
ศาลรัฐธรรมนูญตีความแล้วว่าเลื่อนการเลือกตั้งได้ ให้นายกฯ-ประธาน กกต.ไปหารือกัน ที่เคยอ้างว่าไม่มีอำนาจก็เลิกพูดได้แล้ว แต่พวกที่ไม่ยอมรับอำนาจศาลมันก็แถกไปเรื่อยๆนั่นแหละ
ข่าว “เขย่าขวด” สุดสัปดาห์นี้เมื่อยังไม่ถึงจุดจบก็ต้องขับเคลื่อนกันต่อไปทั้งรัฐบาลและ กปปส.จนกว่าจะถึงวาระสุดท้าย
ล่าสุดศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ 8 ต่อ 0 วินิจฉัยว่าการเลื่อนการเลือกตั้งออกไปสามารถกระทำได้
แต่การจะเลื่อนออกไปต้องให้ประธานกกต.และนายกฯปรึกษาหารือกัน
กกต.และ ครม.มีอำนาจจัดการเลือกตั้งคนละครึ่ง...ว่างั้นเถอะ
ในฐานะที่นายกฯและประธาน กกต.ต่างก็เป็นรักษาการตามพระราชกฤษฎีกาภายใต้บทบาทหน้าที่ที่แตกต่างกัน
กกต.มีหน้าที่จัดการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตยุติธรรม
นายกฯจะต้องสนับสนุนงบประมาณและบุคลากร
ซึ่งก็คงจะแน่นอนแล้วว่าวันที่ 26 ม.ค.57 จะมีการเลือกตั้งล่วงหน้าซึ่งจะเป็นภาพสะท้อนการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.57 ได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ดี นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้งบอกว่าจะให้มีการเลือกตั้งล่วงหน้าไปก่อนจากนั้นวันที่ 27 ม.ค.57 จะมีการหารือเพื่อให้รัฐบาลเลื่อนการเลือกตั้งออกไป
ก่อนหน้านี้ กกต.ได้ทำหนังสือขอให้นายกฯเลื่อนวันเลือกตั้งออกไปก่อนเพราะจะทำให้เกิดความขัดแย้งที่รุนแรงมากขึ้น
แต่รัฐบาลไม่ยอม อ้างว่าไม่มีกฎหมายรองรับ
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าสามารถเลื่อนการเลือกตั้งได้ รัฐบาลจะเอายังไง จะยอมเลื่อนวันเลือกตั้งออกไปก่อนหรือไม่
หรือจะยืนยันตามเจตนารมณ์เดิมต่อไป
เพราะถ้าเลื่อนวันเลือกตั้งออกไปยิ่งนานเท่าใด สถานภาพของรัฐบาลที่กำลังย่ำแย่อยู่แล้วก็จะแย่มากเข้าไปอีกและการเลือกตั้งก็เป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะรักษาอำนาจเอาไว้และมีความชอบธรรมที่จะใช้เสียงสนับสนุนจากการเลือกตั้งมาเป็นเงื่อนไขต่อสู้กับ กปปส.
อย่างไรก็ดี แม้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะชี้ผลออกมาอย่างไรก็ไม่มีผลต่อ กปปส.ที่ยืนยันว่าต้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง
นั่นคือการเคลื่อนไหวกดดันให้นายกฯ ลาออกไม่ว่าจะช้าหรือเร็วก็ตาม เพราะหากไม่ปฏิรูปเสียก่อนก็ไม่มีทางได้ปฏิรูปกันแน่
ขณะเดียวกันก็ต้องดูท่าทีของ กกต.ว่าจะตัดสินใจอย่างไร หากรัฐบาลไม่ยอมเลื่อนการเลือกตั้งออกเพราะได้เสนอแนวทางด้วยเหตุด้วยผลมาหลายครั้งแล้ว อีกทั้งยังถูกโจมตีต่างๆนานาและข้อ
ครหาว่ายืนอยู่ข้างประชาธิปัตย์และ กปปส.
เพื่อไม่ให้มีการเลือกตั้ง
กกต.ยังมีอีกหลายแนวทางที่จะแก้ไขปัญหานี้หากรัฐบาลไม่ยอมรับฟังเหตุผลแม้ได้ดำเนินการด้วยวิธีการต่างๆ มาแล้ว
การลาออกทั้ง 5 คน ก็มีทางเป็นไปได้
ถ้าถึงขั้นนั้นรัฐบาลตาเหลือกแน่เพราะแทบจะไม่เห็นหนทางให้มีการเลือกตั้งได้ การประนีประนอมกับ กกต.จึงเป็นทางรอดทางหนึ่ง
ยิ่งมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอย่างทุลักทุเล ถูกโจมตีจากในประเทศและต่างประเทศเพราะทำให้เห็นว่าเกิดสถานการณ์รุนแรงทั้งๆ ที่ยังไม่ถึงขั้นนั้น
ขนาดว่ายังไม่สามารถหาสถานที่ทำการของ ศรส. เพราะทหารอากาศก็ไม่ให้ สำนักงานปลัดกลาโหมก็ไม่ได้อย่าว่าแต่ ทบ.–ทร.ที่ไม่ต้อนรับอยู่แล้ว
ว่าไปแล้วรัฐบาลแทบจะหาที่ยืนไม่ได้อยู่แล้ว
อยู่ไปก็ป่วยการเปล่าๆ!!!
"ลิขิต จงสกุล"