พิธีสู่ขวัญควาย หรือ ฮ้องขวัญควาย
ประเพณีไทยเก่าแก่ที่เป็นการขออโหสิกรรมต่อควาย ระลึกถึงบุญคุณควายที่ทำประโยชน์ให้ชาวนามากมาย โดยจะจัดขึ้นหลังฤดูหว่านไถและดำนาเสร็จ
หากถามหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่ยุคโซเชียลเน็ตเวิร์กสมัยนี้ คงนึกภาพไม่ออกว่า ประเพณีที่ว่ามีรูปแบบวิธีการอย่างไร แต่สำหรับผู้เฒ่าผู้แก่และชาวบ้านที่หมู่บ้านสันสลี ต.เจริญราษฎร์ อ.แม่ใจ จ.พะเยา พื้นที่ซึ่งยังคงอนุรักษ์พันธุ์ควายในหมู่บ้านที่มีอยู่ประมาณ 300 กว่าตัว ให้คำตอบได้ดีว่าเป็นประเพณีที่มีคุณค่าทางจิตใจ ทั้งได้มีการฟื้นฟูประเพณีดำนาและสู่ขวัญควายในปี พ.ศ.2554 แต่น่าเสียดายที่ไม่ได้ดำเนินการต่อเนื่อง
กระทั่งในปี 2557 นี้ สาขาสัตวศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยพะเยา (มพ.) ได้จัดทำเป็นหนึ่งในโครงการ 1 คณะ 1โมเดล โดยดำเนินการร่วมกับ กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงควาย บ้านสันสลี ต.เจริญราษฎร์ อ.แม่ใจ เทศบาลตำบลเจริญราษฎร์ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดพะเยา ศูนย์วิจัยการผสมเทียมและเทคโนโลยีเชียงใหม่ และสถานีวิจัยและปรับปรุงพันธุ์สัตว์จังหวัดพะเยา ฟื้นฟูประเพณีดังกล่าวขึ้นมาอีกครั้งเพื่อสืบสานศิลปวัฒน-ธรรมไทยให้คงอยู่สืบไป
ที่สำคัญคือ การดึงนิสิตรั้ว มพ.เข้ามาร่วมเรียนรู้ เพื่อร่วมรักษา อนุรักษ์และสืบทอดต่อไปในอนาคต
เกริ่นถึงโครงการมาขนาดนี้ เชื่อว่าหลายคน ซึ่งรวมถึง “ยายรหัส” คงอยากรู้แล้วละซิว่า พิธีสู่ขวัญควาย จะมีพิธีกรรมอย่างไร
ดร.พยุงศักดิ์ อินต๊ะวิชา อาจารย์สาขาสัตว-ศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ มพ. รับอาสามาอธิบายให้เห็นภาพว่า “เครื่องประกอบในพิธีสู่ขวัญควายประกอบด้วย บายศรี กรวยดอกไม้และด้าย สำหรับผูกเขาควายเวลาสู่ขวัญ หญ้าอ่อนหนึ่งหาบสำหรับเป็นรางวัลแก่ควาย ข้าวปลาอาหาร 1 กล่อง ไก่ต้มหนึ่งคู่ เหล้าหนึ่งไห ขนมหมากพลูและน้ำขมิ้นส้มป่อยสำหรับประพรมควาย นำวางบนเสื่อที่ปูไว้ในแหล่งหรือคอกควาย หลังจากนำควายไปอาบน้ำจนสะอาดแล้วให้นำไปไว้บริเวณพิธี จากนั้นผู้ประกอบพิธีก็จะทำพิธีปัดเคราะห์ เรียกขวัญจนแล้วเสร็จ เอาด้ายผูกกรวยดอกไม้ติดกับเขาควาย แล้วนำขมิ้นส้มป่อยประพรมเพื่อให้ควายอยู่สบาย พอทำพิธีเสร็จเจ้าของยกเครื่องข้าวขวัญออกไป และนำหญ้าอ่อนมาให้ควายกิน เป็นอันเสร็จพิธี ซึ่งชาวบ้านจะทำพิธีหลังจากที่ดำนาเสร็จ”
หันมาฟังเสียงนิสิตสาขาสัตวศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ มพ. ปี 4 ที่ร่วมในพิธี ซึ่ง มพ.ได้จัดขึ้นว่าจะรู้สึกอย่างไรกันบ้าง เริ่มที่ อธิวัฒน์ จำนง “แชมป์” พูดถึงโครงการนี้ว่า “ผมได้มีส่วนร่วมในพิธีตั้งแต่เตรียมสถานที่ และเข้าร่วมในพิธี นับว่าเป็นโครงการที่ดี มีประโยชน์ และยังได้รู้ถึงความสำคัญของควายไทยในวิถีชีวิตของชาวบ้าน อยากฝากถึงเพื่อนๆทุกคนว่า ควายไทยเป็นสัตว์ที่อยู่คู่กับสังคมไทยและมีบุญคุณ ทำให้เราได้มีข้าวกิน จึงอยากเชิญชวนให้มาร่วมพิธีสู่ขวัญควายไทย เพื่อสืบสานประเพณีและระลึกถึงความสำคัญของควายไทยครับ”
ส่วน “มิ้นนี่” ศุภมาส ประสมสุข เล่าว่า “ดีใจมากที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์ประเพณีสู่ขวัญควาย ได้เห็นขั้นตอนต่างๆในการทำพิธี ซึ่งหาดูได้ยากในสมัยนี้ พิธีนี้ทำให้คนรุ่นหลังได้มีจิตสำนึกและเห็นความสำคัญของควายไทย อยากบอกทุกคนว่าควายมีบุญคุณกับเรา ทำให้เรามีข้าวกิน จึงไม่ควรปล่อยให้พิธีสู่ขวัญควายหายไป เพราะเป็นการขอขมากับควาย”
ขณะที่ ทรงอนันต์ ทิพย์สุภา “อาร์ตี้” เสริมว่า “รู้สึกดีมากที่ ม.พะเยาจัดพิธีสู่ขวัญควายขึ้น ทำให้เราได้เรียนรู้วัฒนธรรมพื้นบ้านไทย ซึ่งในฤดูทำนา
เราต้องใช้แรงควายไถนา ดั้งนั้น พิธีสู่ขวัญควาย ทำให้เราได้มีโอกาสขอขมาในสิ่งที่เราทำไม่ดีกับควาย และอยากบอกเพื่อนๆว่า ควายมีประโยชน์กับการทำการเกษตรกรรมของไทย ดังนั้นเราควรให้ความสำคัญและอนุรักษ์ควายไทยให้อยู่กับเราไปนานๆ”
ปิดท้ายที่ “น้ำหอม” อทิชา สิงห์เถิน กล่าวว่า “รู้สึกภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์และสืบสานประเพณีไทย ซึ่งเห็นได้ไม่บ่อยแล้วในปัจจุบัน รวมไปถึงได้รับความรู้เพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องกับวิชาผลิตสัตว์เคี้ยวเอื้อง ซึ่งเป็นวิชาที่เรียนในภาคการศึกษานี้ สำหรับพิธีสู่ขวัญควาย น้ำหอมได้มีส่วนร่วมตั้งแต่ช่วยอาจารย์จัดสถานที่ที่ทำพิธี และเข้าร่วมทำพิธีตั้งแต่ต้นจนจบ ทำให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับควายที่เป็นไปด้วยความอ่อนโยน เอื้ออาทรและรู้ถึงบุญคุณของควายด้วยค่ะ”
พิธีสู่ขวัญควาย หรือ ฮ้องขวัญควาย เป็นอีกหนึ่งในหลายประเพณีไทยที่ทรงคุณค่า ซึ่งเชื่อว่าแต่ละพื้นที่ของสถาบันอุดมศึกษา ยังมีประเพณีวัฒนธรรมไทยที่หลายคนอาจจะยังไม่เคยเห็นหรือรับรู้
“ยายรหัส” จึงขอเป็นแรงกระตุ้นสนับสนุนให้คนหนุ่มสาวรั้วมหาวิทยาลัยได้ศึกษาค้นคว้าประเพณีที่ดีงามในแต่ละพื้นที่
เพื่อร่วมกันฟื้นฟู และสืบสานให้ประเพณีวัฒนธรรมความเป็นไทยคงอยู่จนชั่วลูกชั่วหลาน.
ยายรหัส/ รายงาน