
กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในแวดวงการเงินการธนาคารของประเทศไทย สำหรับไอเดียสุดบรรเจิดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง “กรณ์ จาติกวณิช” แห่งพรรคประชาธิปัตย์
โดยระบุว่า เป็นความพยายามช่วยประชาชนลดภาระหนี้สิน และการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ของคนรายได้น้อยรอบสุดท้ายก่อนลาจากไปเลือกตั้ง โดยหวัง ใช้กลไกรัฐที่มีอยู่อัดนโยบายมัดใจตุนคะแนนเสียงเป็นเสบียงกรังเอาไว้ก่อน
นำร่องด้วยการเสนอเรื่องคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้ธนาคารอาคาร สงเคราะห์ (ธอส.) ทำโครงการ “บ้าน ธอส. เพื่อที่อยู่อาศัยหลังแรก” คิดดอกเบี้ย 0% เป็นเวลา 2 ปี ภายใต้วงเงิน 25,000 ล้านบาท
และตามมาด้วยก๊อกสอง กับโครงการ “รีไฟแนนซ์หนี้บัตรเครดิตสถาบันการเงิน” ที่หวังยึดหัวหาดคนชั้นกลาง ด้วยการให้สถาบันการเงินของรัฐ 3 แห่งร่วมกันรับรีไฟแนนซ์หนี้บัตรเครดิต คิดอัตราดอกเบี้ย 10% ต่อปี
ภายใต้วงเงินที่จุดพลุออกมาเบื้องต้น 50,000 ล้านบาท แต่สุดท้ายลดลงมาเหลือ 10,000 ล้านบาท
ด้วยเหตุผลที่ต้องการให้กลุ่มคนที่ใช้บัตรเครดิตแบบผ่อนชำระ ที่ รมว.คลัง อ้างว่าต้องแบกอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตหลังแอ่นเพราะต้องถูกโขกสูงถึง 20%แคมเปญที่ออกมาแรงขนาดนี้ ทำเอาผู้บริหารระดับสูงของแบงก์พาณิชย์และบริษัทปล่อยสินเชื่อที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) ถึงกับนั่งไม่ติด เพราะเป็นการเปิดหน้าแย่งลูกค้าดีกันเห็นๆ
ธุรกิจบัตรเครดิต ที่ดำเนินการอยู่ทั้งในส่วนของสถาบันการเงินและ “นอนแบงก์” มีหวังได้ปั่นป่วนทั้งระบบ เพราะหนี้ดีของธุรกิจจะถูกดูดออกไปเฉียด 30% จากปัจจุบันที่มียอดหนี้คงค้างดีอยู่ราว 170,000 ล้านบาท
ผลที่ตามมาจะทำให้รายได้หลักจากดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมจะหดหายลดลงไปทันที
ขณะเดียวกัน เมื่อหนี้ดีถูกดึงออกไป หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) จะพุ่งสูงขึ้นทันที ผู้ประกอบการบัตรเครดิตรายใดมีสายป่านสั้น ไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนได้อาจถึงขั้นต้องปิดกิจการตามมา
ยิ่งเมื่อรัฐมนตรีคลังก้าวรุกโครงการในระยะต่อไปจะขยายขอบเขตการดำเนินโครงการไปยังตลาดบัตรเครดิตประเภทกดเงินสด ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ของตลาดด้วยแล้ว ทำให้โครงการนี้ถูกจับตาอย่างใกล้ชิด
เพราะแนวทาง “ประชานิยมทางการเงิน” ที่รัฐบาลออกมานี้ กำลังกลายเป็นต้นแบบของนโยบายประชานิยมทางการเงินของพรรคอื่นๆ ที่เตรียมออกโปรเจกต์สินเชื่อ และโครงการลดหนี้ใหม่ๆ ออกมาเป็นทิวแถว ซึ่งถึงจุดนั้นระบบการเงินของไทยคงปั่นป่วนอย่างแท้จริง
ขณะเดียวกัน การนำเงินภาษีของประชาชนเข้ามาแทรกแซงสินเชื่อในระบบ ซึ่งดำเนินอยู่ตามครรลองที่มีเงื่อนไขชัดเจน ระหว่างผู้กู้เงิน และผู้ให้กู้อยู่แล้ว ถือเป็นเรื่องสุ่มเสี่ยงที่จะทำลายวินัยทางการเงินและการคลังที่ดีอีกด้วย
ย้อนรอยต้นแบบ “รีไฟแนนซ์หนี้เน่า”
จริงๆแล้วมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้บัตรเครดิตนั้น หาใช่เป็นมาตรการใหม่ถอดด้ามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจุดพลุขึ้นมา
เพราะก่อนหน้านี้ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยได้ออกผลิตภัณฑ์ “สินเชื่อเพื่อการรีไฟแนนซ์หนี้บัตรเครดิต” เพื่อช่วยเหลือกลุ่มคนที่ประสบปัญหาไม่สามารถใช้หนี้บัตรเครดิต จนต้องถูกเจ้าหนี้ตามทวงหนี้มหาโหดจนกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ตลอดจนไปถึงหน้าที่การงานมาแล้ว
สินเชื่อเพื่อการรีไฟแนนซ์บัตรเครดิตดังกล่าว กำหนดให้ผู้ถือบัตรเครดิต ที่กำลังประสบปัญหานำบัตรเครดิตที่มีอยู่ทั้งหมดกี่ใบก็ตาม มานำรวบรวมกัน ว่ามีหนี้จำนวนเท่าไร พร้อมรับรีไฟแนนซ์ คิดอัตรากำไร 14% ต่อปี กำหนดระยะเวลาการกู้ยืม 1-6 ปี ระยะเวลาปลอดดอกเบี้ย 6 เดือน

นอกจากนั้น ที่ดีกว่าคือกลุ่มลูกค้าบัตรเครดิตกลุ่มนี้ที่ถูกขึ้นแบล็กลิสต์ ซึ่งในปัจจุบันมีอยู่กว่า 1.4 ล้านบัตร รวมยอดหนี้เสีย 45,832 ล้านบาท เมื่อรัฐยื่นมือเข้ามาให้ความช่วยเหลือโยกหนี้เสียที่มีอยู่ทั้งหมดเข้ามาอยู่ในระบบแล้ว คนเหล่านี้กลับมายืนในสังคมได้เป็นปกติ
“โครงการรีไฟแนนซ์หนี้บัตรเครดิตของธนาคารอิสลาม พิสูจน์ให้เห็นว่า สามารถช่วยกลุ่มคนที่มีปัญหาได้ หลังจากปล่อยสินเชื่อไปแล้ว 1,400 ล้านบาท มีหนี้เสียเกิดน้อยมากอยู่ที่ 1% ของสินเชื่อ และลูกค้าที่รีไฟแนนซ์ หากผ่อนชำระค่างวดตรงเวลา ตลอดเวลา 3 ปี จะกลับมาเป็นลูกหนี้ดี และสามารถใช้บริการทางการเงินตามปกติได้”
อย่างไรก็ตาม โครงการรีไฟแนนซ์หนี้บัตรเครดิตล่าสุดของกระทรวงการคลังแตกต่างออกไป!!!
กระทรวงการคลังกำลังใช้กลไกธนาคารรัฐแย่งลูกหนี้ดีๆ ของตลาดบัตรเครดิตที่มีหนี้ดีอยู่ทั้งสิ้น 11.6 ล้านบัตร โดยไม่คำนึงว่า ผลกระทบในอนาคตอาจจะทำให้ลูกหนี้เสียวินัยทางการเงิน และรัฐบาลเองเสียวินัยทางการคลัง
ส่งผลให้เกิดความไม่พอใจในแวดวงการเงิน การธนาคาร รวมถึง จากนักวิชาการ รวมถึงผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ที่ออกโรงเตือนสติต่อมาตรการล่าสุดนี้!
เปิดเกณฑ์รีไฟแนนซ์ในฝัน
เมื่อฝุ่นเริ่มจางโครงการปรับโครงสร้างหนี้ (รีไฟแนนซ์) บัตรเครดิตของกระทรวงการคลังเริ่มมีความชัดเจนขึ้น วงเงินที่กำหนดไว้เบื้องต้น 50,000 ล้านบาท ลดลงมาเหลือ 10,000 ล้านบาท มอบหมายให้ธนาคารของรัฐ 3 แห่ง คือ ธนาคารกรุงไทย 4,500 ล้านบาท ออมสิน 4,500 ล้านบาท และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย 1,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ คุณสมบัติและเงื่อนไขของผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการนั้น กำหนดจะปล่อยวงเงินกู้ให้ไม่เกิน 5 เท่าของเงินเดือน สูงสุดไม่เกินรายละ 300,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 10% ต่อปี กำหนดระยะเวลาการผ่อนชำระ 1-3 ปี
ขณะที่คุณสมบัติผู้กู้ เป็นบุคคลทั่วไปที่เป็นหนี้บัตรเครดิตที่สถานะปกติ ตั้งแต่วันที่ 30 เม.ย. 54 เป็นต้นไป มีเงื่อนไขความสามารถในการชำระหนี้ตามเกณฑ์ของแต่ละธนาคาร
ส่วนเงื่อนไขการปิดบัตรเครดิตทั้งหมด เพื่อแสดงความชัดเจนในเรื่อง “วินัยทางการเงินของลูกหนี้” นั้น จากครั้งแรกที่กำหนดเงื่อนไขว่า จะต้องปิดบัตรเครดิตที่มีทั้งหมด ซึ่งทำให้ลูกหนี้จำนวนมากไม่สามารถเข้าโครงการได้
ในวันแถลงเปิดตัวโครงการรีไฟแนนซ์บัตรเครดิต “กรณ์ จาติกวณิช” รมว.คลัง จึงปรับเกมยอมให้ผู้ถือบัตรเครดิตหลายบัตร เมื่อเข้าโครงการไม่ต้องยกเลิกทั้งหมดให้เหลือไว้ 1 บัตร เพื่อใช้จ่ายปกติ แต่ต่อมาหลังจากการเจรจากันแล้ว แบงก์รัฐที่เข้าโครงการ ยอมเปิดกว้างให้สามารถปิดเฉพาะบัตรที่โอนวงเงินมาเข้าโครงการเท่านั้น
เช่น หากถือบัตรเครดิต 4 บัตร จะปิดเพียง 2 บัตรโอนหนี้เข้าโครงการลดอกเบี้ยเหลือ 10% อีก 2 บัตรยังใช้จ่ายได้ตามปกติ แต่จะมีเงื่อนไขว่าจะมีบัตรเครดิตบัตรใหม่เพิ่มเติมอีกไม่ได้
แย่งลูกหนี้ดีแบงก์-นอนแบงก์ปั่นป่วน
อย่างไรก็ตาม เมื่อตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกของตลาดบัตรเครดิตทั้งระบบ ที่บริษัทศูนย์ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือเครดิตบูโร พบว่า มีบัตรเครดิตดี ที่ไม่มีการค้างชำระ หรือค้างชำระไม่เกิน 30 วันทั้งระบบที่มีสิทธิเข้าร่วมโครงการรีไฟแนนซ์ทั้งสิ้น 11.6 ล้านบัตร คิดเป็นวงเงินสินเชื่อคงค้าง 152,110 ล้านบาท
โดยเมื่อแยกย่อยลงไปถึงรายละเอียดของวงเงิน จำนวนบัตร และสินเชื่อคงค้างแล้วพบว่า บัตรเครดิตที่มีวงเงินต่ำกว่า 50,000 บาท มีจำนวน 5.38 ล้านบัตร มียอดสินเชื่อคงค้าง 46,371 ล้านบาท บัตรเครดิตที่มีวงเงิน 50,001-100,000 บาท มีจำนวนบัตร 3.71 ล้านบัตร มียอดสินเชื่อคงค้าง 54,106 ล้านบาท และบัตรเครดิตที่มีวงเงิน 100,001-300,000 บาท มีจำนวนบัตร 2.54 ล้านบัตร มียอดหนี้ 51,633 ล้านบาท
โดยจากการวิเคราะห์ข้อมูลของผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ พบว่า ยอดหนี้บัตรเครดิตคงค้างกลุ่มที่มีโอกาสเข้าโครงการรีไฟแนนซ์คือ บัตรที่มีวงเงินสินเชื่อ 10,000-100,000 บาท ซึ่งมียอดค้างชำระ 50-100% ของวงเงิน และมีบัตรเครดิตมากกว่า 1 บัตร ซึ่งประเมินแล้วอยู่ที่ประมาณ 1-2 ล้านคน
ขณะที่หากพิจารณาตัวเลขสินเชื่อคงค้างบัตรเครดิตที่มีอยู่ในระบบ 194,000 ล้านบาท ปรากฏว่า กลุ่มผ่อนชำระขั้นต่ำ 10% ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายนั้น มีวงเงินสินเชื่อทั้งสิ้น 90,000 ล้านบาท หรือ 46% ของหนี้คงค้าง
ทั้งนี้ หากประเมินว่า โครงการนี้แบงก์รัฐรับรีไฟแนนซ์เต็มจำนวน 10,000 ล้านบาท จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจบัตรเครดิต 11-12% หรือคิดเป็นรายได้ดอกเบี้ย 9% ของธุรกิจบัตรเครดิต ขณะที่นอนแบงก์ที่ให้บริการบัตรเครดิตอาจได้รับผลกระทบมากกว่า เพราะลูกหนี้เป็นคนที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน
ก่อหนี้เสียแบงก์รัฐ-สกัดกั้นกลไกตลาด
อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบเงื่อนไขไปยังธนาคารรัฐทั้ง 3 แห่งที่เข้าร่วมโครงการ ภายหลังจากที่ รมว.กระทรวงการคลังได้ปรับเกณฑ์เงื่อนไขการปล่อยกู้และเข้าร่วมโครงการรีไฟแนนซ์หนี้บัตรเครดิต
โดยเฉพาะการยกเลิกเกณฑ์ที่บังคับให้ผู้เข้าร่วมโครงการต้องยกเลิกบัตรเครดิตที่ถืออยู่ออกไป ทำให้เกิดคำถามตามมาอีกว่า มาตรการของกระทรวงการคลังต่อการผลักดันโครงการรีไฟแนนซ์หนี้บัตรเครดิตวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของโครงการดังกล่าว เป็นการสร้างกลไกเพื่อเอาใจประชาชน โดยพยายามที่จะบิดเบือนกลไกราคาของตลาดสินเชื่อหรือไม่!!!
เพราะกำหนดอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตและสินเชื่อไว้ในอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ปกตินั้น เป็นเงื่อนไขที่ยอมรับกันตามมาตรฐานสากล ซึ่งเกิดขึ้นตามความเสี่ยงของลูกหนี้ เนื่องจากลูกหนี้บัตรเครดิต เป็นลูกหนี้ที่กู้เงินโดยไม่มีสินทรัพย์ค้ำประกัน ทำให้มีความเสี่ยง และโอกาสที่จะเป็นหนี้เสียมากกว่าลูกหนี้ที่กู้เงินโดยมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน
เมื่อความเสี่ยงสูง ผลตอบแทนต้องสูงขึ้นด้วย ไม่เช่นนั้น ลูกหนี้กลุ่มนี้อาจไม่มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินกู้ในระบบ ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหามากกว่า เพราะต้องหันไปหาหนี้นอกระบบที่ดอกเบี้ยแพงกว่าไม่รู้กี่เท่า
ขณะเดียวกัน อีกจุดที่น่าจับตาของโครงการ คือการกำหนดเงื่อนไข ให้เกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อของธนาคารที่เข้าร่วมโครงการอาจจะต้องมีความเข้มงวดเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันหนี้เสียที่จะเกิดขึ้นกับโครงการ เพราะการคิดดอกเบี้ยเพียง 10% ถือว่าต่ำกว่าในกรณีที่เป็นสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน
เนื่องจากปัจจุบันต้นทุนการเงินอยู่ที่ประมาณ 5% อยู่แล้ว ยังไม่รวมเงินที่ต้องใช้ในการสำรองหนี้เมื่อปล่อยสินเชื่อใหม่อีก 1% ของสินเชื่อที่ปล่อย และกรณีปล่อยไปแล้วเป็นหนี้เสียจะต้องสำรองหนี้ 100% ของวงเงินสินเชื่อ ดังนั้น หากมีหนี้เสียแฝงมาเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ก็เป็นไปได้ที่ธนาคารที่เข้าร่วมโครงการจะประสบปัญหาขาดทุน และการปล่อยสินเชื่อ โดยรับประกัน 100% ว่าในอนาคตจะไม่เกิดปัญหาเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก
นอกจากนี้ ความสุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นอีกในกรณีที่เปิดเงื่อนไขให้ใช้บัตรเครดิตที่เหลือต่อไปได้ และเมื่อผู้เข้าร่วมโครงการยังไม่หยุดก่อหนี้ ถ้าวันหนึ่งมีปัญหาด้านการเงินขึ้นมาอีก คนกลุ่มนี้จะเลือกชำระหนี้หนี้บัตรเครดิตก่อน เพราะเสียดอกเบี้ยถึง 20% ส่วนหนี้รีไฟแนนซ์ดอกเบี้ย 10% อาจหยุดชำระไปก่อนทำให้กลายเป็นหนี้เสียได้
ทั้งหมดนี้ ไม่ใช่ “ทีมเศรษฐกิจ” จะไม่เห็นความพยายาม และความจริงใจของรัฐบาล และ รมว.คลังที่จะช่วยลดภาระค่าครองชีพของประชาชน แต่การออกมาตรการใดๆต้องคิดคำนวณ และดูข้อมูลอย่างรอบคอบ
เพราะนอกเหนือจากผลสัมฤทธิ์ที่ต้องการแล้ว จะต้องคำนึงถึง การสร้างบรรทัดฐานของนโยบาย มาตรฐานของระบบการเงินรวมถึง กลไกตลาดที่มีอยู่ด้วยไม่เช่นนั้นมาตรการที่ออกมาอาจจะไม่คุ้มค่ากับข้อครหา 2 มาตรฐานในระบบการเงิน!!!

ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
โครงการรีไฟแนนซ์บัตรเครดิต และสินเชื่อบุคคลของธนาคารรัฐ ตามนโยบายของรัฐบาลเท่าที่พิจารณาวงเงินสินเชื่อในขณะนี้ที่รัฐบาลออกมาถือว่าเป็นเงินไม่มากเมื่อเทียบกับสินเชื่อบัตรเครดิตทั้งระบบและเป็นโครงการระยะสั้นที่ออกมาในช่วงที่มีการหาเสียงเลือกตั้ง ผลกระทบอาจจะยังไม่มาก อย่างไรก็ตามเพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ธนาคารรัฐ ซึ่งเป็นผู้ออกนโยบายเองก็ต้องพิจารณาเงื่อนไขในการรีไฟแนนซ์ให้ชัดเจนด้วยว่า โครงการดังกล่าวสามารถที่จะแยกแยะให้ลูกหนี้ที่เข้าในโครงการเป็นลูกหนี้ที่ดีและพร้อมที่จะชำระหนี้ได้ต่อเนื่องจริงๆ ได้อย่างไร
เพราะการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกหนี้ที่ดี ที่ชำระเงินแน่นอนนั้น อัตราดอกเบี้ยที่คุ้มทุนอยู่ที่ 5-6% เท่านั้น ขณะที่การปล่อยสินเชื่อกับลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงที่จะไม่ชำระหนี้ ความเสี่ยงอยู่ที่ 100% ต้องดูว่าการรีไฟแนนซ์จะคุ้มทุนอยู่ที่เท่าไร ดังนั้น ถ้าโครงการดังกล่าวทั้งการรีไฟแนนซ์ บัตรเครดิต หรือไปถึงสินเชื่อบุคคล สามารถแยกให้เข้าเฉพาะลูกหนี้ที่ดีได้จริง ไม่มีหนี้เสียเกิดขึ้น อัตราดอกเบี้ย 10% ก็ได้กำไร แต่ถ้าแยกไม่ดีมีหนี้เสียเข้าไปมากก็มีโอกาสขาดทุน ซึ่งเรื่องนี้ ธปท.ก็มีความเป็นห่วงต้นทุนที่เกิดขึ้นว่า ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบต้นทุนเหล่านี้เพราะเป็นโครงการของรัฐ
“เชื่อว่าทุกคนก็เป็นห่วงเพราะเกี่ยวกับเงินของประชาชนทั้งประเทศ อย่างที่ผมเคยพูดไว้ว่า ระบบการเงินไทยจะมีช่องว่างไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งรัฐบาลแทรกแซงได้บ้าง แต่ก็ต้องดูในเรื่องวินัยการเงินของประชาชน ไม่ให้คนเสียวินัยทางการเงิน ไม่ใช่ว่าเป็นหนี้แล้วไม่ต้องจ่าย หรือก่อหนี้มากแต่จ่ายน้อย เพราะรอรัฐบาลช่วย ขณะเดียวกัน ต้องระมัดระวังวินัยทางการคลังด้วยว่า โครงการที่ทำต่างๆ ไม่เป็นภาระหรือสร้างความเสียหายต่อวินัยการคลังด้วย”

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการ ผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
โครงการที่กระทรวงการคลังออกมาในช่วงนี้ น่าจะเป็นเพียงมาตรการระยะสั้น ส่วนจะเป็นมาตรการระยะยาวหรือไม่ คงต้องรอหลัง วันที่ 3 ก.ค.ไปแล้ว เมื่อได้รัฐบาลใหม่เข้ามาว่า จะมีการดำเนินนโยบายต่อเนื่องหรือไม่ อย่างไร
อย่างไรก็ตาม เรื่องการนำสินค้า หรือผลิตภัณฑ์ทางการเงินมาลดราคานั้น จะต้องมีเรื่องของต้นทุนเข้ามาเกี่ยวข้อง การให้แบงก์รัฐเข้ามาดำเนินการ คนที่แบกรับต้นทุนก็คือ ประชาชน เพราะต้องนำเงินภาษีอากรมาใช้ชดเชยรายได้ให้กับแบงก์รัฐ ส่วนธนาคารพาณิชย์นั้น หากจะดำเนินการในลักษณะเดียวกัน ก็ต้องตอบผู้ถือหุ้นให้ได้ว่า มีความจำเป็นอย่างไรจึงต้องลดราคาสินค้า เพราะเป็นการกระทำที่ไม่คุ้มกับการลงทุน
“ผมเข้าใจที่เจ้ากระทรวงออกมาทำโครงการเหล่านี้ เพราะเป็นช่วงของการหาเสียงเลือกตั้ง ทำให้สามารถชี้แจงกับประชาชนได้ว่า เมื่อมานั่งเป็นเจ้ากระทรวงสามารถที่จะทำโครงการเหล่านี้ออกมาเพื่อช่วยเหลือประชาชน เพื่อให้ประชาชนเห็นผลงานเป็นการซื้อใจให้มาเลือกตั้ง”
สำหรับผลกระทบต่อระบบสถาบันการเงินนั้น ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินได้เพราะยังเร็วเกินไปที่จะประเมิน ส่วนนโยบายที่ให้ฟรีค่าธรรมเนียมการกดเอทีเอ็มระหว่างกันของธนาคารรัฐ 3 แห่ง คือ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารอิสลาม นั้นเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ แต่คงต้องพิจารณาถึงต้นทุนที่ธนาคารรัฐต้องใช้ด้วย ไม่ใช่จะไม่มีต้นทุน

ผู้อำนวยการศูนย์เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
การรีไฟแนนซ์บัตรเครดิต เป็นแนวคิดที่แปลกประหลาด เพราะตามหลักการดำเนินนโยบายของรัฐบาลจะต้องระมัดระวังไม่ให้ผิดหลักการค้าเสรี จรรโลงไว้ซึ่งการแข่งขัน และต้องสร้างความเป็นธรรมในการประกอบธุรกิจให้กับทุกฝ่าย แต่นโยบายการรีไฟแนนซ์บัตรเครดิตครั้งนี้เป็นการไปแย่งลูกค้าชั้นดีของธนาคารพาณิชย์อื่นให้มาเป็นลูกค้าของธนาคารในกำกับดูแลของรัฐ ซึ่งผิดหลักการ ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐ
ทั้งนี้ การนำเงินภาษีของประชาชน หรือแม้กระทั่งเงินที่ธนาคารพาณิชย์จ่ายภาษีเข้ารัฐมาอุดหนุนธนาคารคู่แข่งให้ได้ประโยชน์ เป็นเรื่องไม่เหมาะสม แม้จะอ้างว่าไม่ได้ใช้ภาษีอุดหนุนโดยตรง แต่รายได้เข้ารัฐก็ลดลงก็ไม่ต่างกัน
“การนำเงินภาษี หรือเงินที่รัฐควรจะได้มาอุดหนุนให้คนบางกลุ่มได้ประโยชน์ เป็นการ “ได้กระจุก แต่เสียกระจาย” เพราะเงินส่วนนั้นควรจะนำไปใช้ประโยชน์ในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้กับประเทศ เช่นการสร้างถนน สร้างแหล่งน้ำ สร้างรถไฟฟ้าเพื่อให้คนทั่วประเทศได้ประโยชน์เท่าเทียม ไม่ใช่เพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง” นอกจากนี้ ยังเป็นการบั่นทอนให้ธนาคารของรัฐอ่อนแอ เป็น
ลูกแหง่ไม่ยอมพัฒนาตัวเอง คอยแต่ใช้เงินซื้อความได้เปรียบ ทั้งที่ธนาคารเอกชนพัฒนาตัวเอง ดูแลรักษาฐานลูกค้า มีการประสานกับทางร้านค้าใช้บัตรเครดิต จ่ายเงินค่าน้ำค่าไฟได้ เติมน้ำมันได้ แต่บัตรเครดิตของธนาคารในกำกับของรัฐกลับไม่มีใครรับ เพราะไม่พัฒนาตัวเอง
“การที่รัฐปล่อยให้มีการใช้เงินซื้อความได้เปรียบในการแข่งขันถือเป็นรากเหง้าของการคอรัปชัน ทำให้ไม่มีการพัฒนาศักยภาพในการแข่งขัน ขาดการวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ที่สุดแล้วศักยภาพในการแข่งขันจะหมดไป”
ทีมเศรษฐกิจ