
กติกาใหม่ เปลี่ยนการเมืองได้หรือไม่?
ยังเป็นคำถามที่ไม่เกี่ยวกับ 4 คำถามของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เพียงแต่เป็นกระบวนการการเมืองที่หวังว่าจะ ทำให้การเมืองดีขึ้น
อย่างหนึ่งที่มีจะทำให้นักการเมืองในแต่ละพรรค โดยเฉพาะพรรคการเมืองใหญ่ที่ผู้สมัครจะต้องตัดสินใจให้ดี
ด้วยเงื่อนไขใหม่ที่ต่างไปจากเก่าระหว่าง ส.ส.เขตกับ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์
ก่อนหน้านี้ผู้สมัครจากพรรคการเมืองไหนก็ตามหากได้รับเลือกตั้งจาก ส.ส.เขตแล้วยังมีคะแนนเพื่อไปถึงผู้สมัครปาร์ตี้ลิสต์ด้วย
พูดง่ายๆได้เสียงมากเท่าใดก็ยิ่งดีเติมเต็มให้กันและกัน
แต่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ประกาศใช้ไปแล้ว ได้กำหนดหลักคิดใหม่ว่า คะแนนทุกเสียงนั้นมีความหมายไม่ว่าจะเลือกใคร พรรคไหนก็ตาม
หนึ่งเสียงหนึ่งสิทธิไม่ตกหล่นหายไปไหน
หมายความว่าการเลือกตั้ง ส.ส.เขตนั้นหากผู้ลงคะแนนเลือกผู้สมัครไหน จากพรรคการเมืองไหน นอกจากได้ผู้สมัครตามประสงค์แล้ว คะแนนจากการเลือกพรรค ก็จะบวกเข้าไปด้วย เพื่อให้มีผลต่อ ส.ส.ในระบบปาร์ตี้ลิสต์ด้วย
จึงไม่แปลกที่พรรคการเมืองแต่ละพรรคก็มีผู้สมัครในแบบเขตและปาร์ตี้ลิสต์ ในเขตเลือกตั้งนั้นก็จะให้คนที่ได้ความนิยมในแต่ละพื้นที่ลงสมัคร
แต่บรรดานายทุน คนใกล้ชิด คนมีชื่อเสียง คนไม่มีฐานเสียงก็ไม่ต้องเหนื่อยวิ่งตะลอนหาเสียงด้วยตนเอง
เป็นการช่วยหาเสียงทางอ้อม ด้วยการสนับสนุนในด้านต่างๆ
พรรคการเมืองใหญ่จะได้ประโยชน์มากกว่าพรรคเล็ก เพราะมีความพร้อมทั้งนโยบาย เงิน ตัวบุคคลและชื่อเสียงพรรค อีกทั้งการเลือกตั้งจะเป็นไปแบบเลือกทั้งคนทั้งพรรคจึงได้ประโยชน์ 2 ทาง
พรรคการเมืองเล็กที่สู้ไม่ได้อยู่แล้ว หากไม่ชนะเลือกตั้งแบบเขตโอกาสที่จะได้ ส.ส.แบบปาร์ตี้ลิสต์จึงน้อยมากเมื่อนำมาเปรียบเทียบ ตามสัดส่วน
แต่เมื่อมีการสร้างกติกาใหม่จะเกิดความเปลี่ยนแปลงที่ต่างไป เพราะพรรคการเมืองใหญ่โอกาสที่จะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์จะต่างไปทันที
ใครลงสมัครในระบบปาร์ตี้ลิสต์ เกิดความไม่แน่นอนแล้ว
การเลือกตั้งครั้งต่อไปด้วยความแน่นอน ก็คือการลงสมัครในแบบเขตมากกว่า เว้นแต่ผู้สมัครในระบบปาร์ตี้ลิสต์ ในระดับต้นๆ เท่านั้นจึงมีโอกาส
หลักคิดที่เปลี่ยนไปนั้นจึงมีความจำเป็นที่นักการเมือง ซึ่งมีชื่อเสียงในแต่ละพรรค จึงต้องการลงสมัครในแบบเขตมากกว่าเพื่อให้เกิดความแน่นอนว่าได้เป็น ส.ส.แน่
เมื่อเป็นเช่นนี้จะเกิดปัญหาแย่งกันลงสมัครแบบ ส.ส.เขต
“ถ้าพรรคใดมี ส.ส.เขตเท่ากัน หรือมากกว่าจำนวน ส.ส.ของพรรคที่พึงมีของพรรคนั้นจะไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ”
ดังนั้น พรรคการเมืองใหญ่จะรู้สึกว่าเกิดความเสียเปรียบและตีความไปว่าไม่ต้องการให้มีพรรคใหญ่ทำให้การเป็นรัฐบาลพรรคเดียวจะยากขึ้น จึงต้องเป็นรัฐบาลผสมมากกว่า
พูดง่ายๆก็คือตัดตอนพรรคการเมืองใหญ่
จึงเป็นโอกาสของพรรคการเมืองระดับกลาง ระดับเล็กที่ โอกาสเปิดให้มาก เพราะถ้าไม่ได้รับเลือกตั้งแต่คะแนนเสียงที่ลงไปนั้น จะมีผลต่อคะแนนในระบบบัญชีรายชื่อ
ความเป็นไปได้ในทางการเมืองก็คือ จะมีพรรคการเมืองเสนอตัวให้ประชาชนเลือกมากขึ้น และมีโอกาสได้ ส.ส.เข้าสภา
จะเป็นรัฐบาลเบี้ยหัวแตกที่บริหารประเทศยากขึ้น.
“สายล่อฟ้า”