คนส่วนใหญ่ มักเข้าใจผิดคิดว่าต้น "อินทนิลบก" เป็นไม้เกิดในป่าไทย ซึ่งความจริงแล้วไม่ใช่เลย ต้น "อินทนิลบก" มีนิเวศวิทยาหรือถิ่นกำเนิดจากประเทศ อินเดีย ถูกนำเข้ามาปลูกและขยายพันธุ์ในประเทศไทยแต่โบราณแล้ว จนกลายเป็นไม้ไทยไปโดยปริยาย ในยุคสมัยก่อนนิยมปลูกกันแพร่หลายตามบ้านและสำนักงาน เนื่องจาก "อินทนิลบก" เวลามีดอกจะทิ้งใบหมด เหลือเพียงดอกบานสะพรั่งทั้งต้นงดงามมาก ปัจจุบันไม่ค่อยพบเห็นนัก เป็นเพราะเสื่อมความนิยมลงไปตามกาลเวลา
อินทนิลบก หรือ LAGERSTROEMIA MACROCARPA WALL. อยู่ในวงศ์ LYTHRACEAE มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์ เป็นไม้ผลัดใบ ต้นสูง 8-10 เมตร เรือนยอดเป็นรูปทรงกลมยาว ปลายกิ่งชูขึ้น เปลือกต้นสีน้ำตาลอ่อนค่อนข้างเรียบ ลำต้นมีปุ่มปม ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงกันข้าม รูปไข่กลับ หรือรูปรีป้อม กว้างประมาณ 12-17 ซม. ยาว 20-30 ซม. ปลายใบมน โคนสอบแหลม หรือมน สีเขียวเข้มเป็นมัน
ดอก ออกเป็นช่อที่ปลายยอด กลีบเลี้ยงเชื่อมกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็นแฉก 6 แฉก กลีบดอกมี 6 กลีบ รูปกลม ผิวกลีบบางและย่น ขอบย้วย โคนกลีบดอกเรียว เป็นสีม่วง เมื่อบานเต็มที่เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 10-12 ซม. มีเกสรตัวผู้จำนวนมาก เวลามีดอกดกและดอกบานพร้อมกันทั้งต้น จะทิ้งใบหมดเหลือเพียงดอกอย่างเดียว ทำให้ดูสวยงามยิ่งนัก
ผล รูปรี เปลือกผลแข็ง เมื่อผลแก่แตกได้ ภายในมีเมล็ดจำนวนมาก ด้านหนึ่งของเมล็ดมีปีกสีขาวคล้ายปุยนุ่นติดอยู่ ดอกออกช่วงระหว่างเดือนมีนาคม ต่อเนื่องไปจนถึงเดือนพฤษภาคม ของทุกปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด
ประโยชน์ทางสมุนไพรไม่มี แต่ "อินทนิลบก" เนื้อไม้แข็งแรงทนทาน จึงนิยมนำไปใช้ในการก่อสร้าง ทำเครื่องเรือน และเครื่องมือทางการเกษตร มีชื่อ เรียกในประเทศไทยตามท้องถิ่นต่างๆ อีก คือ กากะเลา (อุบลราชธานี) กาเสลา, กาเสา (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) จ้อล่อ, จะล่อ, จะล่องกวาง (ภาคเหนือ)
ปัจจุบันต้น "อินทนิลบก" มีต้นขนาดใหญ่ขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการติดปากทางเข้าประตู 2 หรือที่นิยมเรียกกันทั่วไปในหมู่คนขายต้นไม้ว่า บริเวณขายไม้ปราจีนบุรี ไม่มีต้นขนาดเล็กขาย ราคาสอบถามกันเอง ปลูกได้ในดินทั่วไป เป็นไม้ทนแล้งได้ดี เหมาะจะปลูกประดับชมความสวยงามจากสีสันของดอกเมื่อถึงฤดูกาลจะทำให้รู้สึกสดชื่นเป็นอย่างยิ่งครับ.
...
"นายเกษตร"