จากเสียงเล็กๆ ของกลุ่มคนออนไลน์ สู่การแก้ปัญหาใหญ่ต้องต้องหันมาสนใจ เมื่อคนกรุงเริ่มเรียกร้องสิทธิ์ให้ต้นไม้ใหญ่ ในโครงการบิ๊กทรี กับการผลักดัน "พรบ.คุ้มครองต้นไม้ใหญ่"...

หลังจากผ่านที่ภัยพิบัติของพี่น้องประชาชนในหลายภาคของประเทศได้พ้นไป หลายพื้นที่เร่ิมกลับสู่สภาวะปกติ หลายฝ่ายทยอยยื่นความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง เพื่อเยียวยาฟื้นฟูสภาพจิตใจ และความเป็นอยู่ของผู้คนในแต่ละชุมชนกลับมาเหมือนเดิม โดยเหล่าคนบนสังคมออนไลน์ และผู้ประกอบการธุรกิจออนไลน์ ได้มารวมตัวกัน สร้างโครงการ ThaiFlood ขึ้นมา เพื่อ ช่วยเป็นสื่อกลางในการรวบรวมข้อมูลจากภาคส่วนต่างๆ และรายงานพื้นที่ประสบภัย โดยใช้เทคโนโลยี เพื่อให้ข้อมูลมีความเที่ยงตรง รอบด้าน  สำหรับเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครใช้เป็นข้อมูล เพื่อเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย จนเป็นที่ได้รับการกล่าวขาน และ ได้รับความชื่นชมจากผู้คนในสังคม ในวันนี้แม้เมฆฝนพายุจะผ่านพ้นไป แต่ปัญหาต่างๆ ในสังคมยังรอให้คนที่เกี่ยวข้องได้ร่วมแก้ไข และหาทางออกที่เหมาะสม 

จากกระแสข่าวที่คนในสังคมให้ความสนใจมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่กรณีพบศพทารก 2,002 ศพที่โกดังเก็บศพวัดไผ่เงินโชตนาราม  ข่าวศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำพิพากษาคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ ที่แต่ละเรื่องเป็นสิ่งที่มีบุคคลได้ฟ้องร้องเอาผิด หรือ มีการเดินเรื่องเพื่อใช้กระบวนการทางกฎหมายมาดำเนินการเพื่อนหาข้อยุติ แต่ในอีกมุมหนึ่งในกลางสังคมเมืองอย่างปากซอยสุขุมวิท 35 ยังมีอีกเรื่องที่ถูกเมินเฉย หรือมองข้ามไปจากสังคม ทั้งที่เรื่องนี้น่าสนใจที่คนเมืองต้องหันกลับมาศึกษา เกี่ยวกับเรื่องพื้นที่สีเขียว และการตัดต้นไม้ใหญ่ หลายคนอาจมองว่าการตัดต้นไม้ใหญ่ในที่ดินกลางเมือง เพื่อปลูกสร้างสิ่งก่อสร้างใหม่ๆ เป็นเรื่องธรรมดาไม่น่าสนใจ หากแต่ต้นไม้ใหญ่ที่เรากำลังพูดถึงนี้มีอายุมากมายกว่าสิบปี แต่ละต้นก็มีขนาดใหญ่แผ่ขยายกิ่งใบให้ความร่มรื่นแก่บริเวณนั้น

เรื่องนี้คงไปสะดุดอะไรสักอย่างของผู้คนบนโลกออนไลน์ จึงมีการก่อตั้งโครงการ "BIGTrees" ภายใต้แนวคิดและที่มา "ต้นไม้พูดไม่ได้ หนีก็ไม่ได้ ไม่เคยทำร้ายใคร มีแต่ให้ร่มเงา ให้อากาศ ให้ความรื่นรมย์กับมนุษย์มาโดยตลอด สุดท้ายก็ถูกตัด ถูกฟันด้วยน้ำมือของมนุษย์มีใครจะกล้าลุกขึ้นมาพูดในนามของต้นไม้บ้างไหม?" ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะมี "พรบ.คุ้มครองต้นไม้ใหญ่"

จากที่ไทยรัฐออนไลน์ได้เข้าไปสังเกตการณ์ และเฝ้าดูความคิดเห็นของผู้คนที่เข้าร่วมโครงการบิ๊กทรี  ส่วนมากต่างเห็นตรงกันว่า ควรจะรักษาต้นไม้เอาไว้ ไม่อยากให้มีการตัด โดยมีการเข้าไปเดินเรื่องกับทางสำนักงานเขตวัฒนา เพื่อให้ทางเขตเข้าไปเจรจาชะลอการตัดต้นไม้ พร้อมทั้ง ดำเนินการเรียกร้องให้มีการเปิดเผย รายงานศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือ EIA เช่นเดียวกับการประสานองค์กร ทั้ง กทม.รัฐวิสาหกิจ และเอกชนในการหาทางออกให้กับต้นไม้ เช่น การย้ายต้นไม้ไปปลูกที่ใหม่ หรือการรักษาไว้บนที่ดินเดิม โดยไม่ไปขัดขวาง หรือสร้างความขัดแย้งกับทางเจ้าของที่ดิน

...



สำหรับข้อเสนอที่ทางโครงการบิ๊กทรีได้ดำเนินการ ตามที่ระบุไว้ในแฟนเพจ  http://www.facebook.com/BIGTreesProject ได้แก่ 1. หาทางประสานกับทาง กทม. และคุณเจ้าของที่ เรื่องการหาทางล้อมต้นไม้ออกจากที่ นำไปพยาบาล แล้วไปปลูกที่อื่นๆ ที่สาธารณะจะได้ประโยชน์ 2. หาทางประสานกับเครือข่าย CSR เช่น ปตท. SCG หรือแม้ Emporium ใกล้ๆที่จัดงานสวนป่าในห้างได้สวยงาม ตอนนี้คงต้องรบกวนมาลุยของจริงแล้ว 3. ประสานงานกับทางบริษัท PR ต่างๆเพื่อสร้างการรับรู้ เพราะเรามองว่า Big Trees ซอย 35 นี้จะเป็น stepping stone ในการอนุรักษ์ต้นไม้ทั้งใหญ่ และไม่ใหญ่ เพื่อการอยู่ร่วมกับคนไทยต่อไป 4. กำลังวางแผนการรวมตัว ด้านหน้า site งาน เพื่อจัดทำ documentary แต่เน้นครับว่าเราจะไม่ทำการขัดขวางอะไรครับ ทุกอย่างต้องให้เกียรติเจ้าของที่ จนกว่าในอนาคตจะเกิด พรบ.คุ้มครองต้นไม้ ซึ่งคือจุดประสงค์หลัก

โครการบิ๊กทรี อาศัยการขับเคลื่อนด้วยเครือข่ายสังคมออนไลน์ทั้ง เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ แต่ละวันจะมีการรายงานความเคลื่อนไหว สถานะของต้นไม้ตลอดเวลา เพื่อให้ผู้ที่สนใจทราบความคืบหน้า และยังสามารถเชื่อมโยงไปยังผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยล่าสุด ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ุ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ทราบเรื่องแล้ว

หลังจากมีการทวิตผ่านทางทวิตเตอร์@bangkokgovernor ระบุว่า "พรุ่งนี้ ผ.อ.เขตวัฒนา บัณฑิต วินิจฉัยกุล ลงพื้นที่ไปดูเรื่องการตัดต้นไม้ซ.สุขุมวิท35 ครับ" เมื่อวันที่ 29 พ.ย.2553 ว่า อีกทั้ง  ผู้ว่าฯ กทม.ยังได้ระบุผ่านทาง Wall บนแฟนเพจในเฟซบุ๊ก Sukhumbhand Paribatra ถึงเรื่องต้นไม้ปากซอยสุขุมวิท 35 "อาทิตย์ที่ผ่านมาทางกทม.ได้ส่งทีมงาน นักวิชาการ และ ผ.อ.เขตไปสำรวจขึ้นบัญชีประเภทและขนาดของพันธุ์ไม้ต่างๆเจ้าของที่ยินดีให้กทม.เข้าไปช่วยโดยการเคลื่อนย้ายคาดว่าใช้เวลา1สัปดาห์ แต่วันนี้ทราบว่ามีการตัดต้นไม้บางส่วน รวมถึงต้นที่ขึ้นบัญชีไว้ กทม.ก็รีบประสานงานกับเจ้าของพื้นที่ทันทีและสั่งการให้ผ.อ.เขตลงพื้นที่เป็นสิ่งแรกในวันพรุ่งนี้ โดยส่วนตัวแล้วผมเสียใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้น และหากมีความคืบหน้าจะแจ้งให้ทราบต่อไปครับ"

มาตามกันดูว่าพลังบนโลกออนไลน์จะช่วยรักษาชีวิตต้นไม้เหล่านี้ได้มากน้อยเพีียงใด และเสียงของประชาชน วันนี้จะมีใครได้ยินหรือไม่ เรามาเป็นกำลังให้กับคนที่เจตนาดี ความคิดดี และ เหล่าต้นไม้ใหญ่ ที่ต้องยืนต้นต้านกระแสการเปลี่ยนแปลงในสังคมต่อไป...