สสจ.หนองคาย เตือนระวังโรคเมลิออยโดสิส อาการคล้ายฉี่หนู แต่รุนแรงกว่า เผยหนองคายป่วยแล้ว 14 ราย เสียชีวิต 5 ราย แนะเกษตรกรลุยน้ำย่ำโคลนต้องระวัง

วันนี้ (8 ก.ค. 57) นพ.วิวรรธน์ ก่อวิริยกมล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) หนองคาย เผยว่า ในช่วงฤดูฝนจะมีโรค "เมลิออยโดสิส" ไม่ใช่โรคใหม่ เกิดขึ้นนานกว่า 50 ปีแล้ว เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย อาการของโรคจะคล้ายกับโรคเลปโตสไปโรซีส หรือ "ฉี่หนู" แต่ความรุนแรงจะมีมากกว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-1 ก.ค. 57 ประเทศไทยมีรายงานผู้ป่วยโรคเมลิออยโดสิส ทั้งหมด 1,252 ราย พบมากที่ภาคเหนือและภาคอีสาน โดย จ.หนองคาย พบผู้ป่วยมีผลการตรวจเพาะเชื้อยืนยันทางห้องปฏิบัติการ 14 ราย เสียชีวิตแล้ว 5 ราย สูงเป็นอันดับแรกของสาเหตุการตายด้วยโรคเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา

นพ.วิวรรธน์ กล่าวว่า โรคเมลิออยโดสิส ไม่มีชื่อเป็นภาษาไทย ส่วนใหญ่จะเกิดกับผู้ที่ต้องลุยน้ำย่ำโคลน โดยเฉพาะเกษตรกรชาวไร่ ชาวนา ยิ่งในช่วงที่ต้องไถหว่าน ปักดำ นับเป็นช่วงที่พบการติดเชื้อนี้ได้ง่าย สัตว์ที่เป็นพาหะนำโรค มีแพะ แกะ หมู วัว และหนู ที่มักจะปล่อยของเสียในธรรมชาติ จะมีเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรค เมื่อคนที่มีแผลอยู่แล้ว หรือแช่น้ำ ย่ำโคลนเป็นเวลานาน ก็เสี่ยงต่อการติดเชื้อและเจ็บป่วยด้วยโรคนี้ได้ เป็นโรคที่ไม่ติดต่อจากคนสู่คน ส่วนสัตว์ก็สามารถเป็นโรคนี้ได้เช่นกัน

นายแพทย์ สสจ.หนองคาย แนะนำว่า ผู้ที่หลีกเลี่ยงการลุยน้ำย่ำโคลนไม่ได้ ให้ป้องกันด้วยการสวมรองเท้าบูท หลีกเลี่ยงการแช่น้ำเป็นเวลานานๆ เมื่อขึ้นจากน้ำแล้วให้รีบล้างมือ ล้างเท้า ทำความสะอาดร่างกาย หากติดเชื้อจะมีผื่น แผลตามร่างกาย มักจะปวดตามข้อ กระดูก และเชื้อจะเข้าปอด ทำให้เป็นปอดบวมแทรกซ้อนได้ ซึ่งยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคนี้ เพียงแต่ดูแลรักษาตามอาการ ดังนั้น เมื่อมีอาการต้องสงสัยให้รีบพบแพทย์ทันที

...

นอกจากนี้ สำหรับสถานการณ์โรคเลปโตสไปโรซีส หรือ "ฉี่หนู" ในพื้นที่ จ.หนองคาย มีผู้ป่วย 7 ราย เป็นเพศชายทั้งหมด ยังไม่มีผู้เสียชีวิต ซึ่งช่วงฤดูฝนจะต้องเฝ้าระวังโรคฉี่หนูและโรคเมลิออยโดสิส เป็นสำคัญ.