
กฎหมายกลายเป็นประเด็นการโต้เถียงกันอีกครั้ง อดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้เปิดประเด็นขึ้นมา โดยกล่าวว่าบ้านเมืองขณะนี้วุ่นวาย เพราะกติกาไม่เป็นกติกา กฎหมายไม่เป็นกฎหมาย แต่ไม่ได้ยกตัวอย่างที่ชัดเจน จึงต้องสันนิษฐานเอาว่าน่าจะหมายถึงการเมืองไทยในปัจจุบัน ซึ่งกลับคืนสู่ความขัดแย้งที่ยืดเยื้ออีกครั้ง
เสียงวิจารณ์ที่ว่ากฎหมายไม่เป็นกฎหมาย ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับสังคมไทย แต่เคยเป็นประเด็นปัญหามานาน เช่นในยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน หลังการลุกฮือต่อสู้ของนักศึกษาประชาชน 14 ตุลาคม 2516 องค์กรนิสิตนักศึกษาเคยถูกกล่าวหา “ใช้กฎหมู่อยู่เหนือกฎหมาย” ส่วนในปัจจุบันหลายฝ่ายชี้หน้าด่ากันและกัน หาว่าอีกฝ่ายไม่เคารพกฎหมาย
ฝ่ายรัฐบาลโจมตี กปปส.ตั้งหน้าจะฉีกรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 7 ขณะที่ฝ่ายเห็นต่างกล่าวหารัฐบาลว่า ไม่เคารพรัฐธรรมนูญ ไม่ยอมรับอำนาจศาลและองค์กรอิสระ หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญและ ป.ป.ช.ทำให้รัฐบาลไม่พอใจหลายครั้ง ด้วยการวินิจฉัยให้การเลือกตั้งโมฆะและเตรียมเล่นงาน นายกรัฐมนตรี
รัฐมนตรียุติธรรมโจมตีกลุ่ม “รัฐบุคคล” ที่เสนอให้ร่างพระบรมราชโองการ เพื่อนำประเทศออกจากภาวะวิกฤติ โดยอ้างว่าไม่มีกฎหมายรองรับ แต่รัฐมนตรียุติธรรมเสนอให้รัฐบาลใช้มาตรา 7 เพื่อทูลเกล้าฯขอพระราชวินิจฉัย ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้นายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง และห้ามปฏิบัติหน้าที่ ก็ไม่มีกฎหมายรองรับเช่นกัน
ไม่มีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตราใดให้พระมหากษัตริย์ทรงวินิจฉัย กรณีที่มีความขัดแย้งเกี่ยวกับการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะพระองค์ไม่ใช่ศาล ทรงอยู่เหนือการเมืองและความขัดแย้ง แต่รัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัดว่า ถ้ามีปัญหานายกรัฐมนตรีถูกกล่าวหาทำผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 268 กรณีการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ ให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ตัดสิน
ฝ่ายรัฐบาลอ้างว่ารัฐบาลมีอำนาจเด็ดขาด ในการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ เป็นข้ออ้างที่ไม่จริง อย่างระดับนายพล นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งเองไม่ได้ ต้องผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการกลาโหม ส่วนกระทรวงอื่นๆต้องผ่าน ก.พ.และต้องเป็นการแต่งตั้งโดยสุจริต ห้ามมีวาระซ่อนเร้นกระทำเพื่อตนเองหรือผู้อื่น มิฉะนั้นอาจหลุดนายกรัฐมนตรี
แต่การโต้เถียงกันเรื่องกฎหมาย ต้องถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี เพราะก่อนหน้านี้เห็นพูดแค่ “การเลือกตั้งคือประชาธิปไตย” ไม่ได้เอ่ยถึงองค์ประกอบอื่นๆ ของประชาธิปไตย เช่น หลักสิทธิเสรีภาพประชาชน หลักนิติธรรม และหลักการตรวจสอบถ่วงดุล รัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่า “บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย” ไม่ว่าจะเป็นนายกฯหรือใครๆ ก็ต้องอยู่ใต้กฎหมาย.