ชาวประมงสมุทรสาคร ชี้ ปลาหมอคางดำ ทำปลากระบอกท้องถิ่นหายไป แม้แต่เคยที่เอาไปทำกะปิก็หาแทบไม่ได้ ส่วนเกษตรกรอำเภอบ้านแพ้วเปิดจุดรับซื้อปลาหมอคางดำเอาไปทำอาหารเลี้ยงปลากะพงและปลาชะโด ในราคา กก.ละ 8 บาท
จากสถานการณ์การระบาดของปลาหมอคางดำ ซึ่งส่งผลกระทบไปเป็นวงกว้างในหลายๆ พื้นที่ เพราะปลาหมอคางดำเป็นปลาที่ขยายพันธุ์ง่าย เร็ว และแข็งแรง ซึ่งในส่วนของจังหวัดสมุทรสาครนับเป็นจังหวัดที่มีการมาตรการในการดำเนินการกำจัดปลาหมอคางดำที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในแหล่งน้ำธรรมชาติ นำร่องของประเทศไทย
จากข้อมูลล่าสุด เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2567 พบว่า มีการจับปลาหมอคางดำระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์ - 15 กรกฎาคม 2567 ไปแล้วจำนวน 532,062 กิโลกรัม (532 ตัน) จำแนกเป็น จับด้วยเครื่องมือประมง อวนรุน น้ำหนักรวม 359,255 กก., จับด้วยเครื่องมือประมงยกยอ น้ำหนักรวม 1,870 กก., จับด้วยเครื่องมือประมง อวนทับตลิ่ง น้ำหนักรวม 533 กก. รวบรวมจากบ่อเพาะเลี้ยงของเกษตรกร 165,990 กก. และเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลากะพง จับด้วยอวนล้อมจับอีกรวม 4,414 กิโลกรัม
นอกจากนี้ยังได้มีการปรับราคารับซื้อปลาหมอคางดำ ขั้นต่ำ ณ จุดรับซื้อ 8 บาท ส่งขายโรงงานปลาป่นในพื้นที่ 10 บาท รวมถึงการใช้แนวทาง 4 จ “เจอ แจ้ง จับ จบ” เพื่อเชิญชวนประชาชนชาวจังหวัดสมุทรสาคร และทุกจังหวัดร่วมกันกำจัดปลาหมอคางดำ
เมื่อเวลา 07.30 น. ของวันที่ 17 กรกฎาคม 2567 ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ไปพบกับพี่น้องชาวประมงชายฝั่งในพื้นที่ตำบลบางกระเจ้า อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ซึ่งเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากปลาหมอคางดำเช่นเดียวกัน

...
นายสุรเดช แหวนทองคำ อายุ 48 ปี ประธานกลุ่มประมงพื้นบ้าน กล่าวว่า ทุกวันนี้ปลากระบอกที่เคยอยู่ตามชายฝั่งลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัดเจน ตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งปัจจัยที่ทำให้ปลากระบอกลดลงนั้นอย่างหนึ่งมาจากปลาหมอคางดำกินสัตว์น้ำชายฝั่งขนาดเล็ก และอาจจะมีเรื่องของปัญหาน้ำเสียร่วมด้วย แต่ก็ต้องยอมรับว่าปลาหมอคางดำทำให้ลูกปลากระบอก ลูกปู ลูกกุ้ง และสัตว์น้ำอื่นๆ ที่มีขนาดเล็ก หรือสัตว์น้ำเกิดใหม่ลดน้อยลงไปจนแทบจะไม่มีให้เห็นแล้ว เพราะปลาหมอคางดำจะกินพวกสัตว์น้ำเกิดใหม่ ส่วนสัตว์น้ำที่ตัวใหญ่แล้วก็รอดไป นอกจากนี้ยังมี "เคย" ที่ใช้ทำเป็นกะปิก็เริ่มลดน้อยลงด้วยเช่นเดียวกัน

ขณะที่ชาวประมงนั้นหากจับปลาหมอคางดำได้ส่วนใหญ่ก็จะนำมาปรุงเป็นอาหาร เช่น ปลาหมอคางดำแดดเดียว เพราะเนื้อของปลาหมอคางดำที่จับได้จากในทะเลจะอร่อยกว่าปลาหมอคางดำในน้ำจืด แต่ปัจจุบันปลาหมอคางดำมีมากเกินไปบางครั้งก็ไม่รู้จะทำอะไร ก็ต้องปล่อยให้ตายแล้วทิ้งไป
ต่อมาเมื่อเวลาประมาณ 08.30 น. ผู้สื่อข่าวเดินทางไปที่จุดรับซื้อปลาหมอคางดำ อยู่บริเวณด้านหลังซีเจ ยกกระบัตร ต.ยกกระบัตร อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร โดยพบกับนายเฉลิมพล เกิดปั้น เกษตรกรในอำเภอบ้านแพ้ว เปิดเผยว่า ตามที่กรมประมงกำหนดพื้นที่จุดรวบรวมรับซื้อปลาหมอคางดำ เพื่อกำจัดออกจากแหล่งน้ำในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ตามโครงการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำที่ส่งผลต่อระบบนิเวศในแหล่งน้ำ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมประมง โดยจุดรับซื้อของตนนั้นปกติจะรับซื้อได้วันละประมาณ 1 ตัน โดยเอาไปเลี้ยงปลากะพงกับปลาชะโด โดยเรารับซื้อ กก.ละ 8 บาท

เกษตรกรในอำเภอบ้านแพ้ว กล่าวต่อว่า ทาง จนท.ประมงบอกว่าถ้าเหลือให้นำไปขายโรงปลาป่นในราคาโลละ 10 บาท ซึ่งเขามีโครงการช่วยเหลือ โดยจุดนี้เปิดมาได้แล้วประมาณ 10 กว่าวัน โดยทางกรมประมงเขาให้ช่วยกระจายเป็นแหล่งรับซื้อ เพื่อจะได้ใกล้พื้นที่ที่จะกำจัดปลาหมอคางดำ เผื่อรายย่อยที่มี 100-200 กิโลกรัมจะได้ไม่ต้องวิ่งไปไกล ซึ่งจะวิ่งไปขายโรงปลาป่นก็ไปไม่ได้ เพราะต้องขึ้นทะเบียน ถ้าไม่ขึ้นทะเบียนก็ไปขายไม่ได้ ดังนั้นตรงนี้ก็เลยเป็นจุดในการรับซื้อตกวันละประมาณ 1 ตัน
"ตนคิดว่าจะทำต่อไปเรื่อยๆ เพื่อจะได้ช่วยกันกำจัดปลาหมอคางดำให้หมด จะพยายามลดการซื้อเหยื่อปลาทะเลลง เพื่อจะมาใช้ปลาหมอคางดำแทน จะได้ช่วยกันกำจัดไปให้หมดสักที และคนที่จะนำมาขายส่วนมากรายย่อยเป็นคนในพื้นที่ที่นำมาจากบ่อเลี้ยงกุ้งและปลากะพง" นายเฉลิมพล กล่าว.