
บลูทั้งค์...จิ้งเหลนลิ้นน้ำเงิน สัตว์บ่งชี้..หลากหลายชีวภาพ
บลูทั้งค์โชว์ลิ้นสีน้ำเงิน.
งานมหกรรมทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นปี 2553 จัดขึ้นโดย สำนักพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (สพภ.) ณ ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ จ.นนทบุรี ผ่านไปเมื่อเร็วๆนี้...
หลายชีวิต...ทราบว่ามีการนำสัตว์หลากหลายชนิดทั้งในประเทศไทย และนำเข้ามาจากต่างประเทศจำนวนมากมาจัดโชว์ให้ชม...จึงแวะไปหาข้อมูล ที่สะดุดตาก็คงจะเป็นจำพวก สัตว์เลื้อยคลาน เพราะสัตว์กลุ่มนี้มักจะเป็นตัวบ่งชี้ถึง ความหลากหลายทางชีวภาพ ของแต่ละประเทศที่มันอาศัยอยู่....เนื่องจากการใช้ลิ้นแลบออกมาเพื่อสัมผัสเส้นทางการเคลื่อนที่ไปข้างหน้า
...แล้วก็พบสัตว์แปลกที่ไม่เคยเห็นมาก่อน นั่นคือ จิ้งเหลนลิ้นน้ำเงิน หรือ บลูทั้งค์ Blue TongueSkink มีชื่อวิทยาศาสตร์ Tiliqua sp. Scientific classification Kingdom : Animalia Genus : Tiliqua สำหรับ Species ย่อยมีหลายชนิดมากกว่า 1,800 ชนิด
...จิ้งเหลนลิ้นสีน้ำเงิน...คนในวงการเลี้ยงจิ้งเหลน มักเรียกเจ้าตัวนี้กันแบบย่อๆว่า BTS โดยตัวที่เอามาโชว์เป็นชนิด Tiliqua gigas ของอินโดนีเซีย ลำตัวมีเกล็ดสีดำสลับสีทองน้ำตาลลาย บางชนิดก็อาจจะมีสีแตกต่างกันไป แต่ที่สำคัญทุกตัวมีลิ้นสีฟ้าอย่างเด่นชัด
ถิ่นกำเนิด พบมากแถบ ประเทศอินโดนีเซีย และออสเตรเลีย กินแมลง หอยทาก หนูแดง เนื้อ ปลา ไข่ ผัก ผลไม้ บางคนเอาอาหารกระป๋องให้ก็ยังกิน เรียกว่ากินได้ทุกอย่าง
เมื่ออายุได้ 2 ปีจะถึงวัยเจริญพันธุ์ ในขณะผสมตัวผู้จะกัดบริเวณคอของตัวเมีย ซึ่งอาจ ทำให้เกิดรอยกัดหรือบาดแผลได้ ซึ่งเป็นธรรมชาติของสัตว์ชนิดนี้
สำหรับวิธีการเลี้ยง Blue–tongued skinks... บลูทั้งก์ สกิ้งค์ เป็นสัตว์เลี้ยงที่เรียกได้ว่ายอดเยี่ยมสำหรับมือใหม่โดยแท้เลยก็ว่าได้ เมื่อโตเต็มวัย ขนาดตู้ที่เหมาะสมใช้ประมาณ 30 แกลลอน ส่วน อุณหภูมิในตู้เลี้ยงควรจะอยู่ที่ 75–90 ฟาเรนไฮต์
ถึงแม้ว่าบลูทั้งค์ จะมีความต้องการรังสี UV น้อยกว่ากิ้งก่า แต่หลอดยูวีจำเป็นต้องมีอยู่เสมอในกรณีที่เลี้ยงไว้ในที่ร่ม ชามน้ำเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ ควรเป็นแบบที่สามารถเอาตัวลง ไปนอนแช่ได้ยิ่งดี สำหรับอาหารของบลูทั้งค์นั้น ควรให้ทั้งเนื้อสัตว์ และผักผลไม้ด้วย สำหรับคนที่ชอบให้อาหารกระป๋องนั้น ควรให้ใช้ อาหารกระป๋องของแมวดีกว่าอาหารสุนัข อัตราการให้ อาหาร 3–4 ครั้งต่ออาทิตย์ และ อย่าลืมคลุกแคลเซียมลงไปในอาหาร เพื่อสุขภาพที่ดี
ใครสนใจเลี้ยงสัตว์แปลกพวกนี้ หรือต้องการความรู้คลิก www.SiamReptile.com แล้วก็จะ กระจ่างทั้งข้อดีและข้อเสียในการเลี้ยง รวมทั้งการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกฎหมายการส่งออกสัตว์กลุ่มนี้ไปต่างประเทศ ที่ต้องขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานของรัฐ โดยมีทาง สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ หรือ สพภ.เป็นพลังให้อีกแรงหนึ่ง...!!
ไชยรัตน์ ส้มฉุน