
เร่งสัมปทานขุดเจาะนํ้ามัน ความจริงที่ซ่อนเร้น
วันนี้ผมขออนุญาตนำข้อมูลจากการให้สัมภาษณ์ของ คุณอลงกรณ์ พลบุตร กรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ในโพสต์ทูเดย์มาเล่าสู่กันฟังเป็นข้อมูลที่ยังไม่มีคำตอบจาก กระทรวงพลังงาน ของ ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี นอกจากจุดยืนที่ต้องการ “เปิดสัมปทาน” อย่างเดียว กับคำขู่ยอดฮิต ถ้าไม่เปิดสัมปทานวันนี้อีก 7 ปี จะไม่มีก๊าซใช้ จะเลื่อนไป 3 เดือน 6 เดือนก็ไม่ได้เด็ดขาด
เรียกว่า กระทรวงพลังงาน เก่งขนาด กำหนดปีก๊าซหมดประเทศ ได้เลยทีเดียว
ข่าวแนะนำ
คุณอลงกรณ์ ให้เหตุผลถึงข้อเรียกร้อง ให้แก้ไขกฎหมายปิโตรเลียม เสียก่อน แล้วค่อยเปิดสัมปทาน เพราะ เป็นกฎหมายฉบับเดียว ที่ “ล็อก” ระบบสัมปทานมาตั้งแต่ต้น ทั้งยังเขียนให้ บริษัทต่างชาติได้ประโยชน์มากกว่าบริษัทไทย
และที่เสนอให้ แก้ไขกฎหมายภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ด้วย
ก็เพราะกฎหมายฉบับนี้ กำหนดให้นำรายจ่ายจากการสำรวจขุดเจาะ มาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้ ซึ่งมีช่องโหว่ เช่น มีการนำค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้เกิดจากการสัมปทานแปลงนั้นไปใช้จ่ายในแปลงสัมปทานที่มีความเสี่ยง (นี่ยังไม่นับค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่จ่ายเพื่อเอ็นเตอร์เทนข้าราชการและนักการเมืองอีกเยอะแยะ)
ภาครัฐมองแต่โครงสร้างเดิมๆ ที่เน้นว่า รัฐควรได้เท่านั้นเท่านี้ ตั้งแต่สัมปทาน ระบบไทยแลนด์หนึ่ง จนถึง ระบบไทยแลนด์ทรีพลัส ในสัมปทานรอบที่ 21 โดยอ้างมาตลอดว่า เราไม่มีประสบการณ์ ทั้งๆที่ไทยเราก็ใช้ “ระบบแบ่งปันผลผลิต” มามากกว่า 20 ปีแล้ว ในโครงการสำรวจขุดเจาะปิโตรเลียมแหล่งเจดีเอ (พื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย) และเราก็มีบริษัทสำรวจขุดเจาะ คือ ปตท. สผ.
ในเรื่อง ความมั่นคงทางพลังงาน ที่ กระทรวงพลังงาน และ คนในแวดวงพลังงาน ชอบยกขึ้นมาอ้างว่า ถ้าไม่รีบเปิดสัมปทานวันนี้ ก๊าซจะหมดอ่าวไทยภายใน 7 ปี
คุณอลงกรณ์ ตอบว่า เป็นไปไม่ได้ เช่น สัมปทานก๊าซและน้ำมันในแหล่งเอราวัณของเชฟรอน และ สัมปทานแหล่งบงกชของ ปตท. สผ. สัมปทานสองแห่งนี้จะหมดอายุในปี 2565 และ 2566 อีก 7 ปี 8 ปีข้างหน้า สองแหล่งนี้เป็นแหล่งใหญ่มาก มีกำลังการผลิตรวมกันเท่ากับ 80% ของแหล่งผลิตก๊าซในอ่าวไทย แต่ได้สัมปทานไป 20 ปี มีการต่ออายุสัมปทานจนกฎหมายปัจจุบันไม่อนุญาตให้ต่ออายุสัมปทานอีกแล้ว
เมื่อสัญญาสัมปทานสิ้นสุดลง แหล่งสัมปทาน แท่นเจาะ แท่นผลิต ท่อส่งก๊าซ จะตกเป็นของรัฐ รัฐสามารถทำการผลิตก๊าซในแหล่งนี้ต่อเนื่องต่อไปได้ บางหลุมสามารถผลิตต่อไปได้อีก 10–20 ปี หรือ 30 ปี
เพียงแต่ต้องมีแท่นผลิตไปสวม จะเปิดประมูลจ้างเอกชนไปผลิตให้ก็ได้ เรื่องก๊าซจะหมดอ่าวไทยใน 7 ปี จึงไม่เป็นความจริง
ผมนำข้อมูลของ คุณอลงกรณ์ มาลงในคอลัมน์วันนี้ เพราะเชื่อว่าคุณอลงกรณ์พูดความจริง ในฐานะ กรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน ที่กำลัง ออกแบบแนวทางการปฏิรูปพลังงานไทย ซึ่งใกล้จะเสร็จแล้ว จะส่งให้ สภาปฏิรูปแห่งชาติ ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์นี้ เพื่อส่งต่อให้ กรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญนำไปบรรจุไว้ใน รัฐธรรมนูญฉบับใหม่
เป็นความจริงที่กระทรวงพลังงานไม่เคยบอกประชาชน
คุณอลงกรณ์ เห็นว่า ไทยยังมีเวลาชะลอการเปิดสัมปทานรอบที่ 21 เพราะปริมาณไฟฟ้าสำรองในปัจจุบันยังมีล้นเหลือเกินกว่า 25% และอีก 6 ปี ไฟฟ้าสำรองจะเพิ่มเป็น 44% หรือไม่น้อยกว่า 10,000 เมกะวัตต์ คิดเป็นโรงไฟฟ้าขนาด 700 เมกะวัตต์ ถึง 14 โรง หมายความว่า ความต้องการใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าจะไม่เพิ่มขึ้นมากจนอยู่ในระดับวิกฤติ (อย่างที่ขู่กันว่าอีก 7 ปีหมด)
ผมเห็นด้วยกับ คุณอลงกรณ์ ว่า รัฐบาลควรจะชะลอการเปิดสัมปทานไปสัก 6 เดือน เพื่อ แก้กฎหมายให้ทันสมัย และ รอแนวทางการปฏิรูปพลังงานที่ชัดเจน จาก สภาปฏิรูปแห่งชาติ ซึ่งจะบรรจุลงใน รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะได้ไม่มีปัญหาในอนาคต
หรือว่ามีใครคิดจะ “เร่งล็อกสเปก” ก่อนการปฏิรูปพลังงาน???
“ลม เปลี่ยนทิศ”