การผลิตบุคลากรสายอาชีพเป็นบทบาทการสำคัญของสถาบันการศึกษาที่จัดสอนวิชาชีพ หรืออาชีวศึกษาในการผลิตบุคลากรทั้งระดับช่างฝีมือ (ป.วช.) และช่างเทคนิค (ป.วส.) เพื่อให้ได้ผลผลิตเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพ เข้าสู่ตลาดแรงงานรวมทั้งสอดคล้องกับความต้องการของสังคม และความต้องการของบุคคล สมรรถนะวิชาชีพที่เกิดขึ้นจึงเป็นสมรรถนะเชิงประจักษ์ที่สอดคล้องกับความต้องการมากกว่าสมรรถนะที่ได้จากการทำข้อสอบ
องค์ประกอบที่มีผลต่อการผลิตบุคลากรมีหลายประการ ได้แก่ ปรัชญาและจุดมุ่งหมายของหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน คณาจารย์ ห้องสมุด แหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ สื่อการศึกษา เทคนิคการสอน อุปกรณ์การศึกษา สภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ กิจกรรมนักศึกษา การวัดผลการศึกษา การวิจัย การบริหารงานการเงินและงบประมาณเป็นต้น
จะเห็นได้ว่าองค์ประกอบเหล่านี้ เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างเสริมความรู้ (Knowledge) ทักษะ (Skills) และเจตคติ (Attitudes) ในวิชาชีพให้เกิดขึ้นกับผู้เรียน จนทำให้ผู้เรียนมีความสามารถทำงานหรือได้รับการจ้างงาน (Employable) เป็นสิ่งที่ท้าทายความสามารถของผู้บริหารสถานศึกษาและอาจารย์ผู้สอน
ถ้าผู้สำเร็จการศึกษามีขีดความสามารถและมีมาตรฐานวิชาชีพ (Vocational Qualifications หรือ VQs) อยู่ในระดับสูง ทั้งความสามารถหรือสมรรถนะที่จำเป็นต้องนำไปใช้ปฏิบัติงานโดยตรง (Functional Competencies) และความสามารถหรือสมรรถนะเสริม (Extrafunctional Competencies) ที่จะทำให้การทำงานและผลงานมีความประณีต มีคุณภาพ และเป็นที่พอใจของผู้ใช้ผลงาน นอกจากจะทำให้คุณภาพของผลผลิตหรือของงานสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้แล้ว ยังจะเป็นสิ่งที่ส่งเสริมคุณภาพของกำลังคนไห้มีโอกาสเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน (Career Path) ของตนเองได้อีกด้วย
ถ้าผู้เรียนมีความเชื่อมั่นและศรัทธาในการจัดการเรียนการสอน มีความภักดี (Loyalty) ต่อสถานศึกษา และอาจารย์มีความรู้และทักษะที่สามารถถ่ายทอดความประณีต (Precision) และสอนให้ผู้เรียนตระหนักถึงความปลอดภัยในการทำงาน (Safety) ได้ สิ่งเหล่านี้ถือเป็นตัวชี้วัด (Indicators) ความสำเร็จของการจัดการศึกษาในการให้ความรู้ สร้างทักษะ และปลูกฝังเจตคติทีดีต่อวิชาชีพ และถือเป็นหัวใจของการสอนวิชาชีพ และใช้เป็นมาตรฐานคุณภาพเพื่อเปรียบเทียบสมรรถนะ (Benchmark) ได้อีกด้วย
มาตรฐานอาชีพและมาตรฐานวิชาชีพ
มาตรฐานอาชีพ หมายถึง แนวทางการปฏิบัติงานของผู้ที่ประกอบอาชีพนั้นยอมรับและยึดถือในการปฏิบัติ ซึ่งอาจมีข้อกำหนดเป็นแนวปฏิบัติ มีประกาศจรรยาบรรณ มีวินัยของผู้ประกอบอาชีพนั้น หรือมีกฎหมาย ในการรองรับการปฏิบัติงาน และการเข้าสู่อาชีพนั้น เช่น ต้องมีใบอนุญาต ประกอบอาชีพ มีคณะกรรมการหรือองค์กรเป็นผู้ควบคุมดูผู้ปฏิบัติงานในสาขาอาชีพนั้น ๆ เป็นต้น
มาตรฐานวิชาชีพ หมายถึง การกำหนดคุณลักษณะ และคุณสมบัติของผู้เรียนที่ผ่านกระบวนการของการจัดการเรียนการสอนวิชาชีพนั้น ๆ ให้มีระดับความสามารถในการประกอบอาชีพ ทั้งด้านความรู้ ทักษะและเจตคติ ในวิชาชีพ ซึ่งสามารถดำเนินการโดยการจัดหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน การวัดและประเมินผล หรือการสอบ ที่เป็นหลักประกันให้มั่นใจว่า ผู้ที่ผ่านการเรียนการสอนในวิชาชีพนั้น ๆ จะมีความสามารถในการประกอบอาชีพนั้นได้อย่างมีคุณภาพ
มาตรฐานวิชาชีพจึงเน้นการเตรียมคนเข้าสู่อาชีพ ส่วนมาตรฐานอาชีพเป็นการเน้นแนวทางการปฏิบัติของผู้ที่อยู่ในอาชีพนั้น ๆ ทั้งสองมาตรฐานมีความสัมพันธ์กันอย่างมาก เพราะการเรียนการสอนวิชาชีพที่ได้มาตรฐานจะต้องทำให้ผู้ที่สำเร็จการศึกษาสามารถปฏิบัติงานได้ตามมาตรฐานของอาชีพนั้น
ถ้าสถาบันการศึกษาประเภทอาชีวศึกษาไม่สามารถจัดสิ่งแวดล้อมของการเรียน หลักสูตร การสอน และการสอบให้ผู้เรียนมีความสามารถปฏิบัติงานได้ตามมาตรฐานวิชาชีพได้ ต้องให้ยุติ และปรับปรุงจนกว่าจะได้รับการรับรองมาตรฐานเสียก่อนจึงจะให้มีการเรียนการสอนในสาขาวิชาชีพนั้นได้ ดังนั้นหลักสูตรและการสอนที่สมาคมวิชาชีพหรือสภาวิชาชีพไม่รับรองจึง ต้องให้ยุติ และปรับปรุงให้ได้มาตรฐานเสียก่อนจึงจะเปิดการเรียนการสอนได้
การสร้างมาตรฐานอาชีพและมาตรฐานวิชาชีพนั้นมีแนวทางของการดำเนินงานอยู่แล้ว โดยมีหลักการสำคัญคือ ให้ผู้ที่ประกอบอาชีพนั้นเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการกำหนดมาตรฐาน ผู้เกี่ยวข้องในส่วนอื่น ๆ ของกระบวนการเป็นผู้ให้ความเห็นและข้อเสนอในการอำนวยความสะดวกและการดำเนินงานให้เกิดมาตรฐานของอาชีพ และวิชาชีพขึ้น
มาตรฐานการจัดการเรียนการสอนอาชีวศึกษา
มาตรฐานการจัดการเรียนการสอนอาชีวศึกษา หมายถึง ข้อกำหนดเกี่ยวกับคุณลักษณะ และคุณภาพทางอาชีวศึกษาที่ต้องการให้เกิดขึ้นในสถานศึกษา และ/หรือสถาบันต่าง ๆ ที่จัดการเรียนการสอนวิชาชีพ เพื่อใช้เป็นหลักในการส่งเสริม การกำกับดูแล การตรวจสอบ การประเมินผล และการพัฒนาคุณภาพการจัดการอาชีวศึกษา มาตรฐานการอาชีวศึกษาประกอบด้วยมาตรฐาน 3 ด้านดังนี้
1. มาตรฐานด้านผู้เรียน คือ มาตรฐานที่เน้นการพัฒนาการด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญา อารมณ์ สังคม และทักษะวิชาชีพ โดยมุ่งให้ผู้เรียนเป็นคนดี มีความสามารถหรือสมรรถนะตามศักยภาพ มีความสุข เป็นพลเมืองดีและมีคุณค่าของประเทศชาติ
2. มาตรฐานด้านกระบวนการ คือ มาตรฐานที่เน้นในด้านกระบวนการบริหารจัดการ กระบวนการจัดการเรียนการสอน ระบบการเชื่อมโยงการฝึกงานกับการเรียนการสอนและการมีงานทำรวมทั้งการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการจัดการเรียนการสอน
3. มาตรฐานด้านปัจจัย คือ มาตรฐานที่เน้นการกำหนดคุณลักษณะ คุณสมบัติหรือความพร้อมของผู้บริหาร ครู/อาจารย์ หลักสูตร อาคารสถานที่ เครื่องมือ อุปกรณ์การสอนสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆและความร่วมมือของชุมชน
แต่ละมาตรฐานสามารถขยายความ สร้างตัวบ่งชี้ และเกณฑ์มาตรฐานขึ้นให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศชาติได้อย่างกว้างขวางและปรับเปลี่ยนไปตามบริบทของสถานศึกษา ความต้องการของบุคคล และความต้องการของสังคมได้อย่างอิสระ
การกำหนดมาตรฐานการจัดการเรียนการสอนอาชีวศึกษาด้วยการใช้หลักการดังกล่าว สามารถใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการให้การศึกษาวิชาชีพมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับได้ แต่อย่างไรก็ดี ในการดำเนินการนั้นยังต้องใช้การบูรณาการฐานความรู้ต่าง ๆ เข้าด้วยกัน เช่น ความรู้เรื่องหลักสูตร การสอน และการสอบ เป็นต้น
...
รองศาสตราจารย์ ดร.กฤษมันต์ วัฒนาณรงค์