เวลาที่เด็กทำอะไรประหลาดๆแปลกๆ ก็จะถูกผู้ใหญ่ว่ากล่าวเอาว่า "เล่นพิเรนทร์" หรือถ้าเป็นผู้ใหญ่แล้วทำอะไรแผลงๆ ก็จะถูกตำหนิว่า "ทำพิเรนทร์" ผมเองได้รับคำนิยมนี้มาตั้งแต่เด็กจนแก่แล้วครับ จนทำให้เป็นที่เข้าใจได้ในหมู่ญาติพี่น้องเพื่อนฝูงว่า ผมเป็นคนชอบ ทำอะไรพิเรนๆ ไม่เหมือนชาวบ้านชาวช่องเค้าครับ จำได้ว่าเคยตอนเด็กๆ บรรดาเหล่า ลุง ป้า น้า อา พากันตั้งสมญาให้ว่าว่า "แพนพิเรนทร์"
พอโตมาจนถึงปัจจุบันนี้แล้ว ด้วยหน้าที่รับผิดชอบต่างๆ ก็ทำให้การกระทำพิเรนสารพัด ของผมมีอันที่จะต้องลดน้อยถอยลง มแต่ลึกๆลงไปในความนึกคิดจิตใจแล้ว ผมเองก็ยังอดไม่ได้ที่จะคิดพิเรนทร์ๆอยู่เสมอ เช่นเวลานั่งรถไฟฟ้า แล้วมีคนอ้วนๆพุงโตๆมายืนเบียดอยู่ ตรงหน้า ยิ่งถ้าใส่เสื้อยืดรัดพุงให้ดูกลมป่องพองฟูเหมือนลูกบัลลูนแล้ว ก็ยิ่งชวนให้เกิด ความคิดพิเรนๆ ขึ้นมาไม่ได้ ว่าถ้าเราแอบเอาเข็มจิ้มพุงปุ๊ลงไป มันจะระเบิดดังโพละ เหมือนลูกโป่งมั้ย....555
พูดถึงคำว่า "พิเรนทร์" แล้ว ก็ชวนสงสัย เพราะเมื่อสมัยผมยังเด็กๆ อยู่นั้น เคยเขียนคำคำนี้ว่า "พิเรน" แต่พออยู่นานจนเติบแก่เช่นปัจจุบัน ก็เห็นคนทั่วไปเขียนแบบมี ท ทหาร ตามด้วย ร เรือ และการันต์ ก็งงๆ ครับ แต่สุดท้ายก็เขียนตามเค้าไป ลองไปค้นๆ ดูจากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พบว่ามีเขียนได้ทั้งสองแบบ คือ "พิเรน" กับ "พิเรนทร์" แถมยังมีความหมายเช่นเดียวกันอีกด้วยคือ นอกคอก, นอกแบบ, ดื้อ, อุตรินอกลู่นอกทาง เช่น เล่นพิเรนทร์ คนพิเรนทร์
พอพบความหมายแล้ว ก็เกิดความสงสัยอีกต่อไปตามประสาคนแก่ขี้สงสัยไม่จบไม่สิ้นว่า ทำไมต้องเอาพิเรนทร์มาใช้ในความหมายทางลบเช่นนี้ด้วย ทั้งๆ ที่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ก็ได้มีการตราไว้ในกฎหมายตราสามดวง ฉบับพระไอยการ ตำแหน่งนายทหารหัวเมือง โดยมีการกล่าวไว้ในด้วยราชทินนามของเสนาบดี ระบุไว้ว่า "หลวงพิเรนณเทพบดีศรีสมุหะ เจ้ากรมพระตำรวจใหญ่ขวา ตราคนถือหวายมือขวา นา ๒๐๐๐"....นั่นก็หมายความว่า "พิเรนทร์" ในสมัยนั้นยังไม่มีความหมายในทางลบอย่างแน่นอน
...
เมื่อทั้ง "ค้น" และทั้ง "คว้า" ต่อไปอีก ก็เริ่มเห็นเค้าที่มาของคำคำนี้เเล้วครับ จากหนังสือเรื่อง "ปกิณณกะในรัชกาลที่ ๕" ที่ประพันธ์โดย นพ.นวรัต ไกรฤกษ์ ซึ่งเป็นบุตรชายของ พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ ไกรฤกษ์) ผู้ซึ่งได้รับราชการฉลองพระเดชพระคุณ ถวายงานรับใช้ใกล้ชิด พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เล่าว่า...
"บิดา (พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ หรือ นพ ไกรฤกษ์) เล่าให้ท่านฟังว่า เมื่อ พ.ศ.2436 หรือ ร.ศ.112 ครั้งที่ฝรั่งเศสส่งกองทัพเรือมาปิดปากอ่าวไทย เพื่อยกกองเรือเข้ามารุกรานประเทศไทยนั้น คนไทยจำนวนมากเกิดความรู้สึกตื่นตัวรักชาติ ไม่คิดจะหนีหาย มีแต่คิดจะต่อสู้ตามกำลังความสามารถของตน ใครมีความสามารถทางใด ก็ฝึกปรือทางนั้น มีการรวมตัวเป็นกลุ่มก้อน เพื่อเตรียมการต่อสู้กับฝรั่งเศสอย่างห้าวหาญ
มีข้าราชการท่านหนึ่งชื่อ พระพิเรนทรเทพ เป็นตำรวจหลวง มีความสามารถในเรื่องของเวทมนต์ คาถาอาคม เชื่อกันว่าท่านสามารถอยู่ยงคงกระพัน และล่องหนหายตัวได้ มีคนเคารพนับถือ เข้าฝากตัวเป็นศิษย์จำนวนมาก ท่านเกิดความคิดที่จะจัดตั้งหน่วยจู่โจม เพื่อจะดำน้ำลงไปเจาะเรือรบของฝรั่งเศส แม้จะฟังเป็นเรื่องตลกที่ประเทศในภูมิภาคเอเชียอย่างประเทศไทย ที่ยังไม่เจริญก้าวหน้าในด้านเทคโนโลยีและวิทยาการสมัยใหม่ต่างๆ จะลุกขึ้นดำน้ำลงไปเจาะเรือฝรั่งเศสก็ตาม แต่ความตั้งใจจริงของท่านครั้งนั้น ก็ได้รับการตอบสนองจากคนไทยใจรักชาติเป็นจำนวนมาก
บรรดาเหล่าชายฉรรจ์และไม่ฉกรรจ์จำนวนมาก ทั้งที่ว่ายน้ำเป็นและว่ายน้ำไม่เป็น ต่างก็ขันอาสามาอยู่อาศัยที่บ้านของท่าน เพื่อรับการฝึกฝน ทั้งมนตรา อาคม และไสยเวทย์ต่างๆ รวมทั้งการฝึกดำน้ำทน เพื่อเป็นกองหน้าลุยดำน้ำลงไปจัดการกับเรือรบเหล็กของฝรั่งเศสให้จมน้ำลงไป ก่อนที่จะแล่นเข้ามารุกรานทำอันตรายกับประเทศของเราได้ ดังนั้น ที่คลองหน้าบ้านท่านจึงมีชายหนุ่มล่ำสันหุ่นดีลงหัดว่ายน้ำ ดำน้ำกันอย่างเนืองแน่นทุกวี่ทุกวัน เป็นที่โจษจันกันไปทั่วคุ้งน้ำ ถึงความเก่งกล้าสามารถ และความล่ำสันมั่นคงของเหล่าบรรดาชายหนุ่มทั้งหลาย ทำให้สาวๆ ทั้งหมู่บ้าน ต้องพากันพายเรือมาแอบซุ่มดูกันกรูเกรียว
ยามบ่ายแดดอ่อน คุณพระพิเรนทร์ฯ ท่านจะลงมานั่งกำกับการฝึกซ้อมด้วยตัวของท่านเอง ที่ศาลาท่าน้ำทุกวัน ท่านเป็นตำรวจหลวง ท่านจึงเป็นคนดุ คนจริง เวลาลงนั่งควบคุมอาสาสมัคร ข้าทาส บริวารของท่านฝึกซ้อมการดำน้ำ ซึ่งท่านต้องการให้ฝึกการดำน้ำแบบทนนาน มีความอึดสูง ท่านจึงเคี่ยวเข็ญเต็มกำลัง ยิ่งเหตุการณ์บ้านเมืองตึงเครียดมากยิ่งขึ้น ท่านก็ยิ่งเข้มงวดกับการฝึกซ้อมดำน้ำมากยิ่งขึ้นเป็นทวีคูณ
มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ชายหนุ่มคนหนึ่งดำน้ำผุดๆ โผล่ๆ ไม่ได้ดังใจท่าน ท่านอดทนเฝ้ามองอยู่เป็นเวลานาน จนอดใจไม่ไหวอีกต่อไป จึงลุกขึ้นเรียกบ่าวให้เอาไม้ถ่อ ที่ใช้สำหรับค้ำถ่อเรือมาถือไว้ เวลาที่ชายคนนั้นโผล่ขึ้นมา ท่านก็เอาถ่อนั้นกดให้จมลงไป แรกๆ ชายนั้นก็มีแรงต้าน พุ่งตัวขึ้นมาเหนือผิวน้ำได้ แต่ท่านก็ออกแรงกดจนจมลงไปใต้น้ำทุกที หนักๆ เข้าท่านเลยเอาถ่อกดค้ำไว้ ไม่ให้โผล่ขึ้นมา ด้วยอยากให้มีความอดทนสูง สามารถดำนานได้ทนทาน ผลก็คือชายเคราะห์ร้ายคนนั้นก็ไม่ได้มีโอกาสโผล่พ้นน้ำขึ้นมาอีกเลย
อาศัยเหตุดังกล่าวทำให้หน่วยจู่โจมนี้ต้องล้มเลิกไป เเละนับจากนั้นเป็นต้นมา ชื่อของ พระพิเรนทรเทพ ก็ถูกนำไปเรียกสั้นๆ กับผู้ที่ทำอะไรแปลก แผลงๆ ผิดชาวบ้านชาวช่อง ว่า "เล่นอย่างพระพิเรนทร์" ครั้นเรียกกันไป...เรียกกันมา..ก็สั้นลง...สั้นลง กลายเป็น "เล่นอย่างพิเรนทร์" และสุดท้ายคือ "เล่นพิเรนทร์" ...ส่วนคนที่ชอบทำอะไรแปลกๆ แผลงๆ ก็จะถูกเรียกว่า "คนพิเรนทร์"
ได้ทราบที่มาที่ไปของคำคำนี้เเล้ว ก็สบายใจนอนตาหลับได้ เอาไว้สัปดาห์หน้าเราค่อยมาพบกันใหม่ สำหรับวันนี้อย่าเผลอไป...เล่นพิเรนทร์...เข้านะครับ
เผ่าทอง ทองเจือ