สวัสดีค่ะคุณผู้อ่านที่รัก สัปดาห์นี้มาดามมีภาพยนตร์ฟอร์มใหญ่มานำเสนอ เรื่องราวสงครามระหว่างเผ่าพันธ์ุมนุษย์ (Human) กับวานร (Apes) ที่ไม่ได้ให้แค่ความตื่นเต้นเร้าใจเท่านั้น แต่เสียดสีสังคมมนุษย์อย่างร้ายกาจ รวมทั้งแฝงแนวคิดลึกซึ้ง ตีแผ่ด้านมืดของมนุษย์ โดยไว้อย่างแนบเนียน ผ่านลักษณะนิสัยและการกระทำของตัวละครแต่ละตัว

“Dawn of the Planet of the Apes” หรือชื่อไทย “รุ่งอรุณแห่งอาณาจักรพิภพวานร” เป็นภาคต่อของ “Rise of the Planet of the Apes” (กำเนิดพิภพวานร) ซึ่งถูกนำออกฉายในปี 2011 โดยได้รับกระแสตอบรับจากนักวิจารณ์และชมทั่วโลกเป็นอย่างดี ทำให้ยอดรายได้ถล่มทลาย ภาคต่อมาเลยได้รับการจับตามองเป็นพิเศษ ว่าผู้กำกับ “Matt Reeves” จะทำผลงานได้ดีเท่ากับผู้กำกับ “Rupert Wyatt” ของภาคที่แล้วหรือไม่

...
Ellie: “It was a virus created by scientists in a lab. You can’t honestly blame the apes?
แอลลี่: “มันเป็นไวรัสที่สร้างโดยนักวิทยาศาสตร์ในห้องแล็บ คุณจะโทษว่าเป็นเพราะพวกวานรทั้งหมดเลยหรือ?”
Carver: “Who the hell am I going to blame? It was a Simian Flu. They already killed off half the planet.”
คาร์เวอร์: “แล้วจะให้ผมโทษใคร? มันคือไข้ซีเมียน มันฆ่าคนไปแล้วกว่าครึ่งโลก”
ภาคที่แล้วเราได้ทราบกันแล้วว่า “ซีซาร์” (Andy Serkis) ลิงอัจฉริยะที่ถือกำเนิดในห้องทดลองของมนุษย์มีความเป็นมาอย่างไร รวมทั้งเรื่องราวมากมายที่ทำให้ลิงตนนี้กลายเป็นผู้นำของเผ่าพันธุ์ “วานร” …ที่เรียกตัวเองว่า “วานร” หรือในภาษาอังกฤษว่า “Apes” ไม่ใช่ “ลิง” หรือ “Monkey” อย่างที่เราคุ้นเคย เพราะสิ่งที่ซีซาร์และพรรคพวกเป็นนั้น เหนือชั้นกว่าการเป็นแค่สัตว์ธรรมดามากนัก โดยเฉพาะมันสมองที่ได้รับการพัฒนา ความสามารถทางด้านภาษาและสามัญสำนึกในด้านต่างๆทำให้ “ซีซาร์” แตกต่างจากลิงธรรมดาที่เราพบเห็นตามสวนสัตว์ทั่วไป

ที่สำคัญ “ซีซาร์” ได้รับการเลี้ยงดูและได้รับความรักอย่างเต็มเปี่ยมจากเจ้าของเดิม (นำแสดงโดย James Franco ในภาคที่แล้ว) ทำให้เขารู้จักและสนิทสนมกับมนุษย์มากกว่าวานรตัวอื่น ซึ่งมักได้เห็นแต่ด้านเลวร้ายของมนุษย์ โดยเฉพาะ “Koba” (Toby Kebbell) เพื่อนและผู้ช่วยคนสำคัญของซีซาร์ที่เคยถูกทดลองอย่างทารุณในห้องแล็บ ก่อนหน้าที่ซีซาร์จะไปช่วยปลดปล่อยออกมา และสั่งสมความเกลียดชังมาแรมปี จนผลักดันให้เกิดช่องว่างขนาดใหญ่ภายในเผ่าพันธุ์วานร

Koba: “Caesar loves humans more than apes.”
โคบา: “ซีซาร์รักพวกมนุษย์มากกว่าเหล่าวานร”
ถ้าใครเคยดูภาคที่แล้ว จะเห็นว่าตัวละครมีความ “ลึก” และ “ซับซ้อน” มากพอสมควร แต่ก็อยู่ในระดับที่เข้าใจได้ไม่ยาก และถือว่าเป็นจุดเริ่มต้น โดยเฉพาะตัวละคร “ซีซาร์” ที่เพิ่งได้ค้นพบอีกด้านหนึ่งของมนุษย์ ว่ามีความร้ายกาจในแบบที่ไม่เคยพบมาก่อน

...
ในภาคนี้ “ซีซาร์” มีความเป็น “มนุษย์” สูงขึ้นมากจนน่าตกใจ เรียกได้ว่ามีสามัญสำนึกดีกว่ามนุษย์บางคนเลยก็ว่าได้ แต่คุณสมบัติที่โดดเด่นสุด คงหนีไม่พ้น “ภาวะความเป็นผู้นำ” เพราะในภาคนี้ ซีซาร์มีสถานะเป็นถึงผู้นำของเผ่าพันธุ์วานร เป็นศูนย์รวมทุกสิ่งทุกอย่างของพวกพ้องที่รักและเชื่อฟังเขามากกว่าอะไรทั้งหมด

Caesar: “Apes do not want war!”
ซีซาร์: “วานรไม่ต้องการสงคราม”
“ภาวะความเป็นผู้นำ” ของซีซาร์ถูกท้าทาย เมื่อต้องรับมือกับความแปลกแยกทางความคิดในเผ่า รวมทั้งการปรากฏตัวของมนุษย์ ศัตรูตัวฉกาจที่เดาใจได้ยาก ว่าจะมาดีหรือตลบแตลงร้อยเล่ห์เหมือนที่ผ่านมา

...
Caesar: “If we go to war, we could lose all we’ve built.”
ซีซาร์: “ถ้าพวกเราทำสงคราม เราอาจต้องสูญเสียสิ่งที่เราพยายามสร้างมา”
เรียกได้ว่าภาคนี้ “มนุษย์” กลายเป็นตัวร้ายสมบูรณ์แบบค่ะ เพราะเป็นชนเผ่าที่คาดเดายากมากที่สุด ที่สำคัญ “ความเห็นแก่ตัว” และ “ความหวาดกลัว” ของมนุษย์ ก็เป็นตัวเร่งที่ดีให้เกิดสงครามระหว่างเผ่าพันธุ์ เช่นเดียวกันกับเผ่าพันธุ์วานร ที่ไม่นิยมชมชอบมนุษย์เป็นทุนเดิม การปรากฏตัวของกลุ่มมนุษย์ เหมือนเป็นลางบอกเหตุบางอย่าง ทำให้เกิดความระแวงจนกลายเป็นข้อพิพาทขนาดใหญ่ภายในกลุ่ม

Blue Eyes: “Fear make others turn.”
บลูอายส์: “ความกลัวทำให้ผู้คนเปลี่ยนไป”
ซีซาร์มองเห็นทุกอย่างและพยายามจะลดความรุนแรงของข้อพิพาทนั้น แต่จะทำสำเร็จหรือไม่ คิดว่าคุณๆ น่าจะหาโอกาสไปชมด้วยตัวเองในโรงภาพยนตร์ รับรองว่าได้ลุ้นระทึกกันทั้งเรื่องแน่ๆ แค่ท่าทางแผดเสียงก้องป่าของวานรแต่ละตนก็ทำเอาอึ้งกันไปหมด ไหนจะท่าทางการต่อสู้อย่างคล่องแคล่วของวานรแต่ละตน ที่ทำเอาหนังอัศวินยุคโบราณยังต้องอาย
...
ตัวอย่างภาพยนตร์ "Dawn of the Planet of the Apes" (2014)
จนกว่าจะพบกันใหม่สัปดาห์หน้า
มาดามอองทัวร์
Twitter: @MadamAutuer