"ครูยุ่น" แนะ ก.ศึกษา รื้อระเบียบลงโทษ ป้องกันเหตุความรุนแรงในเด็ก หลังเกิดเหตุเด็ก ป.1 ทำร้ายอนุบาลสาหัส ชี้ผู้ปกครอง 2 ฝ่ายควรได้รับคำแนะนำจากจิตแพทย์เด็กมาใช้ฟื้นฟูจิตใจ ส่วนบทลงโทษควรมีการกำหนดช่วงอายุวัย เน้นเชิญผู้ปกครองรับทราบปัญหา และมีการประเมินผล
"ครูยุ่น" นายมนตรี สินทวิชัย เลขาธิการมูลนิธิคุ้มครองเด็ก กล่าวถึง กรณีเด็ก ป.1 ทำร้ายเด็กอนุบาลจนสาหัสกับ "ไทยรัฐออนไลน์" ว่า สิ่งที่เด็กทำลงไป ส่วนตัวมองว่าเด็กไม่ได้คิดอะไรเป็นพิเศษ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นมันอาจจะซึมซับมาจากการใช้ชีวิตประจำวัน การเลียนแบบจากสิ่งที่เห็น ซึ่งสิ่งที่ทำให้เด็กซึมซับได้มากที่สุด ก็คือชีวิตจริงของเด็ก ซึ่งตรงนี้มองว่าอาจจะเป็นเป็นค่านิยม การเป็นผู้ชนะ ชนะแล้วมีความสุข การกดขี่คนอื่นให้ต่ำกว่า ส่วนเรื่องการเลียนแบบจากทีวีนั้นเป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้นไม่ใช่สาเหตุหลัก
นายมนตรี กล่าวต่อว่า ค่านิยมความรุนแรง มันเป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นรอบๆ ตัวเรา เช่น ในโรงเรียน ที่บ้าน สังคมใกล้บ้าน ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้มาจากตัวเด็ก แต่มาจากผู้ใหญ่ทำให้เห็น อีกทั้งความเหลื่อมล้ำทางสังคมก็มีผลทำให้เด็กสะท้อนมาในรูปแบบความรุนแรง สิ่งที่ควรทำคือก่อนอื่นต้องทำให้เด็กทุกคนอยู่ในสถานะเท่าเทียมกันก่อน
"สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ สภาพจิตใจของเด็กทั้งสองคน คนที่เป็นผู้กระทำเชื่อว่าสภาพจิตใจ ณ ตอนนี้ก็คงย่ำแย่ เพราะเชื่อว่าอาจจะถูกคำพิพากษาจากสังคมใกล้บ้านหรือสังคมโรงเรียน มองว่าเป็นคนโหดร้ายไปแล้ว ซึ่งเด็กๆ มีสังคมไม่มากเหมือนกับผู้ใหญ่ ดังนั้น สิ่งที่ผู้ใหญ่ต้องทำคือการเข้าไปดูแลจิตใจ ขณะเดียวกันผู้ถูกกระทำ ก็อาจจะเกิดการหวาดผวากับสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งเรื่องนี้เป็นหน้าที่ทางครอบครัวต้องเข้ามาช่วย โดยเด็กทั้งสองฝ่าย ควรจะไปปรึกษาหาคำแนะนำจากจิตแพทย์เด็กเพื่อมาดูแลบุตรหลานฟื้นฟูจิตใจให้หายป่วยให้ได้ ซึ่งโรคทางจิตใจอาจจะต้องใช้ระยะเวลาที่ยาวนานกว่า" ครูยุ่น กล่าว
...
นอกจากนี้ ครูยุ่น ยังกล่าวถึงบทลงโทษ หากเด็กกระทำผิดว่า สำหรับบทลงโทษนั้น ในทางกฎหมายอายุต่ำกว่า 7 ปี ก็ถือว่าไม่ผิด อย่างไรก็ตาม การลงโทษในสถานศึกษานั้น ทาง ก.ศึกษาฯ ก็มีการกำหนดไว้ คือ การกล่าวตักเตือน ทำทัณฑ์บน ตัดคะแนนความประพฤติ หรือ ทำกิจกรรมเพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ส่วนตัวมองว่า ยังเป็นการเขียนที่กว้าง ทางที่ดี ควรจะมีการกำหนดการลงโทษตามอายุและวัยของเด็กด้วย ซึ่งการลงโทษแต่ละอย่างบางครั้งช่วงวัยมันก็มีผลกับความรู้สึก เช่น การตัดคะแนน เด็กมัธยมอาจจะมีความรู้สึกอย่างหนึ่ง ขณะเดียวกัน เด็กอนุบาล ก็อาจจะมีความรู้สึกที่แตกต่างกันออกไป เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าคำนึงถึง แต่ทั้งนี้ การลงโทษควรจะมีการเชิญผู้ปกครองมารับทราบปัญหาด้วย โดยเฉพาะหากเรื่องเกิดขึ้นกับเด็ก และหลังการลงโทษแล้วควรจะมีการประเมินผลด้วย เพื่อจะได้มีการนำมาปรับใช้
"อีกเรื่องที่สำคัญคือ อยากให้รัฐบาล โดย ก.วัฒนธรรม มีการรณรงค์ที่จริงจังเกี่ยวกับการไม่ใช้ความรุนแรง ที่ผ่านมา เคยเห็นการรณรงค์เข้าคิว รณรงค์ไม่สูบบุหรี่ แต่เรื่องความรุนแรงมันไม่ใช่วัฒนธรรมของไทย ก.วัฒนธรรม ต้องทำให้เห็นว่าความรุนแรงมันเป็นเรื่องเลวร้าย" ครูยุ่น กล่าว.