากกว่าห้าพันคน
แต่มีโควตาเก้าอี้จำกัดเพียง 250 ตัว
ทำให้อัตราการแข่งขันอยู่ที่ 1 ต่อ 20 โดยประมาณ
แต่ถ้าพิจารณาแบบแยกส่วนจะพบว่า ผู้สมัครเขตจังหวัดซึ่งมียอดรวมกว่าสองพันคน และมีโควตาจำกัดเพียงจังหวัดละ 1 คน
อัตราการแข่งขันจะสูงถึง 1 ต่อ 28 คน
สูงกว่าผู้สมัครส่วนกลาง ซึ่งมีโควตาเก้าอี้ 173 ตัว มีผู้สมัครไม่เกิน 3,000 คน
มีอัตราการต่อสู้อยู่ที่ 1 ต่อ 14 คน เท่านั้นเอง
อนึ่ง ถ้าโฟกัสแยกสายการปฏิรูปทั้ง 11 กลุ่มตามโรดแม็ป คสช. จะพบว่า จำนวนผู้สมัครแต่ละกลุ่มมีสัดส่วนแตกต่างกัน
บางกลุ่มมีผู้สมัครมากเกินคาด บางกลุ่มก็น้อยเกินควร
“แม่ลูกจันทร์” ชี้ว่า กลุ่มที่ต้องเบียดบี้หนักที่สุดคือกลุ่มปฏิรูปการเมือง และกลุ่มปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม
เพราะ 2 กลุ่มนี้มีแต่ผู้สมัคร “ขาใหญ่สายแข็ง” ทั้งนั้นเลย
ส่วนกลุ่มที่สู้กันไม่หนัก เนื่องจากจำนวนผู้สมัครน้อยเกินควร เช่น กลุ่มปฏิรูปเศรษฐกิจ กลุ่มปฏิรูปพลังงาน และกลุ่มปฏิรูปสื่อมวลชน
มีผู้เสนอชื่อชิงโควตาแต่ละกลุ่มไม่ถึง 100 คน
โอกาสผ่านการคัดเลือกรอบแรก 50 คน จึงหวานคอแร้งเป็นธรรมดา
แต่ใครจะได้รับการลากตั้งเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติตัวจริงเสียงจริง 250 คน??
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (หน.คสช.) จะเป็นผู้ตัดสินใจ
ฉะนั้น โฉมหน้าของสมาชิกสภาปฏิรูปฯจะออกมาแบบไหน จึงขึ้นอยู่ที่การตัดสินใจของ “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นสำคัญ
ถ้าตั้งโจทย์ให้การปฏิรูปครั้งใหญ่เพื่อให้สังคมไทยกลับคืนสู่ความปรองดอง
สมาชิกสภาปฏิรูป 250 คน ต้องมีความเป็นกลาง
ถ้าไม่กลาง...ไม่มีทางปฏิรูปสำเร็จพันห้าร้อยเปอร์เซ็นต์.
"แม่ลูกจันทร์"