
นากุ้ง....อดีตเป็น แหล่งผลิตสินค้าเกษตรที่ได้รับความนิยมมาก แต่ไม่นานก็มีอันล่มสลายเพราะสภาพสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม ต่างจำต้องเลิกท่าล่าถอยทิ้งพื้นที่นับแสนๆไร่กลายเป็น....นาร้าง!!
ลุ่มน้ำปากพนัง นครศรีธรรมราช ก็เป็นหนึ่งแห่งซึ่งตก อยู่ในสภาพเดียวกัน
คุณดำรงค์ จิระสุทัศน์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร บอกว่า...ลุ่มน้ำปากพนังแห่งนี้มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 2,582 มิลลิเมตรต่อปี และดินมีลักษณะเหนียว ความอุดมสมบูรณ์ไม่ค่อยดีนัก มีการระบายน้ำต่ำ พืชที่เหมาะสมต่อการผลิตคือปาล์มน้ำมัน
ปี 2540....กรมวิชาการเกษตร โดย สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7 (สวพ.7) จึงดำเนินการ พัฒนาปรับใช้พื้นที่เพื่อปลูกปาล์มน้ำมัน ด้วยการนำชุดเทคโนโลยีเข้าไปใช้ เป็นการทดสอบในระยะแรก...
เริ่มด้วยการ...จัดการพื้นที่และจัดการธาตุอาหาร แล้วเอาปาล์มน้ำมันพันธุ์ลูกผสมสุราษฎร์ธานี มาทดลองปลูก โดย ดึงเกษตรกรในพื้นที่ให้เข้ามามีส่วนร่วมฯ
“...นอกจากนั้นก็ได้สร้างแปลงต้นแบบการผลิตปาล์มน้ำมันและแปลงเรียนรู้ 207 ไร่ โดยแบ่งส่วนเป็น 11 แปลง กระจาย ให้เกษตรกรได้เอาความรู้เหล่านี้ไปปรับใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต....
...พร้อมทั้งจัด ฝึกอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยีการจัดการและเพิ่มประสิทธิภาพการปลูกปาล์มฯ ในดินนากุ้งร้าง ตลอดที่ผ่านมา 16 ปี เกษตรกรได้รับการฝึกอบรมไปแล้วกว่า 7,500 ราย....”
(...การบำรุงดินนากุ้งร้าง โดยเพิ่มอินทรียวัตถุ 30 กิโลกรัม/ต้น/ปี เมื่อมีการจัดการสวนที่ถูกต้อง ทำให้ปาล์มน้ำมันเจริญเติบโตดี ที่อายุ 6-8 ปี ให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นจาก 2.78 ตัน/ไร่/ปี เป็น 4.10 ตัน/ไร่/ปี
...ส่วนในพื้นที่นา (ข้าว) ร้าง ปาล์มน้ำมันอายุ 4-15 ปี ให้ผลผลิตเฉลี่ย 3.70 ตัน/ไร่/ปี...)
จากแปลงตัวอย่าง 207 ไร่ ปัจจุบันมีการขยายผลการผลิตปาล์มน้ำมันในลุ่มน้ำปากพนังเป็น 213,000 ไร่ รูปธรรมที่เกิดขึ้น ยืนยันว่า เกษตรกรสามารถปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่นาร้างและนากุ้งร้าง เป็นอาชีพได้อย่างเหมาะสม...
...ผลงานวิจัยชิ้นนี้เป็น 1 ใน 21 เรื่อง ที่ได้รับรางวัลในปี 2557...!!
ดอกสะแบง