มหิดล-ยูนิเซฟ ร่วมมือวิจัยผลกระทบการย้ายถิ่นที่มีผลต่อเด็ก ชี้เด็กกว่า 3 ล้านคนในประเทศไทยไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ แต่อยู่กับตายายแทน ชี้ เหมือนเป็นเรื่องธรรมดา แต่มีผลกระทบต่อพัฒนาการเด็ก...

เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.57 นายแอนดรู เคล์โปล หัวหน้าแผนกวิเคราะห์นโยบาย องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) กล่าวในงานนำเสนอผลกระทบของการย้ายถิ่นภายในประเทศที่มีต่อชีวิตวัยเด็กว่า ในประเทศไทยมีเด็กร้อยละ 21 หรือกว่า 3 ล้านคนที่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ เนื่องจากพ่อหรือแม่หรือทั้งคู่ต้องย้ายถิ่นเพื่อไปหางานทำในเมือง อัตรานี้ถือเป็นปรากฏการณ์สำคัญที่อาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการและความเป็นอยู่ของเด็กในระยะยาว นอกจากนี้ ข้อมูลจากการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ. 2555 ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ด้วยการสนับสนุนจากยูนิเซฟ ยังชี้ให้เห็นว่า ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย มีเด็กถึงร้อยละ 30 (หรือเด็ก 1 ใน 3) ที่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ เนื่องจากพ่อแม่ย้ายถิ่นเพื่อไปหางานทำในภาคอื่นๆ ของประเทศ ทั้งนี้ จำนวนเด็กที่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ในประเทศไทยถือว่าสูงมาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ และถือเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง

นายแอนดรู กล่าวต่อไปว่า สังคมไทยอาจคิดว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาที่ปู่ย่าตายายจะเลี้ยงดูหลาน ในขณะที่พ่อแม่ย้ายถิ่นไปหางานทำที่อื่น แต่จริงๆ แล้วมันไม่ธรรมดา ปรากฏการณ์ในประเทศไทยที่มีเด็กจำนวนมากไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ และไม่เหมือนในประเทศอื่นๆ ที่เราทำการสำรวจ โดยข้อมูลจากการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศอื่นๆ ชี้ให้เห็นว่า ในประเทศลาว มีเด็กเพียงร้อยละ 5 เท่านั้นที่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่เนื่องจากการย้ายถิ่นภายในประเทศ ในขณะที่เวียดนาม คอสตาริกา และไนจีเรีย อัตรานี้อยู่ที่ร้อยละ 4.4, ร้อยละ 3.4, ร้อยละ 6.5 ตามลำดับ

...

ทั้งนี้ การศึกษาล่าสุด เรื่อง ผลกระทบของการย้ายถิ่นภายในประเทศที่มีต่อชีวิตวัยเด็ก: การศึกษาระยะยาวด้วยวิธีผสมผสาน ซึ่งเก็บข้อมูลโดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ด้วยการสนับสนุนจากยูนิเซฟนั้น ขณะนี้ กำลังศึกษาข้อมูลของเด็กวัยแรกเกิดจนถึงสามขวบจำนวน 1,000 คน ที่อยู่กับพ่อแม่และไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ เพื่อดูถึงผลกระทบของการย้ายถิ่นของพ่อแม่ที่มีต่อพัฒนาการด้านต่างๆ ของลูกในระยะยาว ตลอดจนความเป็นอยู่ของผู้ดูแล เช่น ภาวะสุขภาพจิต การติดต่อและการส่งเงินกลับของพ่อแม่ การศึกษานี้ถือเป็นการศึกษาระยะยาวเกี่ยวกับเรื่องนี้ครั้งแรกของประเทศไทย ที่จะวัดพัฒนาการด้านต่างๆ ของเด็กกลุ่มนี้เป็นเวลา 4 ปี โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2556

"ร้อยละ 40 ของพ่อที่ย้ายถิ่นไปหางานทำไม่เคยส่งเงินกลับบ้านเลยในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ในขณะที่พ่อย้ายถิ่นเกือบร้อยละ 30 ไม่เคยติดต่อกลับมา ซึ่งการศึกษาครั้งนี้จะช่วยเพิ่มความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบทางลบจากการย้ายถิ่นในประเทศที่มีต่อพัฒนาการของเด็ก และจะช่วยชี้ให้เห็นถึงต้นทุนทางสังคมและทางอารมณ์ของเด็ก พ่อแม่ ปู่ย่าตายายและผู้ดูแล จากการที่ต้องอยู่ห่างกันเป็นระยะเวลานานเนื่องจากการย้ายถิ่น" นายแอนดรู กล่าว

ด้าน ดร.อารี จำปากลาย หัวหน้าทีมวิจัย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในการวิจัยยังพบว่าร้อยละ 36 ของผู้ดูแลเด็ก ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือปู่ย่าตายาย อยู่ในภาวะเสี่ยงด้านสุขภาพจิต และเกือบร้อยละ 90 ของเด็กที่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ อยู่กับปู่ยาตายายแทน ซึ่งส่วนมากจบชั้นประถมศึกษา นอกจากนี้ ผลการศึกษาในปีแรกยังชี้ว่า ร้อยละ 25 ของเด็กที่ไม่อยู่กับพ่อแม่ มีพัฒนาการล่าช้าเมื่อเทียบกับร้อยละ 16 ของเด็กที่อยู่กับพ่อแม่ โดยมีพัฒนาการล่าช้ากว่าในเกือบทุกด้าน โดยเฉพาะด้านภาษา เช่น การรู้ความหมาย หรือการผสมคำต่างๆ ทั้งนี้ การศึกษาครั้งนี้จะติดตามเด็กทั้ง 1,000 คน ไปอีก 2 ปีข้างหน้า และคาดว่าจะสรุปผลการศึกษาได้ในปี 2559.