
ล้ม (เหลว) บ้างก็ดี?
โลกยุคนี้ที่แข่งขันกันสูง คนมักให้รางวัลความสำเร็จ เกลียดความผิดพลาด แต่จริงๆแล้ว คุณค่าของความล้มเหลวมีอยู่หรือไม่? เป็นคำถามชวนคิด
เพื่อเป็นการเปิดเวทีให้คนถกเถียงถึงแง่มุมเชิงความรู้เรื่องความล้มเหลว (failure) และการที่มันสร้างสิ่งดีๆในทุกแง่มุมชีวิต ทำให้ แอน เอ็นไรท์ นักเขียนมือรางวัล “บุ๊กเกอร์ไพรซ์” จัดนิทรรศการขึ้นที่ไซแอนซ์ แกลเลอรี ใน “ทรินิตี คอลเลจ” ในกรุงดับลินของสาธารณรัฐไอร์แลนด์ และจึงได้มีแง่มุมดีๆ ออกมา
“คนเราต่างกลัวล้มเหลวหรือกลัวที่จะยอมรับความผิดพลาด อาการกลัวจะยิ่งมีมาก เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่” ฮีทเธอร์ ฮันบิวรี ครูใหญ่ ร.ร. มัธยม “วิมเบิลดัน ไฮสคูล” ที่เคยจัด “สัปดาห์แห่งความล้มเหลว” สอนลูกศิษย์ให้รู้จักยืดหยุ่นและเรียนรู้จากความผิดพลาด ให้ทัศนะ
“(สังเกตสิ!) เด็กๆไม่เคยกลัวล้มเหลว กลับรู้สึกสนุกที่จะพยายามทำสิ่งใหม่ๆและเรียนรู้เร็วมาก” ฮันบิวรีเสริม
ฮันบิวรีบอกด้วยว่า ความกลัวการล้มเหลวจะมีผลกับเด็กผู้หญิงมากกว่าเด็กผู้ชาย เพราะเด็กผู้หญิงถูกพ่อแม่ตั้งค่าใส่หัว (เซตโปรแกรม) มาตั้งแต่เล็กๆเพื่อทำให้ผู้ใหญ่พอใจ พอโตมาก็จะจำเอาว่า ทำให้ผู้ใหญ่พอใจหรือแฮปปี้ นั่นคือทำสิ่งถูกต้อง และนั่นหมายถึงเลี่ยงการล้มเหลวทุกกรณี
“ถ้าจะให้พูดบางอย่างกับพ่อแม่เด็กโดยเฉพาะเด็กผู้หญิง ก็คงจะเป็นว่าอย่าพยายามทำให้เห็นว่าคุณเห็นดีเห็นงามด้วยที่ลูกสาวทำอะไรน่ารักๆเพื่อให้คุณรักชอบ แต่จงแสดงให้เห็นว่าคุณโอเค! ถ้าลูกสาวจะซุกซนบ้าง”
การสลัดหรือปลดปล่อยมลทินหรืออัปยศที่มากับความล้มเหลว ช่วยเปิดประตูสู่ชัยชนะยิ่งใหญ่ได้ เช่น แอนดี เมอร์เรย์ ที่แพ้นัดชิงศึกเทนนิสแกรนด์ สแลม “วิมเบิลดัน 2012” แล้วถึงกับร้องไห้โฮ! บางคนเชื่อว่าการยอมรับและร้องไห้ ช่วยปลดปล่อยจากความกลัวล้มเหลว ก่อนที่ปีต่อมาเมอร์เรย์จะสมใจปิดฉาก 77 ปีการรอคอยคนอังกฤษเป็นแชมป์รายการนี้ลงได้
ในแง่ของธุรกิจการค้า ความล้มเหลวยิ่งมีสูง โดยเฉพาะห้วง 5 ปีแรกเริ่มธุรกิจ แต่มีองค์กรสอนคนให้คิดใหม่
“เราสอนผู้ประกอบการให้แยกแยะออกระหว่างความล้มเหลวโดยสุจริตและไม่สุจริต” สจ๊วต แม็คทาวิช ผอ.ศูนย์ช่วยผู้ประกอบการ “IdeaSpace” ในเมืองเคมบริดจ์ บอก
“ถ้าธุรกิจไม่เวิร์ก! แต่เพราะหลังจากคุณพยายามทำทุกอย่างแล้ว นี่เรียกว่าล้มเหลวโดยสุจริตและน่ายกย่อง ตรงข้าม! ธุรกิจเจ๊ง! เพราะคุณไม่ศึกษาลูกค้า สักแต่ว่าทำไปวันๆ นี่เรียกว่าล้มเหลวโดยทุจริต” แม็คทาวิชทิ้งท้าย.
เกรียงศักดิ์ จุนโนนยางค์