นายพิพัฒน์พงษ์ วงศ์ใหญ่ กับ น.ส.ศศิธร ชาววัลจันทึก.
ภาวะน้ำท่วม...ที่ผ่านมา หลายคนอาจจะหวาดหวั่นกับสิ่งที่อยู่ในน้ำ แต่ อาหารพื้นเมือง ทางภาคเหนือ ที่เอา “ผำ” มาจากแหล่งน้ำเพื่อทำเป็นเมนูอร่อยได้อีกด้วย นักศึกษาคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ทำการวิจัยและพัฒนา “ผำ” ให้เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
ผลงานนี้เป็นของ นายพิพัฒน์พงษ์ วงศ์ใหญ่, นางสาวศศิธร ชาววัลจันทึก โดยมี ผศ.ดร.สุนีย์ จันทร์สกาว คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นที่ปรึกษา นางสาวศศิธร บอกว่า ผำ...ภาษาท้องถิ่น ทางภาคเหนือเรียกว่า ผำ, ไข่ผำ หรือ ไข่แหน ภาคกลางเรียก...ไข่น้ำ มีชื่อสามัญ Wolffia, Water meal วงศ์ Lemnaceae เป็นพืชน้ำขนาดเล็กที่สุดในโลก และเป็นพืชดอกที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก แต่ไม่มีราก
มีรูปร่างเป็นทรงรี มีขนาดตั้งแต่ 1-2 มิลลิเมตร อาจเกิดเดี่ยวหรือติดกันเป็นคู่ มักเกิดในธรรมชาติที่มีน้ำนิ่งใส ลอยเป็นแพอยู่ผิวน้ำ ลักษณะคล้ายใบเฟิร์น ซึ่งปัจจุบันมีการเลี้ยงผำในบ่อที่มีน้ำใสสะอาดเลียนแบบที่อยู่ตามธรรมชาติ
โดย...สปีชีส์ของผำที่วิจัยศึกษา คือ Wolffia arrhiza (L.) จากแหล่งเพาะเลี้ยงในอำเภอสันทราย จ.เชียงใหม่...เมื่อนำมาทำการวิเคราะห์ปริมาณสารอาหาร พบว่ามี ปริมาณโปรตีน 20% ซึ่งเป็นส่วนประกอบของ ฮอร์โมนเอนไซม์ เป็นสารสร้าง ภูมิคุ้มกันโรคติดเชื้อบางชนิด ช่วยรักษาสมดุลกรดด่างและสมดุลของน้ำในร่างกาย นอกจากนี้ยังมี คลอโรฟิลล์ โครงสร้างมีลักษณะเป็น cyclic tetrapyrolle ที่คล้ายคลึงกับฮีม (heme) ที่อยู่ใน ฮีโมโกลบิน (hemoglobin) ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในเลือด มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ, รักษาอาการท้องผูก, ฤทธิ์ต้านการติดเชื้อ, ช่วยปรับสภาพร่างกายให้เป็นด่างในคนที่มีสภาวะเครียดจากความเป็นกรด และช่วยรักษาภาวะซีดในคนที่เป็น โรคโลหิตจาง
การศึกษาได้ทำการประเมินคุณภาพเชิงปริมาณโปรตีนรวมทั้งก่อนและหลังการตั้งตำรับ และทำการตรวจวิเคราะห์โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบว่า ปริมาณโปรตีนรวมของผำก่อนตั้งตำรับเท่ากับร้อยละ 33.84 ของน้ำหนักแห้ง ส่วนปริมาณโปรตีนรวมหลังการตั้งตำรับเท่ากับร้อยละ 46.28 ของน้ำหนักแห้ง ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.44 ของน้ำหนักแห้ง เนื่องจากวิธี nitrogen analyzer จะทำการวิเคราะห์หาธาตุไนโตรเจนที่มีอยู่ในตัวอย่างแล้วคำนวณเป็นปริมาณโปรตีนรวม สำหรับการตั้งตำรับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากผำในรูปแบบยาเม็ดเคี้ยวขนาด 500 มิลลิกรัมต่อเม็ด ส่วนประกอบที่เหมาะสม คือ ผงผำ 59.40%, Icing sugar 17.82%, Mannitol 2.92%, Lactose 11.88%, PVP K90 5.01%, Talcum 1.94% และ Magnesium stearate 0.97% ซึ่งผลการวิเคราะห์ ผ่านเกณฑ์มาตรฐานของการประเมินคุณภาพยาเม็ดเคี้ยว
...
อย่างไรก็ตาม การวิจัยครั้งนี้เป็น การพัฒนาตำรับ จึงต้องศึกษาเพิ่มเติมในด้านคุณภาพของผลิตภัณฑ์ และปัจจัยอื่นๆ ที่จะช่วยให้ผำเม็ดเป็นอีก ทางเลือกในการบริโภคเพื่อสุขภาพ อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการ อนุรักษ์ และเผยแพร่คุณค่าของอาหารจากพืชพื้นบ้านของเรา
หากใครที่สนใจจะไปหา...ผำมาบริโภคบ้างก็ต้องดูด้วยว่า...มันเกิดเฉพาะ ในแหล่งน้ำสะอาด เท่านั้น หากน้ำท่วมขังแล้วเน่าเสียก็ให้พึงระมัดระวังไว้ว่า...มันอาจจะมีเชื้อร้ายปะปนอยู่ก็เป็นได้...!!
ไชยรัตน์ ส้มฉุน