ชะอม เป็นพืชที่นิยมทานในทุกภาค เป็นพืชยืนต้น ลำต้นของชะอมมีหนามแหลม คนต่างจังหวัดจึงนิยมปลูกไว้เป็นรั้วบ้าน เนื่องจากมีหนามแหลมคม เป็นที่ขยาดของสัตว์นานาชนิดที่มักจะแอบย่องเข้าบ้านในตอนกลางคืนรวมถึงคนด้วย

นอกจากปลูกไว้สำหรับเป็นรั้วบ้าน ยังปลูกไว้เป็นอาหารเคียงคู่สำรับกับข้าวด้วยเมนูพิเศษหลายๆ อย่าง เช่น ชะอมทอดกับไข่ กินคู่กับน้ำพริก หรือชะอมใส่ในแกงคั่วหอยขม หรือชะอมใส่ในแกงพื้นบ้าน

ชะอมเป็นพืชที่ปลูกอยู่ติดกับพื้นดิน คนต่างจังหวัดที่ปลูกมักนิยมใส่ปุ๋ยคอกซึ่งเป็นมูลสัตว์ชนิดต่างๆ เพราะเข้าใจว่าจะลดการปนเปื้อนสารเคมี ใช้วิธีนี้ร่างกายจะปลอดสารเคมีอย่างสิ้นเชิง แต่อย่างหนึ่งที่ต้องระวังคือ การปนเปื้อนเชื้อโรคที่มากับดิน น้ำและปุ๋ยคอก เช่น เชื้อ ซาลโมเนลลา

ซาลโมเนลลา เป็นเชื้อแบคทีเรียซึ่งก่อให้เกิดโรค มีลักษณะเป็นท่อน พบได้ทั่วไป เช่น ในสัตว์ปีก สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม รวมทั้งมนุษย์ สามารถก่อให้เกิดโรคได้ การติดเชื้อเกิดจากการทานอาหารหรือน้ำที่มีเชื้อปะปนเข้าไป

หากพบการปนเปื้อนเชื้อชนิดนี้ในอาหารจะทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ ระยะฟักตัวของโรค กินเวลา 12—24 ชั่วโมง หรือมีอาการหลังจากกินอาหารที่มีเชื้อปะปน 8—48 ชั่วโมง

อาการของโรค คือปวดศีรษะรุนแรง คลื่นไส้อาเจียน อุจจาระร่วงรุนแรง ปวดท้อง มีไข้ต่ำ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงได้กำหนดเกณฑ์คุณภาพของเชื้อซาลโมเนลลา ในอาหารพร้อมบริโภคจำพวกผัก ผลไม้สดที่ล้างแล้ว คือ ต้องไม่พบในตัวอย่าง 25 กรัม

วันนี้ สถาบันอาหาร นำชะอมผักพื้นบ้าน 5 ตัวอย่างจาก 5 ตลาด เพื่อนำมาหาการปนเปื้อนของเชื้อ ซาลโมเนลลา

พบว่า 2 ใน 5 ของตัวอย่างชะอม พบเชื้อซาลโมเนลลาปนเปื้อน

จากผลดังกล่าว ผู้บริโภคต้องระวังเรื่องการทำความสะอาดมากยิ่งขึ้น

ควรล้างด้วยน้ำเปล่าหลายๆ ครั้ง ก่อนนำมาทานเพื่อให้มั่นใจว่าชะอมนั้น มีความสะอาดเพียงพอและปลอดภัย.

...