แพทย์ ชี้ จากผลวิจัยของผู้ที่อยู่ในวัยกลางคนและสูงอายุที่นอนกลางวัน เสี่ยงกับการเสียชีวิตนั้น อาจเป็นเพียงปัจจัยเตือนของโรคแทรกซ้อนอื่นในร่างกายได้ หรือผลจากการหลับกลางคืนไม่สนิท ต้องมางีบกลางวันแทน...
จากผลการวิจัยผู้ที่อยู่ในวัยกลางคนและสูงอายุ ที่ชอบแอบนอนตอนกลางวัน เพื่อทดแทนการอดนอนตอนกลางคืน ควรจะระวังตัว เพราะมีผลการศึกษาว่า การประพฤติเช่นนั้นจะทำให้เสี่ยงกับการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร โดยเฉพาะจากโรคของระบบทางเดินหายใจ
นักวิจัยของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ แห่งประเทศอังกฤษ พบว่า ผู้ที่มีอายุ ในระหว่าง อายุ 40-65 ปี จะเสี่ยงกับการเสียชีวิต หากว่านอนกลางวันนานเกินกว่า 1 ชั่วโมง มากกว่าผู้ที่ไม่ได้ทำเช่นนั้นเกือบ 2 เท่า
ล่าสุด "ไทยรัฐออนไลน์" ได้สอบถามไปยัง นพ.ธีรกร ธีรกิตติกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรศาสตร์ ระบบการหายใจและโรคที่เกิดจากนอนหลับ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่กล่าวเพิ่มเติมในประเด็นนี้ว่า การนอนกลางวันของคนวัยกลางคนและผู้สูงอายุที่มากกว่าปกติ อาจเกิดจากผลกระทบของการนอนหลับเวลากลางคืนที่ไม่ได้คุณภาพ หรือหลับไม่สนิทต่อเนื่อง หรืออาจมีโรคที่ผู้สูงอายุเป็นอยู่เดิม เช่น โรคที่มักมีอาการมากในเวลากลางคืน อาการในระบบทางเดินหายใจ อาการนอนกรน ที่ทำให้หลับไม่สนิท มีการสะดุ้งตื่นบ่อย เป็นต้น ทำให้หลับไม่สนิทในเวลากลางคืน ต้องมางีบหลับอีกครั้งในเวลากลางวันเพิ่ม
ทั้งนี้ โดยปกติแล้ว คนวัยกลางคน หรือผู้สูงอายุ ควรนอนหลับสนิทในเวลากลางคืนอย่างต่อเนื่องประมาณ 6-8 ชั่วโมงโดยเฉลี่ย โดยธรรมชาติของมนุษย์ทั่วไปแล้วนั้น ร่างกายจะตื่นตัวกระปรี้กระเปร่าในช่วงเช้า หลังจากนั้นจะค่อยๆ ลดลง โดยเฉพาะเวลาประมาณ 12.00-14.00 น.นั้น จะเริ่มมีอาการง่วงเหงาหาวนอนได้ กรณีนี้อาจเกิดได้ในผู้สูงอายุเช่นกัน ซึ่งการงีบตอนบ่าย 30 นาที-ไม่เกิน 1 ชั่วโมง ถือเป็นเรื่องทำได้
ดังนั้น การนอนกลางวันเป็นเวลานานเกินกว่า 1 ชั่วโมงนั้น อาจเป็นสัญญาณเตือนภาวะโรค หรือผลกระทบของโรคที่เกิดขึ้นในร่างกาย แต่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่า เป็นอาการของโรคใด เป็นจุดเริ่มต้นที่จะไปตรวจเช็กร่างกาย หรือพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุต่อไปได้ ฉะนั้น การนอนหลับในตอนกลางวัน จึงไม่ได้เป็นปัจจัย หรือสาเหตุโดยตรงที่จะทำให้เสียชีวิตได้.