เกรท แบร์ริเออร์ รีฟ (Great Barrier Reef) เป็นแนวปะการังใหญ่ที่สุดในโลกและได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก อีกทั้งเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวนับล้านคนในแต่ละปีมาเยี่ยมเยือนประเทศออสเตรเลียเพื่อชมความงามของแนวปะการังแห่งนี้ แต่เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์พบว่าเกรท แบร์ริเออร์ รีฟ กำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤติอันเนื่องมาจากอุณหภูมิน้ำทะเลที่ร้อน ขึ้นซึ่งเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ปรากฏการณ์ที่ย่ำแย่ลงของแนวปะการังสำคัญของโลก ทำให้รัฐบาลออสเตรเลียไม่นิ่งนอนใจในการหาทางแก้ปัญหา มีการทุ่มงบประมาณระดมสมองนักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลก ซึ่งล่าสุดนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันชีววิทยาทางทะเลแห่งออสเตรเลีย ได้เผยถึงวิธีปกป้องปะการังแบบใหม่ ที่คิดค้นออกมาเป็นฟิล์มย่อยสลายได้เป็นพิเศษ ทำมาจากแคลเซียมคาร์บอเนต มีลักษณะบางกว่าเส้นผมของมนุษย์ประมาณ 50,000 เท่า ฟิล์มนี้จะทำหน้าที่เสมือนโล่กันแสงแดดให้กับแนวปะการัง โดยจะช่วยลดปริมาณของแสงแดดเพื่อป้องกันไม่ให้ปะการังเกิดปฏิกิริยาความเครียดจนนำไปสู่การฟอกสี โดยจะใช้ฟิล์มดังกล่าวครอบคลุมแนวปะการังพื้นที่ 348,000 ตารางกิโลเมตร
อย่างไรก็ตาม แม้นักวิทยาศาสตร์จะคิดค้นวิธีบรรเทาการฟอกสีของปะการัง แต่ก็ใช่ว่าแนวปะการังจะยังปลอดภัย เพราะยังมีการคุกคามอื่นๆ เช่น ถูกปลาดาวมงกุฎหนามกัดกินเป็นอาหาร ซึ่งก็ต้องพยายามหาหนทางแก้ไขต่อไป.