จุฬาฯ เปิดตัวโปรแกรม "อักขราวิสุทธิ์" ดัดหลังพวกลอกผลงานวิชาการ ประเดิมวิทยานิพนธ์ ป.โท-เอก ส่วนประกอบ.ตรี จับได้แน่ พวกลอกวิกิพีเดียส่งรายงาน...
วันที่ 26 ส.ค.56 ผศ.ดร.ม.ร.ว.กัลยา ติงศภัทิย์ รองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ รศ.ดร.อมร เพชรสม คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย และคณะร่วมกันแถลงข่าว "จุฬาฯ กับมาตรการในการป้องกันการลักลอกผลงานวิชาการ" โดย ผศ.ดร.ม.ร.ว.กัลยา เปิดเผยว่า เรื่องการลักลอกผลงานวิชาการเป็นเรื่องที่วงการวิชาการในต่างประเทศให้ความสำคัญมาก และถือว่าเป็นความผิดร้ายแรงมาก จุฬาฯ ก็ให้ความสำคัญ โดยสภามหาวิทยาลัยได้กำหนดให้เป็นนโยบายในการตรวจสอบการลักลอกผลงานวิชาการ โดยเริ่มตรวจสอบในระดับบัณฑิตศึกษา โดยใช้โปรแกรมที่จุฬาฯ พัฒนาขึ้นเอง เรียกว่า โปรแกรมอักขราวิสุทธิ์ ซึ่งได้ผลดีมากสำหรับวิทยานิพนธ์ด้านวิทยาศาสตร์ เนื่องจากเป็นรายวิชาที่ต้องใช้ข้อมูลใหม่ย้อนหลังภายใน 1-2 ปี ในขณะที่วิทยานิพนธ์ ด้านประวัติศาสตร์ซึ่งข้อมูลต่างๆ ไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง ทำให้การตรวจสอบยังคงต้องอาศัยอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ มาเป็นผู้ตรวจสอบ ทั้งเชิญชวนให้มหาวิทยาลัยอื่นมาใช้โปรแกรมนี้เพื่อป้องกันการคัดลอกผลงานทางวิชาการด้วย
รศ.ดร.อมร กล่าวว่า ขณะนี้จุฬาฯ ยึดหลัก "จุฬาฯ ร้อยปีต้องไม่มี Plagiarism (การคัดลอกผลงาน)" โดยกำหนดให้นิสิตเขียนวิทยานิพนธ์ด้วยโปรแกรม ซียู อี-ธีสิส (CU e-Thesis) ซึ่งอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ จะสามารถติดตามวิทยานิพนธ์ได้ตลอดเวลา หากพบว่านิสิตคนใดเขียนดีขึ้นอย่างผิดปกติก็จะทราบได้ทันที ขณะเดียวกันก็จะใช้โปรแกรมอักขราวิสุทธิ์ ตรวจสอบข้อความที่เหมือนหรือคล้ายกัน แต่ในอนาคตจะพัฒนาโปรแกรมให้รองรับการตัดต่อหรือสลับข้อความ รวมถึงการคัดลอกข้อความโดยหลีกเลี่ยงใช้คำภาษาไทยอื่นๆ ที่มีความคล้ายคลึงกันได้ด้วย โดยจะเริ่มใช้ทันทีในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2556 ซึ่งคาดว่าจะมีวิทยานิพนธ์ประมาณ 700-800 เล่มที่จะเข้ารับการตรวจสอบ จากนั้นจะทำการตรวจสอบวิทยานิพนธ์ 15,000 เล่ม ซึ่งย้อนหลังตั้งแต่ปีการศึกษา 2548 เพื่อบรรจุเข้าเป็นข้อมูลพื้นฐานของจุฬาฯ ทั้งนี้ หากตรวจพบว่ามีการคัดลอกผลงาน ก็จะถอดถอนปริญญาบัตร จากนั้นในปีการศึกษา 2557 จะพัฒนาโปรแกรมเพื่อตรวจสอบระดับปริญญาตรี อาทิ การทำรายงาน ซึ่งส่วนนิสิตมักนำข้อมูลมาจากวิกิพีเดีย
คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย กล่าวต่อว่า คณะผู้พัฒนาโปรแกรมอักขราวิสุทธิ์ ได้แก่ รศ.ดร.วิวัฒน์ วัฒนาวุฒิ, ผศ.ดร.โชติรัตน์ รัตนามหัทธนะ, ดร.วิชญ์ เนียรนาทตระกูล และนายไพโรจน์ ลีลาภัทรกิจ จากภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯและ รศ.ดร.วิโรจน์ อรุณมานะกุล จากศูนย์วิจัยการประมวลผลภาษาและวัจนะ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ
...