
อุบัติเหตุที่ร้ายแรงและสะเทือนขวัญมากที่สุดของเทศกาลปีใหม่ปีนี้ ได้แก่ อุบัติเหตุรถตู้คนขับหลับในพุ่งข้ามถนนไปชนรถปิกอัพ อีกฝั่งจนเกิดเพลิงลุกไหม้เสียชีวิตถึง 25 ศพ ที่จังหวัดชลบุรี
ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ด้วยความห่วงใยของความไม่ปลอดภัยของการใช้รถตู้มาเป็นรถโดยสาร จนในที่สุดกระทรวงคมนาคม อาจจะมีการยกเลิกการใช้รถตู้โดยหันมาใช้ไมโครบัสขนาด 20 ที่นั่งแทน ดังรายละเอียดของข่าวที่ท่านผู้อ่านคงจะพอทราบกันอยู่แล้ว
ผลการดำเนินการในเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร? จะเกิดขึ้นหรือไม่? คงต้องติดตามกันต่อไปครับ
ที่ผมตั้งใจจะเขียนในวันนี้เพียงแต่จะบันทึกเป็นตำนานเอาไว้ให้ทราบ ถึงที่มาที่ไปของการเกิด “รถตู้โดยสาร” เท่านั้น
เผื่อว่ารถตู้โดยสารหมดไปจริงๆ อนุชนรุ่นหลังๆมาอ่านเจอเข้า จะได้รู้ว่าในยุคหนึ่ง สมัยหนึ่งเราใช้รถตู้ในการขนส่งผู้คนไปมาข้ามประเทศ ข้ามจังหวัดกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน จนกล่าวได้ว่าเป็นการคมนาคมขนส่งหลักประการหนึ่งสำหรับการเดินทางในระยะที่ไม่ยาวไกลจนเกินไป
ขณะเดียวกันก็เพื่อบันทึกให้ทราบถึงตัวอย่างของการ “พัฒนานอกแผนพัฒนาฯ” ที่ไม่มีนักพัฒนาคนใดคาดคิดมาก่อน อันเกิดจากมันสมองที่พลิกแพลงของคนไทย
มันอาจไม่ใช่สิ่งที่เรียกกันว่า “นวัตกรรม” อย่างที่นักพัฒนารุ่นใหม่ อยากเห็นในยุคไทยแลนด์ 4.0 เพราะมันเป็นแค่ความคิดพลิกแพลงนอกกรอบและอาจไม่ถูกกฎหมายด้วยของคนไทยบางกลุ่มเท่านั้น
แต่ความคิดนอกกรอบในเรื่องนี้กลับกลายเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ และกลายเป็นเครื่องสนับสนุนการทำงานของคนจังหวัดใกล้เคียงกับเมืองใหญ่ๆ นับแสนๆคนทั่วประเทศในแต่ละวัน
เช่นเดียวกับความคิดในการใช้มอเตอร์ไซค์ที่ควรจะใช้ขี่แบบบุคคลอย่างเดียวมาเป็น “มอเตอร์ไซค์รับจ้าง” ก่อให้เกิดการจ้างงาน น่าจะเป็นแสนๆคนทั่วประเทศในขณะนี้
ทั้ง รถตู้ และ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ล้วนเป็นการพัฒนาที่อยู่นอกเหนือแผนพัฒนาทุกฉบับ และเป็นตัวอย่างของอีกหลายๆอาชีพ หลายๆกิจกรรมที่เกิดนอกแผน และบางครั้งก็ไม่ถูกกฎหมายเช่นกัน แต่สร้างงาน สร้างอาชีพแก่คนไทยและประเทศไทยจำนวนมาก
มาเริ่มที่รถตู้ และเริ่มด้วยคำถามว่ารถตู้กลายเป็นรถโดยสารได้อย่างไร?
คำตอบในทางเศรษฐศาสตร์ก็คือ เพราะมันมีดีมานด์หรือความต้องการเกิดขึ้น อันสืบเนื่องมาจากบ้านเมืองเติบโตขึ้น ผู้คนต้องเดินทางมากขึ้น แต่ระบบการคมนาคมของรัฐที่มีอยู่ไม่พอเพียง หรือแม้จะพอเพียงแต่ก็ไม่ทันใจคน เพราะออกเดินทางเฉพาะตามเวลาที่กำหนดไว้ ไม่ออกถี่ๆ ออกบ่อยๆ หรือออกเวลาไหนก็ได้ตามที่ประชาชนต้องการ
แรกๆคนไทยที่ต้องเดินทางด่วนมักอาศัยแท็กซี่ป้ายดำเป็นหลัก แถวๆภาคใต้จะมีมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะการเดินทางจากหาดใหญ่ สงขลา ไปจังหวัดรอบๆ จะมีแท็กซี่ป้ายดำมาจอดให้บริการวันละหลายๆเที่ยว
ต่อมาประมาณ พ.ศ.2520 เริ่มมีการสั่งรถตู้เข้ามาใช้เป็นรถส่วนบุคคล และของส่วนราชการมากขึ้น เจ้าของแท็กซี่ป้ายดำข้ามจังหวัดจึงซื้อมาใช้ขนผู้คนบ้าง เพราะจะขนได้มากกว่า
ก็เกิดรถตู้รับจ้างป้ายดำเข้ามาแทนที่รถแท็กซี่ป้ายดำ และเริ่มที่ภาคใต้ก่อนเช่นกัน ผมเดินทางโดยรถตู้โดยสารป้ายดำครั้งแรกในชีวิตจากตรังไปหาดใหญ่ ประมาณ พ.ศ.2521
อย่างไรก็ตาม ในประเด็นนี้อาจจะมีบางท่านแย้งได้ว่า กำเนิดของรถตู้โดยสารเกิดขึ้นที่อีสานต่างหาก หรือไม่ก็เกิดที่ภาคเหนือต่างหาก ฯลฯ ซึ่งผมก็คงจะไม่โต้แย้งถกเถียงแต่ประการใด
เพราะในช่วงเวลาที่มันเกิดขึ้น และเผยแพร่ไปทั่วประเทศนั้นค่อนข้างรวดเร็วมาก จนแทบไม่สามารถบอกได้ว่าเกิดขึ้นที่จังหวัดใดก่อนอย่างแจ้งชัด
เผอิญว่าผมไปเจอที่หาดใหญ่ก่อน ก็ขออนุญาตทึกทักว่าต้นคิดมาจากหาดใหญ่ก็แล้วกัน
เอาเป็นว่ารถตู้โดยสารเริ่มเป็นที่รู้จักและออกให้บริการอย่างผิดกฎหมายมาตั้งแต่ พ.ศ.2520 ภายหลังจากประเทศไทยพัฒนามาแล้ว 4 แผน
และมีการก่อสร้างเส้นทางคมนาคมทั่วประเทศมากมาย
และก็เป็นการเกิดอย่างนอกแผนพัฒนาแน่นอน เพราะผมเชื่อว่าในแผนพัฒนาด้านคมนาคมของทางราชการนั้น น่าจะพูดถึงแต่การเดินรถของ บขส.หรือรถทัวร์ ซึ่งเป็นรถร่วม บขส.เท่านั้น.
“ซูม”