ชาวประมงพื้นบ้านสาคร อ.ท่าแพ จ.สตูล เข้ายื่นร้องขอความเป็นธรรม ที่ศูนย์ดำรงธรรม ศาลากลาง จ.สตูล ในกรณี ชาวบ้านออกหาหอยกาบง แล้วถูก จนท.อุทยานฯ จับและยึดเรือ โดยทางจังหวัดรับเรื่องประสานผู้เกี่ยวข้อง หาทางออกร่วมกัน

เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศูนย์ดำรงธรรม ศาลากลาง จ.สตูล ชาวบ้านพื้นที่ ม.1, 4 และ 5 ต.สาคร อ.ท่าแพ จ.สตูล กว่า 50 คน นำโดยนายสุนธร หนูนุ้ย สมาชิก อบต.ม.1 ต.สาคร เดินทางมาร้องขอความเป็นธรรม โดยชาวบ้านแจ้งว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจาก จนท.อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ในเรื่องของการทำมาหากิน กรณีชาวบ้านหาหอยกาบงในพื้นที่ ต.ละงู อ.ละงู จ.สตูล และถูกเจ้าหน้าที่จับกุมและยึดเรือไป โดยอ้างว่าหาหอยในเขตอุทยานฯ ทั้งที่ชาวบ้านได้ทำมาหากินมากว่า 50 ปี และไม่ทราบว่าอยู่ในเขตพื้นที่ และจนท.เลือกปฏิบัติเฉพาะพวกตน คนในพื้นที่ไม่จับ

ต่อมา นายเทอดไทย ขวัญทอง ผู้อำนวยการ สำนักงาน ทสจ.สตูล เดินทางมาพบกับชาวบ้าน เพื่อรับฟังข้อปัญหาดังกล่าว พร้อมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหา และให้ความเป็นธรรมทั้งเจ้าหน้าที่และชาวบ้าน 

...

นายสุนธร หนูนุ้ย ตัวแทนกลุ่มชาวบ้าน กล่าวว่า ที่มาร้องศูนย์ดำรงธรรมเนื่องจากเรือของลูกชายตน ซึ่งเป็นเรือหัวโทง ออกหาหอยกาบงและถูกจับในพื้นที่ ต.ละงู อ.ละงู โดยถูกยึดเรือไปด้วย แต่เมื่อตนได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่ไปจับเรือประมงลำอื่น จนท.กลับไม่ยอมจับ ตนมองว่าเป็นการเลือกปฏิบัติคนในพื้นที่ไม่จับ แต่จับคนนอกพื้นที่ โดยวันนี้ที่มีร้องศูนย์ดำรงธรรมมี 3 เรื่อง คือ 1. ต้องการได้เรือคืนกลับมา 2. ต้องการให้ทางอุทยานฯ กันแนวเขตหรือชี้แนวเขตให้ชัดเจน และ 3. เจ้าหน้าที่เลือกปฏิบัติ

นายสุนธร กล่าวว่า ตนและชาวบ้านทำอาชีพนี้มากว่า 50 ปี ทำมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ เพราะหอยกาบงหรือ หอยกระพง เป็นหอยที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ใช้แค่มือกับกระชังเท่านั้น โดยชาวบ้านที่มาหาหอยในพื้นที่ อ.ละงู มีประมาณ 20 ลำแต่ละลำหาหอยได้ 40-100 กก. ตามออเดอร์ลูกค้า ส่วนใหญ่แล้วนำมาขายให้กับงานแต่งงาน งานเข้าสุหนัตและงานบุญต่างๆ โดยการหาหอยกาบงนั้นสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านโดยเฉพาะผู้หญิง ทั้งคนชราและคนพิการ หากไม่กำหนดแนวเขตให้ชัดว่าเป็นพื้นที่อุทยานฯ ชาวบ้านเข้าไปจะถูกจับและเดือดร้อนกันไม่ต่ำกว่า 100 ครัวเรือนที่ทำอาชีพรับจ้างแกะหอย โดยชาวบ้านที่แกะหอยจะมีรายได้วันละ 150 บาท

ด้าน ผอ.ทสจ.สตูล กล่าวว่า หลังรับเรื่องแล้วจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ หัวหน้าอุทยานฯ, สำนักบริหารฯ 5, ทสจ.และตัวแทนชาวบ้านมาร่วมประชุมหารือว่าจะแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างไร ทั้งเรื่องของแนวเขตเรื่องขอบเขตการหาหอย ว่าหาได้แค่ไหน เรื่องเจ้าหน้าที่เลือกปฏิบัติหรือไม่ รายอื่นที่ทำได้ทำอย่างไร มีข้อยกเว้นอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้จะให้ความเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย หลังรับเรื่องแล้วชาวบ้านก็เดินทางกลับ.

...